ฤดูฝุ่นเพิ่งจะผ่านพ้นไป กรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่ที่เปราะบางกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง จะยังพอมีทางออกอยู่หรือไม่?
Concrete Jungle of the East
หาก New York ได้รับสมญานามว่าเป็น Concrete Jungle กรุงเทพมหานครก็คงเป็นเป็นคู่แข่งสำคัญอีกรายหนึ่งในนาม Concrete Jungle of the East คำๆนี้เป็นการนิยามชื่อเล่นของเมืองได้อย่างตรงตัว และแสดงออกถึงภาพลักษณ์ของเมืองนั้น “ป่าคอนกรีต” แท้จริงแล้วดูจะเป็นการดีสำหรับเมืองที่ได้รับการนิยามโดยคำนี้เพราะมักสื่อความหมายถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมืองอย่างเข้มข้น ความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ หรือแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ แต่ถึงกระนั้น คุณภาพชีวิตของคนในป่าคอนกรีตแต่ละแห่งก็มักจะแตกต่างกันออกไปตามปัจจัยสนับสนุนการดำรงชีวิต โดยครั้งนี้จะเป็นการกล่าวถึงประเด็นเรื่องพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะภายในเมือง
จากสถานการณ์อุณหภูมิสูงสุดในช่วงฤดูร้อนที่พร้อมสร้างสถิติใหม่ทุกปี มาจนถึงวิกฤตการณ์กรุงเทพฯคลุกฝุ่นตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมในเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ทุเลาความรุนแรงลงได้บ้าง เช่น การกรองมลพิษ และสร้างเสริมสุขภาพกายและจิตให้กับคนเมือง
แล้วเรามีพื้นที่สีเขียวมากแค่ไหน?
หากจะต้องนิยามพื้นที่สีเขียวในเมืองให้เข้าใจได้โดยง่ายก็คือ พื้นที่ใดในเมืองก็ตามที่ปกคลุมด้วยต้นไม้หรือพันธุ์พืช แบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามงานวิจัยมาตรการในการเพิ่มและจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนอย่างยั่งยืน โดยศูนย์วิจัยป่าไม้ (2547) ได้แก่ พื้นที่ธรรมชาติ พื้นที่สีเขียวเพื่อบริการ พื้นที่สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียวริมทางสัญจร และพื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจชุมชน ทั้งนี้ หน่วยงานหรือองค์กรหลายแห่งได้กำหนดมาตรฐานเกณฑ์ของพื้นที่สีเขียวในเมือง เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวในเมืองไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่สำนักผังเมืองกทม. และ JICA ได้กำหนดมาตรฐานเนื้อที่สวนสาธารณะต่อประชากรไว้ที่ 16 ตารางเมตรต่อคน สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.มีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะ สวนหย่อม รวม 8,081 แห่ง พื้นที่ 23,905 ไร่ 3 งาน 31.74 ตารางวา (38,249,326.95 ตารางเมตร) อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 6.73 ตารางเมตรต่อคน คิดเป็นร้อยละ 2.44 ต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ข้อมูลข้างต้นเราจะเห็นว่า พื้นที่สีเขียวของเรายังคงน้อยกว่ามาตรฐานสากลที่ WHO กำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคนอยู่พอสมควร เปรียบเทียบง่ายๆ คือ “บ้านหลังใหญ่หลังนี้ของเรายังขาดแคลนเครื่องฟอกอากาศอีกอย่างน้อย 3 เครื่อง เพื่อให้บ้านเย็นลง และสมาชิกในครอบครัวหายใจได้อย่างสะดวก” และแน่นอนว่า ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมแขกผู้มาเยี่ยมบ้านซึ่งหมายถึงนักท่องเที่ยวและประชากรแฝงอีกนับล้านคนในกรุงเทพฯ
แต่พื้นที่สีเขียวไม่ได้มีไว้เพียงแค่ฟอกอากาศเท่านั้น ยังคงมีพื้นที่สีเขียวอีกประเภทหนึ่งที่มีไว้สำหรับการพักผ่อนและการทำกิจกรรมนันทนาการ อันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการส่งเสริมให้คนเมืองมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดียิ่งขึ้น นั่นคือ พื้นที่สีเขียวเพื่อบริการ จากฐานข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่า สวนสาธารณะหลักและรองซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวประเภทที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพื่อกิจกรรมนันทนาการ และการพักผ่อน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกทม.มีทั้งหมด 98 แห่ง รวมพื้นที่ประมาณ 4,011 ไร่ คิดเป็น 6,418,301.32 ตารางเมตร หรือประมาณ 6.42 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าพื้นที่เขตบางกอกใหญ่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แสดงว่า เรามีพื้นที่สาธารณะสำหรับให้ทุกคนมาออกกำลังกาย ทำกิจกรรม พบปะพูดคุย พักผ่อนหย่อนใจเพียงแค่ร้อยละ 0.41 ของพื้นที่กรุงเทพฯ คิดเป็น 1.13 ตารางเมตรต่อคน หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ หากให้ชาวกรุงเทพฯที่มีชื่อตามทะเบียนราษฎร์ ออกมาทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่สวนสาธารณะ เราอาจทำได้เพียงแค่ยื่นมือแตะไหล่คนข้างหน้าเท่านั้น
ปัญหาข้างต้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนเมืองอีกต่อไป เมื่องานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า พื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะของเมืองไม่เพียงแต่การช่วยระบายความร้อนให้กับเมืองเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับการเดินเท้าและปั่นจักรยาน เป็นพื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย สร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการพักผ่อนหย่อนใจ และยังพบอีกว่า การขาดพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย โครงข่ายการเดินเท้าที่ย่ำแย่ และการขาดการเข้าถึงพื้นที่นันทนาการ เป็นสาเหตุการตายของประชากรโลกร้อยละ 3.3 แสดงว่า หากกรุงเทพฯมีประชากร 6 ล้านคน 198,000 คน จะเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าว
แล้วเรายังพอจะมีทางออกอยู่หรือไม่?
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยการเติบโตของเมืองแห่งนี้ในทุกด้านมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี การลงทุนพื้นที่สำหรับพาณิชยกรรมหรือที่อยู่อาศัยย่อมสร้างผลกำไรได้ดีกว่าการสร้างพื้นที่สีเขียว การเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองอย่างรวดเร็วทำให้การหาพื้นที่เพื่อสร้างสวนหรืออุทยานขนาดใหญ่กลางเมืองแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มต้นไม้ริมถนน สวนหย่อม สวนสาธารณะ สวนแนวตั้ง สวนบนหลังคา หรือจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่หรือโครงสร้างทิ้งร้างในเมืองให้เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งได้
เริ่มต้นขึ้นแล้วในหลายเมืองของต่างประเทศ เช่น
กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสกับโครงการ Viaduc des Arts ที่ได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางรถไฟเก่าสาย Paris-Bastille – Vincennes ให้กลายเป็นแกลเลอรี่ ร้านอาหาร และเป็นย่านงานศิลปะคราฟต์ขึ้นชื่อของเมือง โดยที่โครงสร้างทางรถไฟด้านบนระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถูกปรับเป็นสวนสาธารณะ
นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้ปรับปรุงโครงสร้างทางรถไฟฟ้ากลางเมืองที่ถูกทิ้งรางระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ให้เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่ชื่อว่า High Line ซึ่งพบว่า หลังจากการเปิดใช้งานของสวนลอยฟ้าแห่งนี้ ส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์ในบริเวณใกล้เคียงมีมูลค่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการเพิ่มพื้นที่สวนหลังคาบนอาคารอีกหลายแห่งที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับเมือง ช่วยซึมซับน้ำฝนได้กว่า 7 ล้านแกลลอน ลดอุณหภูมิ และลดการใช้พลังงานของเมือง
https://zinco-greenroof.com/references/high-line-park-new-york-city
กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ กับ Seoullo 7017 โครงการปรับโครงสร้างทางด่วนเดิมให้เป็นสวนลอยฟ้าลักษณะเดียวกับ High Line ในนครนิวยอร์ก ด้วยความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร โดยในอนาคตจะมีการใช้สวนลอยฟ้าแห่งนี้เป็นสถานอนุบาลต้นไม้เพื่อเตรียมย้ายไปปลูกในพื้นที่อื่นต่อไป
https://www.asiaone.com/asia/expat-plunges-death-seoul-overpass-turned-park
เมื่อมองกลับมาที่เมืองหลวงของเราอย่างกรุงเทพฯ กับโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ คือ “พระปกเกล้าสกายพาร์ค” หรือที่เรียกติดปากกันว่า “สะพานด้วน” จากเดิมที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินในอดีตที่ถูกยกเลิกไป ทำให้สะพานแห่งนี้ถูกทิ้งร้างร่วม 30 ปี โดยการฟื้นคืนชีพสะพานที่ยังมีโครงสร้างแข็งแรงแห่งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักผังเมืองกทม. กรมทางหลวงชนบท และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) โดยปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานให้เป็นทั้งพื้นที่ทำกิจกรรม พื้นที่สำหรับพักผ่อน และโครงข่ายพื้นที่สีเขียวเชื่อม 2 สวนสาธารณะริมสองฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยกัน และนับเป็นโครงการทางเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเป็นลำดับแรก ถึงแม้ว่าจะพระปกเกล้าสกายพาร์ค จะไม่ใช่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ และมีความยาวเพียง 280 เมตร แต่ถือเป็นต้นแบบของการปรับปรุงพื้นที่รกร้างของเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนได้เป็นอย่างดี
ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)