ประเทศไทยที่เป็นจุดหมายในการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกมีอันต้องสะดุดลงและบางรายต้องขาดสภาพคล่องจากการระบาดของโรค COVID-19
จากค่าห้องพักเฉลี่ยต่อห้องพักที่ขายได้ (RevPAR) ของธุรกิจโรงแรมไทยที่ปรับตัวลดลง 55-65% ในปี 2020 โดยการวิเคราะห์ของ EIC SCB คาดว่าจะทำให้โรงแรมเกือบทุกแห่งประสบกับภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานได้
แล้วจะมี “ทางเลือก- ทางรอด” ไหนบ้างที่กลุ่มธุรกิจโรงแรม รายเล็ก-รายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบสามารถทำได้ในช่วงเวลานี้จนกว่าจะควบคุม COVID-19 ได้เป็นที่เรียบร้อย
กลยุทธ์สู้โควิด
จากวิกฤตที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการโรงแรมต่างเลือกใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่มีเป็นหลักแล้วนำมาต่อยอดสร้างรายได้
“ลดต้นทุน-สร้างรายได้ใหม่” เป็นอีกแนวทางที่ทำได้ทันที โดย อเล็กซ์ ซิเกด้า รองประธานฝ่ายบริหารสินทรัพย์ หน่วยธุรกิจบริการที่ปรึกษาด้านโรงแรมของเจแอลแอล กล่าวว่า นอกเหนือจากเหตุผลด้านความปลอดภัยแล้ว การปิดโรงแรมชั่วคราวในภาวะที่ความต้องการใช้บริการมีอยู่ในระดับต่ำ ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินการลงได้ อาทิ ค่าจ้างพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค และค่าบำรุงรักษาที่ยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายยังสามารถใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงโรงแรมบางส่วน
กรณีในเครือโรงแรมบางกลุ่ม อาทิ เซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท, ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล และชาเทรียม โฮเต็ล แอนด์ เรซิเดนซ์ ได้เปิดบริการจำหน่ายอาหารแบบเดลิเวอรี่ ผ่านแพล็ตฟอร์มรับจัดส่งอาหาร เช่น LineMan, GrabFood และ Foodpanda ในขณะที่บางโรงแรม อาทิ พูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพ เสนอส่วนลดพิเศษและโปรโมชั่นสำหรับการซื้ออาหารกลับบ้าน
“Work From Hotel” อีกไอเดียที่ถูกนำมาใช้ในช่วงเวลาที่โรงแรมต้องปิดให้บริการ โดยพบว่ามีผู้ประกอบการโรงแรมบางรายใช้โอกาสนี้นำเสนอแพ็กเก็จ Work From Hotel ให้กับผู้ที่อาจสนใจใช้บริการห้องพักราคาพิเศษของโรงแรมใกล้บ้านในช่วงกลางวันสำหรับเป็นสถานที่ทำงานที่มีความเงียบสงบและสะดวกกว่าที่บ้าน
ตัวอย่างเช่น โรงแรม 10 แห่งในเครือแอคคอร์โฮเทลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เสนอบริการให้ใช้ห้องพักในช่วงกลางวันเป็นที่ทำงานสำหรับหนึ่งคนต่อห้อง
ยังมีโรงแรมอื่นๆ ที่ให้บริการลักษณะคล้ายกันนี้ อาทิ พูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพ โคโคเทล กรุงเทพ สุขุมวิท 50 และที 2 เรสซิเดนซ์ สาทร ค่าบริการห้องพักช่วงกลางวันอยู่ระหว่าง 450-4,500 บาทต่อห้องต่อวัน ขึ้นอยู่กับระดับของโรงแรม และประเภทห้องพัก
“โรงพยาบาลสนาม” เป็นอีกรูปแบบบริการที่เกิดขึ้นในช่วง โควิด-19 โดยมีโรงแรมจำนวนมากที่เสนอตัวเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยจากโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง แต่ด้วยข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่มีรายละเอียดมากเกี่ยวกับคุณสมบัติของโรงแรมที่จะสามารถใช้เป็นโรงพยาบาลสนามได้ ทั้งนี้มีโรงแรมเพียงสองแห่งที่ผ่านการคัดเลือก คือ โรงแรมปริ๊นสตัน และโรงแรมพาลาสโซ โดยโรงแรมสนามเหล่านี้จะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงและได้รับค่าตอบแทนโดยตรงจากภาครัฐฯ
อีกไอเดีย พบว่ามีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งที่เสนอโรงแรมให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้เป็นสถานที่กักตัวสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับเข้ามาจากต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการจะได้รับรายได้จากค่าที่พักและ/หรือค่าบริการอาหาร แม้จะเป็นกลยุทธ์ที่จะสามารถสร้างรายได้ที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกโรงแรมที่เสนอตัวจะผ่านการคัดเลือกที่มีกฎเกณฑ์สูง นอกจากนี้ บางโรงแรมที่มีคุณสมบัติ อาจยังต้องพบกับการต่อต้านจากชุมชนใกล้เคียง
จากหลายกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการโรงแรมเลือกใช้ในภาวะวิกฤตนี้ ปิตินุช ภู่พัฒน์วิบูลย์ รอบบินส์ รองประธานอาวุโสฝ่ายที่ปรึกษา หน่วยธุรกิจบริการที่ปรึกษาด้านโรงแรมของเจแอลแอล กล่าวว่า คงต้องรอดูต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ส่วนกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่ให้ผลสำเร็จได้จริง อาจเป็นกลยุทธ์ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมได้ต่อไปในระยะยาว ไม่เฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 นี้เท่านั้น
“เพิ่ม-ลด-ชะลอ” 3 วิธีรับมือช่วงโควิด-19
บทวิเคราะห์โดย EIC SCB มองว่าธุรกิจโรงแรมควรปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจหลังจากที่เหตุการณ์การระบาดของโรค COVID-19 บรรเทาลง โดยเฉพาะในแง่การกระจายรายได้ เพื่อให้ธุรกิจมีการดำเนินงานที่ยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ดังนี้
1.การสร้างรายได้และสภาพคล่องจากการบริการที่มีอยู่ในโรงแรม เช่น การลดค่าห้องพักลงอย่างมากเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย การสร้างรายได้จากส่วนบริการอื่น ๆ ภายในโรงแรม (non-room revenue) เช่น การให้บริการอาหารแบบ food delivery และ catering แก่องค์กรภายนอก รวมถึงการให้บริการอาหารแบบสั่งกลับบ้าน และบริการ Food Delivery
ในส่วนของห้องพัก สามารถให้บริการห้องพักและบริการอื่น ๆ ที่จำเป็นแก่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการแยกอยู่อาศัยจากครอบครัวเพื่อกักกันโรคโดยคิดค่าห้องพักเป็นรายสัปดาห์ และการให้บริการห้องพักแก่ผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงตามโครงการของกระทรวงสาธารณสุข
2..การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การปิดพื้นที่ให้บริการบางส่วนหรือหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานต่าง ๆ
3.การชะลอค่าใช้จ่ายบางประเภทออกไป เช่น การยกเลิกการจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอก การเจรจาขอยืดเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์
แนวทางการรับมือที่โรงแรมหลายแห่งเลือกใช้นั้นมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การรักษาสภาพคล่องและสภาพการดำเนินงานของธุรกิจเอาไว้ให้ได้เพื่อรอเวลาที่ โควิด-19 จบลง และสถานการณ์เศรษฐกิจและจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ในข้อดีอีกด้านจากบรรดาไอเดียหรือกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตนี้อาจพลิกเป็นโอกาสสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้กับธุรกิจได้ในอนาคต
ขอบคุณภาพ
www.pixabay.com