ความเห็นที่มีทั้งระหว่าง “ปิดเมือง” หรือ “เปิดเมือง” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมาในช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 มีออกมาจากผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน หนึ่งมุมมองที่น่าสนใจและต้องรับฟังเป็นมุมมองจากนักออกแบบเมือง ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่เกิดขึ้นทันที่โควิด-19 แจ้งเกิด และปิดฉากลง
อนาคตชีวิตคนเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร
หากเมืองยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน คาดการณ์ว่าอนาคตชีวิตคนเมืองจะเปลี่ยนไปและจะเกิดความปกติใหม่ (New normal) อย่างไรบ้าง
จากข้อค้นพบของงานวิจัยของคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ว่า การปิดเมืองนั้นมีราคาแพง ทั้งระดับสังคมและระดับปัจเจก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำงานจากบ้าน (work from home) ได้ หรือแม้ว่าจะมีการทำงานในแบบ work from home แต่จะเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดจากการกักตัวอยู่ในบริเวณบ้าน เช่น ความเครียด ความรุนแรงในครอบครัว
ความหนาแน่นมาพร้อมความเสี่ยง
เมืองที่ดีต้องมีความหนาแน่นเพราะประหยัดลงทุนสาธารณูปโภค เพราะประหยัดเวลาและค่าเดินทาง เพราะความหนาแน่นนำมาซึ่งการปะทะสังสรรค์ หรือ ความมีชีวิตชีวา (Vitality) ซึ่งล้วนส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจและสังคมของเมือง ดังนั้น เมืองที่ดีต้องมีความหนาแน่นสูง
ไม่ใช่เฉพาะไวรัส แต่กับทุกภัยพิบัติ ไม่ว่าการก่อการร้ายหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ ยิ่งหนาแน่น ก็ยิ่งจัดการยาก ยิ่งสร้างความเสียหายสูง ในเมื่อ Proximity หรือระยะห่างระหว่างคน มีผลต่อการแพร่ระบาดของโรค เมื่อไวรัสมาถึงเมือง เมืองก็จะกลายเป็น Virus playground แค่ไอจาม 1-3 เมตรก็ติดแล้ว โดยเฉพาะโรคที่ติดต่อทางอากาศ
เมืองต้องเชื่อมโยง เพราะการเชื่อมโยงคือโอกาส การเชื่อมโยงนำพาโอกาสเศรษฐกิจและสังคมมาสู่เมือง เมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อ อย่างเช่น Global city จะกลายเป็นศูนย์กลางของการค้า การท่องเที่ยว การอพยพ กลายเป็นศูนย์รวมของผู้คน ทุน ทรัพยากร และความมั่งคั่ง
ในอีกด้านหนึ่ง High return ก็มี High risk เช่นเดียวความหนาแน่น ยิ่งเชื่อมต่อมาก ก็ยิ่งเสี่ยงมาก ดูอย่างเมืองอู่ฮั่น นิวยอร์ก มิลาน เหล่านี้คือ Global city คนผ่านเข้าออกจำนวนมาก Tianne Airport เชื่อมโยงเป้าหมายการเดินทางกว่า 94 แห่งใน 19 ประเทศ และมีเที่ยวบินภายในประเทศกว่า 65 เที่ยวบิน เมื่อเกิดการติดเชื้อก็แพร่กระจายอย่างที่เห็น
อย่างไรก็ตาม เมืองหลังโควิดยังต้องมีความหนาแน่นต่อไป แต่คำถามคือ เมืองควรมีความหนาแน่นอย่างไร เชื่อมต่ออย่างไร และเกณฑ์และมาตรฐานใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้เป็นอย่างไร
เมื่อโควิด-19 ท้าทายแนวคิดเมืองที่ดี
จากนี้ไป เมืองคงต้องมีคุณลักษณะ 2 ประการ คือ ในเวลาเปิดเมือง เมืองต้องมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส และในเวลาเกิดโรคระบาด การปิดเมืองก็ต้องไม่ให้คนและเศรษฐกิจบอบช้ำ นั่นคือเมืองต้องปรับให้มีความยืดหยุ่น แข็งแรง และ ฟื้นเร็ว (Resilience)
ฉายภาพอนาคตที่เป็นไปได้ของชีวิตคนเมืองใน 4 ด้าน บทฉากทัศน์ที่การระบาดนี้ลากยาว Confinement เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อม และการ Work from home กลายเป็น New norm
การอยู่อาศัย
Housing model จะเปลี่ยน โดยเปลี่ยนใน 2 รูปแบบ ในรูปแบบแรก บ้านอาจจะมาแทนที่อาคารชุด เพราะบางคนอาจจะกลัวการอยู่ร่วมกับคนอื่นแบบ High density ที่ต้องใช้ลิฟต์ ใช้สิ่งต่างๆร่วมกับคนอื่น รวมทั้งการ Work from home ทำให้เราเข้าที่ทำงานนานๆครั้ง ดังนั้น ทางเลือกของกลุ่มนี้ก็จะเลือกบ้านที่มีบริเวณ พอหายใจหายคอได้ในช่วง Confinement แถมราคาที่อยู่อาศัยชานเมืองก็ถูกกว่า
ส่วนรูปแบบที่สอง ผู้ที่ยังจะเลือกอยู่ในอาคารชุดในเมือง แต่มองหาห้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ขนาด 24 ตารางเมตรที่เอาไว้นอนอย่างเดียว เปิดประตูสะดุดเตียงแล้วหลับเลยนั้น คงไม่น่าซื้ออีกต่อไป เพราะคนจะใช้ชีวิตเกือบ 24 ชั่วโมงในบ้าน พื้นที่ส่วนกลางของอาคารชุดก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สนับสนุนการอยู่บ้านยาวของลูกบ้านได้ Function เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพคงต้องกลายเป็น Option
การออกแบบผังบ้าน อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากที่คุณหมอรณรงค์ให้ล้างมือ คุณหมอบางท่านถึงขนาดแนะนำให้ถอดเสื้ออาบน้ำก่อนเข้าบ้าน ซึ่งสำหรับบ้านเรือนไทยสมัยก่อนนั้นอาจจะทำได้ แต่บ้านสมัยใหม่คงเป็นเรื่องยาก การเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 อาจต้องเริ่มกลับมาคิดถึงการย้ายห้องอาบน้ำ ติดตั้ง อ่างล่างมือมาไว้หน้าบ้านกันแล้ว
นอกจากนี้ บ้านในอนาคตต้องมีพื้นที่ทำครัวที่สามารถประกอบอาหารได้จริง เพราะช่วงกักตัว ผู้คนจะออกไปซื้ออาหารทานกันยากขึ้น ระบบพลังงานก็น่าจะเปลี่ยน ทำงานอยู่บ้านค่าไฟฟ้าแพงขึ้นมาก เป็นภาระใหม่ของคนเมือง ระบบพลังงานทางเลือกหรือแบบประเทศอื่นที่มีบริษัทผลิตไฟฟ้าราคาต่างๆ หรือแต่ละบ้านจำเป็นต้องมีพาวเวอร์แบงก์สามัญประจำบ้าน เป็น Storage ทำหน้าที่เก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ หรือที่เหลือจากการใช้งาน ให้สามารถใช้ได้ในยามที่ไม่มีแสงอาทิตย์ หรือใช้ในช่วงเวลาที่ค่าไฟแพงกว่าปกติ (peak hour)
การเดินทาง
หากการระบาดลากยาว ส่งผลให้คนคงกลัวในการอยู่ชิดๆกับคนอื่น แน่นอนว่าเป็นสภาพการณ์ของการใช้ขนส่งสาธารณะไม่ว่าเมืองไหน ดังนั้น การปรับเปลี่ยนน่าจะเกิดใน 2 รูปแบบ
ในรูปแบบแรกคือทางเลือกในการเคลื่อนที่จะเพิ่มมากขึ้น Micromobility จะมา Micromobility คือยานพาหนะที่มีความเร็วไม่เกิน 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะทางไม่เกิน 10 กิโลเมตร เช่น จักรยาน สกู้ตเตอร์ และที่สำคัญ การเดิน จะต้องกลายเป็นวาระสำคัญของเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน Silver lining ของสถานการณ์นี้คือโอกาสทองในการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ถนน จากที่แต่ก่อน 90% ของเขตทางต้องอุทิศให้กับรถยนต์ (สำหรับกทม.) แต่ในช่วงของการปิดเมืองก็เห็นแล้วว่า “ถนนทั้งโลก” ว่างเปล่า แทบไม่ได้ใช้ ดังนั้น ต้องมีการออกแบบวางผังเพื่อแบ่งปันเขตทางให้ Micromobility ต่างๆด้วย ทางเท้าต้องขยาย ต้องเชื่อมต่อ ให้คนเดินได้เดินดี ไม่มีช่วงเวลาไหนแล้วที่จะเหมาะสมในการทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
สำหรับคนที่บ้านไกลไม่มีรถยนต์ส่วนตัวและยังต้องใช้รถเมล์ การจัดเวลา Rush hour ให้เหลื่อมกันมีความจำเป็นมากขึ้น โดยหันมาใช้ Application เกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะ มีการเพิ่ม Function การจองที่นั่งที่ยืนของรถเมล์ ข้อมูลเหล่านี้ก็จะนำไปวางแผนจัดการต่อยอดได้อีกมาก การออกแบบป้ายรถที่นอกจากจัดที่นั่งให้ห่างๆกัน การติดตั้งอ่างล้างมือ หรือ ที่กดเจลล้างมือ
การทำงาน
เมื่อ Work from home กลายเป็น New norm แน่นอนว่าบ้านต้องปรับเปลี่ยนเป็นที่ทำงานโดยปริยายดังที่ได้กล่าวข้างต้น
ในปี 2558 UddC (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) เคยทำภาพอนาคตเมืองในโครงการกรุงเทพฯ250 (bangkok250.org) ซึ่ง Office space จะหดตัวลงในอนาคต สาเหตุมาจากงานรูปแบบใหม่และคุณค่าใหม่ที่คนนิยมงานอิสระมากขึ้นและทำงานที่ไหนก็ได้ ซึ่ง COVID-19 มาเป็นตัวเร่งให้ภาพนั้นมาถึงเร็วขึ้น
นอกจาก Office space จะหดตัวลงแล้ว ตำแหน่งงานบางอย่างใน Office น่าจะกลายเป็น Outsource มากขึ้น ซึ่งที่จริงก็มีธุรกิจบางแห่งมีเฉพาะบุคลากรที่เป็น Core Business ของตัวเองเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะ Outsource ทั้งหมด
สำหรับการออกแบบผังสำนักงาน รูปแบบผังเปิดโล่ง หรือ Open plan น่าจะต้องมีการปรับ ระยะห่างต้องมากขึ้น Partition อาจจะเป็นสิ่งจำเป็น
Co-working space ที่เป็น Sharing economy มีการสัมผัสน่าจะได้รับผลกระทบพอสมควรและต้องปรับเปลี่ยน เนื่องจากคนจะกลัวการใช้พื้นที่ร่วมกับคนอื่น อาจจะต้องมี Service อื่น ๆ เข้ามาเสริม เช่น Virtual Office หรือรับงาน Outsource อะไรออกไปบางส่วน เพื่อช่วยลดปริมาณคนที่เข้ามากัน ธุรกิจที่คิดว่าน่าจะดีมากขึ้น คงเป็น On Cloud ทั้งหลาย ที่มี Service อะไรก็ตามให้บน Cloud
การจับจ่าย
ตลาดออนไลน์กลายเป็น Marketplace ที่คนใช้จับจ่ายกันหนักมากในช่วงที่ผ่านมา Marketplace ในอดีตที่จะหวนกลับมาคือ ตลาดในย่านละแวก เพื่อให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีทางเลือกในการจับจ่ายช่วง Confinement และที่สำคัญ ผู้ค้ารายย่อย คนเล็กคนน้อย ต้องมีที่ทางในการทำมาหากิน แผงจะจัดห่างกันมากขึ้น ระบบรักษาความสะอาดต้องดีและเข้มข้น ร้านอาหาร คาเฟ่ อาจจะต้องมีการออกแบบ Partition กั้นเป็นคอก (แบบร้านราเมงข้อสอบ Ichiran) หรือบางร้าน อาจจะปรับหน้าร้านเล็กลง เผื่อเวลาโรคระบาด ปรับเป็น Take away แต่บริเวณโดยรอบ น่าจะมีที่จัดให้คนสามารถนั่งกินได้ ร่มๆเย็นๆ สะอาดๆ ห่างๆกัน เพื่อให้คนมีที่ทางในการออกมาเปลี่ยนบรรยากาศ แทนที่จะซื้อหิวใส่ถุง แล้วไปนั่งทานอย่างอุดอู้ในห้องแคบๆแบบที่เป็นอยู่
บทบาทของย่านในช่วงภัยพิบัติ
สิ่งสำคัญนอกเหนือจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป คือย่านละแวกรอบบ้านของเรา จะกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้ง จากนี้ไป ทุกครั้งที่เกิดโรคระบาด เมืองจะมีขนาดหดเล็กลงเหลือแค่ย่าน รัศมีการใช้ชีวิตเริ่มหดลง ย่านจะกลายเป็นเมือง
ดังนั้น ต้องมีการออกแบบวางผังสภาพแวดล้อมในย่านให้ทุกคนสามารถกักตัวได้โดยไม่เครียด ไม่บ้า ไม่อ้วน ไม่จน
เริ่มเห็นกันแล้วว่า COVID-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำของเมืองปรากฎภาพชัดเจน นอกจาก Digital Divide แล้ว ยังมี Density Divide รวมถึง Rich Density ที่คนรวยกักตัวในบ้าน ทำงานที่บ้าน ทำอาหารทานเอง เล่นโยคะในบ้าน และ Poor Density ที่คนจนไม่แม้แต่จะสามารถจินตนาการถึง Distancing ได้ ทั้งครอบครัวใช้ชีวิตอยู่แบบแออัดในห้องเล็กๆ ภายในชุมชนแออัด
ดังนั้น ตอนนี้คือช่วงเวลาที่สำคัญที่ต้องทบทวนอย่างจริงจัง ให้เกิดการออกแบบวางผังให้ย่านเป็นย่านที่น่าอยู่ ร่มรื่น มีสาธารณูปการเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ทางเท้าและพื้นที่สาธารณะที่ร่มรื่น มีร้านค้า มีตลาด มีแผงลอย มีบริการสาธารณสุข จบครบถ้วนภายในย่าน เพื่อให้ความทุกข์ความสุขมันเฉลี่ยๆกันได้บ้างยามเกิดโรคระบาด
กระจายอำนาจ
การจะทำได้ในแบบที่กล่าวมา ต้องให้อำนาจท้องถิ่น สำหรับ กทม. สำนักงานเขตต้องเป็นผู้เล่นหลัก ต้องให้ทั้งหน้าที่ อำนาจ และงบประมาณ หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนระบบให้มีการเลือกตั้ง Mayor ระดับเขตแบบในมหานครอื่นๆของโลก เพื่อให้เขตยึดโยงกับคนในพื้นที่มากขึ้น หรือแม้กระทั่งออกแบบให้มีหน่วยย่อยเล็กลงกว่าเขต เพราะหากดูในกรณีเมืองในจังหวัดอื่นๆ จะเห็นว่าระดับตำบล หมู่บ้าน เทศบาล อบต. มีบทบาทมากในการจัดการดูแลการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ แตกต่างกับ กทม. ที่ต้องยอมรับว่ายังดูแลได้ไม่ทั่วถึง ช่วงหน้ากากขาดแคลน ผู้คนต้องเดินทางไปถึงกระทรวงพาณิชย์ มันเพิ่มความเสี่ยง แถวบ้านก็เงียบเชียบมาก สำนักงานเขต หรือ สก. สข. ก็แทบไม่มีบทบาทอะไรในการระบาดครั้งนี้ ทั้งๆที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด
ปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการเมืองนี้ ชาว กทม. เคยเห็นมาแล้วตอนน้ำท่วม 2011 ดังนั้น ภัยพิบัติโรคระบาด COVID-19 เป็น Wake up call ที่ปลุกให้ทุกคนได้ตื่นมาเห็นกันชัดๆว่า ผังเมือง ระบบการจัดการเมืองในทุกวันนี้ มีความเหลื่อมล้ำแค่ไหน มีปัญหาอะไรบ้าง
นี่คือช่วงเวลาอันสำคัญของประวัติศาสตร์ อย่างน้อยก็ในเชิงการออกแบบวางผังเมือง ที่ต้องศึกษาหาคำตอบสำหรับคำถามที่ทิ้งไว้ตอนต้น
แต่ที่แน่ๆ การปรับปรุงให้ย่านให้อยู่ได้และน่าอยู่ โดยให้อำนาจในการจัดการท้องถิ่น น่าจะเป็นหนึ่งใน Key สำคัญนับจากนี้
ที่มา
ผู้เขียน : ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ประเด็น “เมืองกับโรคระบาด” ในสำนักข่าว Al Jazeera, รายการ Voice GO ทางวอยซ์ออนไลน์ และรายการ The Secret Sauce: Executive Espresso สำนักข่าวออนไลน์ The Standard
ภาพ : https://pixabay.com/