หลายๆ ท่านคงเคยมีคำถามว่าเมื่อไรที่เราควรจะปรับฮวงจุ้ยของบ้าน สำนักงาน หรือโรงงานใช่หรือไม่ครับไม่ว่าจะเป็นท่านที่ได้เคยจัดปรับฮวงจุ้ยไปแล้ว หรือท่านที่ยังไม่เคยจัดฮวงจุ้ยมาก่อนเลยก็ตาม ท่านก็คงเคยตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้ เพราะอาจมีผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อนฝูง ที่ประสบความสำเร็จที่ได้ทำการจัดปรับฮวงจุ้ยมาก่อนเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่ายังไม่แน่ใจว่าเวลาไหนถึงจะเหมาะสมสำหรับการเริ่มปรับปรุงฮวงจุ้ยดี สำหรับในมุมมองของซินแสนั้นเงื่อนไขของการจัดปรับฮวงจุ้ยนั้นสามารถประเมินได้ใน 3 เหตุการณ์ดังต่อไปนี้
เมื่อท่านได้เข้าไปอยู่ในสถานที่แห่งใหม่ โดยรวมทั้งการที่ซื้อบ้าน ที่ดิน หรืออาคารแห่งใหม่ หรือแม้กระทั่งเป็นสถานที่เก่าที่สร้างอยู่แล้วแต่ท่านเข้าไปอยู่ใหม่ เช่น หากท่านไปซื้อบ้านหรืออาคารสำนักงานมือสอง เพื่อจะเข้าไปอยู่อาศัยหรือทำกิจการ ก็แนะนำให้ท่านทำการจัดปรับฮวงจุ้ยเช่นเดียวกันครับ นั่นก็เป็นเพราะเรามองว่า “บ้านหรืออาคาร” นั้นมีสภาพเป็น“หยิน” คือสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดยตัวเองไม่ได้มีพลังตามธรรมชาติ ลักษณะค่อนข้างไปทางสงบนิ่ง หนักแน่นไม่เคลื่อนไหว ยิ่งหากเป็นบ้าน ที่ดิน หรืออาคารที่ปิดร้างมามากกว่า 2 เดือนขึ้นไปนั่นยิ่งถือว่ามีสภาพความเป็นหยินยิ่งสูง
โดย “บุคคล” นั้นซินแสมองว่าเป็น “หยาง” นั่นก็เพราะเป็นสิ่งมีชีวิต ตัวเองมีพลังงานตามธรรมชาติเคลื่อนไหว กระฉับกระเฉง มีอารมณ์ มีความรู้สึก เมื่อใดที่ “หยาง” จากคนไปสัมผัสกับพลัง “หยิน” จากบ้าน นั่นก็เหมือนกับขั้วแม่เหล็กสองขั้วสปาร์คกัน ทำให้ก่อเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา หาก “บ้าน” นั้นมีพลังที่สอดคล้องกับ“บุคคล” ก็จะทำให้เสริมพลังของคนได้ หากได้ทิศทางที่เหมาะสมทั้งทิศทางที่ปรับดวงชะตา หรือทิศทางที่เป็นทิศดีประจำยุคที่ 8 (สำหรับฮวงจุ้ยในระบบดาวเหินหรือ Xuan Kong Flying Star อยู่ระหว่างปี พ.ศ.2547-2567) ก็ยิ่งจะทำให้คนนั้นเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นไปอีก
ดังนั้น “เคล็ดลับ” ของการจัดฮวงจุ้ยโดยเฉพาะซินแสที่มีความเข้าใจใน “กลไกของพลังงาน” ก็คือการดึงพลังงานธรรมชาติจากภายนอกบ้านหรืออาคารมาเสริมบ้าน จุดที่ต้องการ “พลังหยาง” เช่น ทิศเรื่องโชคลาภ โอกาสทางธุรกิจ ความเจริญก้าวหน้า การแข่งขันก็เสริมด้วยสิ่งของหรือชัยภูมิที่เป็นหยาง เช่น ถนน ช่องลมน้ำตก น้ำล้น หินกลิ้ง เครื่องปรับอากาศ ไฟ เป็นต้น หรือจุดที่ต้องการ “พลังหยิน” เช่น ทิศเรื่องบารมี สุขภาพความสัมพันธ์ ก็เสริมด้วยสิ่งของหรือชัยภูมิที่เป็นหยิน เช่นเนินดิน โต๊ะสนาม ศาลา สวนหิน เฟอร์นิเจอร์หนักใหญ่โดยซินแสก็จะให้ฤกษ์ยามที่เป็นมงคลตั้งแต่การเริ่มตกแต่ง ต่อเติม ซ่อมแซม จนกระทั่งฤกษ์เข้าอยู่อาศัยและฤกษ์ปลีกย่อยเพื่อให้ “หลีกเลี่ยงเคราะห์ภัยและมุ่งหามงคล” ได้ด้วย หากสามารถทำได้ตามหลักการดังกล่าวก็จะทำให้การเข้าอยู่ในบ้าน สำนักงาน หรือโรงงานของท่านนั้นสามารถส่งเสริมท่านให้เจริญรุ่งเรืองได้
หากสภาพของสถานที่นั้นๆ ไม่สวยงาม เสื่อมโทรม นั่นแสดงว่าสถานที่นั้นได้ผ่านการใช้งานมานานในระดับหนึ่งแล้ว โดยรวมถึงสถานที่ที่ท่านได้เคยปรับแต่งฮวงจุ้ยแล้ว หรือแม้แต่สถานที่ที่ยังไม่เคยปรับแต่งฮวงจุ้ยก็ตาม นั่นก็เพราะเมื่อท่านได้ใช้งานฮวงจุ้ยในสถานที่นั้นไปสักพักหนึ่งจะมีปัจจัยอยู่สองอย่างที่ทำให้ความเป็นมงคลน้อยลง อย่างแรกคือเรื่องของคุณภาพของพลังปราณนั่นคือเมื่อชัยภูมิสิ่งแวดล้อมของตัวอาคารเริ่มเสื่อมโทรมก็อาจทำให้เกิดผลเสียในทางฮวงจุ้ยตามมา เช่น เฉลียงหน้าประตูบ้านร้าว ก็ทำให้สะสมพลังของโชคลาภไม่อยู่ลาดจอดรถแตกร้าว หากอ่านว่าอยู่ในมุมที่เกี่ยวพันกับเรื่องใดเรื่องนั้นก็จะเสียหาย หรือมุมบ้านที่มีความเสียหายไม่สวยงามก็สามารถอ่านได้ว่าจะส่งผลกระทบกับบุคคลหรือสมาชิกคนใดภายในบ้านของท่าน
อย่างที่สองคือเรื่องของการรับพลังที่ดีประจำยุคเพราะในศาสตร์ฮวงจุ้ยซินแสมีความเชื่อว่าไม่มีทิศทางใดที่ดีอยู่ตลอดเวลา ในทางกลับกันก็ไม่มีทิศทางใดที่เสื่อมอยู่ตลอดเวลา เราจึงสามารถเห็นจากกรณีศึกษาจริงได้ว่าในหลายๆ ทำเลค้าขายก็จะมีทั้งดีและร้ายสลับกันไปอยู่เสมอ นั่นก็เป็นเพราะทิศทางที่ดีและเป็นมงคลต่อธุรกิจแต่ละประเภทนั้นจะมาในทิศทางที่ต่างกัน ซึ่งการเปลี่ยนยุคตามศาสตร์ฮวงจุ้ยในครั้งล่าสุดนั้นอยู่ที่ปี พ.ศ.2547 ซึ่งก็คงมีหลายสถานที่ที่ได้ทำการใช้สอยพื้นที่มาก่อนหน้านั้น แล้วยังไม่ได้ทำการประเมินคุณภาพของฮวงจุ้ยมาอีกเลย จึงสามารถเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่จะช่วยบอกได้ว่าเหตุใดกิจการของเราถึงได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านที่ดีและไม่ดีหลังจากช่วงปีนั้นๆ เช่นในบางกิจการหันหน้าในทิศนั้นๆ ก็อาจเป็นทิศดีในยุคที่ 7 ก่อนปี พ.ศ.2547 แต่ก็อาจจะกลายเป็นทิศไม่ดีในยุคที่ 8 ยุคปัจจุบันหลังปี พ.ศ.2547 ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราพบว่ากิจการของเราไม่ดีเหมือนในช่วงก่อน
หากสถานที่นั้นๆ ต้องมีการเปลี่ยนรูปทรง รูปร่างของตัวเอง หรือเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายนอก โดยรวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างเดิมที่ต้องการปรับปรุง เช่น การต่อเติมห้องครัว หรือห้องนอนของบ้านพักอาศัย การต่อเติมขยายส่วนผลิตหรือส่วนสำนักงานของโรงงาน การกั้นห้องเป็นสัดส่วนใหม่ของพื้นที่ในสำนักงาน หรือหากมองในมุมมองของการเตรียมก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเปล่าก็เช่นเดียวกันครับ เพราะเมื่อสถานที่นั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงรูปร่าง ก็จะทำให้การลักษณะของการสะสมพลังนั้นเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากๆเช่น ทำการต่อเติมเกินพื้นที่ 1 ใน 3 ของอาคาร หรือ การเปลี่ยนแปลงห้องครัว ซึ่งเป็นห้องที่สะสมพลังงานของธาตุไฟมากที่สุดของอาคาร หรือมีการเปลี่ยนแปลงห้องหรือตำแหน่งนั่งของเจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานหรือโรงงานเหล่านี้ ตามศาสตร์ฮวงจุ้ยถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงของฮวงจุ้ย การปรับฮวงจุ้ยเพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของอาคารจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ
อย่างไรก็ตามหลายๆ ท่านก็อาจจะละเลยในกรณีที่สิ่งแวดล้อมภายนอกเปลี่ยนเพราะเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมหรือชัยภูมิภายนอกนั้นไม่มีผลกับฮวงจุ้ยบ้านของเรา แต่ความเข้าใจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องครับ แท้จริงแล้วหากการเปลี่ยนแปลงภายนอกนั้นมีเยอะในระดับหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นอาจมีผลกระทบกับคุณภาพฮวงจุ้ยมากกว่าการเปลี่ยนแปลงภายในด้วยซ้ำ ผมขอยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงชัยภูมิภายนอกที่กระทบกับสิ่งปลูกสร้างของเราแน่ๆ เช่น การตัดถนนสายใหม่ที่เป็นสายใหญ่ การสร้างสนามบินแห่งใหม่ การสร้างแนวรถไฟฟ้าไม่ว่าบนดินหรือใต้ดิน การสร้างสะพานข้ามแยกของรถยนต์หรือสะพานลอยคนข้าม หากท่านสามารถสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ (ง่ายๆ ก็คือมองเห็นได้จากตัวบ้านหรือสิ่งปลูกสร้าง) ท่านก็สามารถรับคำแนะนำในการปรับฮวงจุ้ยบ้านจากซินแสที่มีประสบการณ์ได้เช่นเดียวกันครับ
หากเรารู้จักการปรับสภาพแวดล้อมของทั้งภายนอกและภายในบ้าน อาคาร สถานที่ของเราหรือที่คนจีนเรียกกันง่ายๆ ว่าปรับฮวงจุ้ยได้ดี เราก็จะสามารถดึงเอาพลังดีนั้นมาเสริมให้สมาชิกภายในบ้านของเรานั้นได้รับแต่ความเป็นมงคล สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับทุกคนในบ้านของเราได้ครับ
ผู้เขียน : อ.ตะวัน เลขะพัฒน์
ศึกษาศาสตร์ด้านฮวงจุ้ยจากสถาบันค้นคว้าวิชาการฮวงจุ้ยแห่งประเทศไทย
มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สถาปัตยกรรม วัสดุก่อสร้าง