“อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน” วลีคำสอนเตือนผู้คนไม่ให้เป็นผู้ค้ำประกันยังคงอยู่ในสังคมไทย ว่าการเป็นผู้ค้ำประกันถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรไปค้ำประกันใคร เพราะมีแต่เสียกับเสียจนต้องเป็นขี้ข้าถ้ายังขืนค้ำประกันเขาไปทั่ว แต่ถ้าจำเป็นต้องขอเงินกู้ที่ผู้กู้อาจมีข้ออ่อนด้อยทั้งในคุณสมบัติผู้กู้ ความสามารถชำระหนี้ หรือหลักประกันที่ไม่คุ้มวงเงิน ผู้ให้กู้ก็อาจขอให้มีบุคคลค้ำประกันเพิ่มขึ้นมาได้เพื่อป้องกันความเสี่ยงของสถาบันการเงินนั้น ฉะนั้นไม่ว่าในมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคือผู้กู้ ผู้ค้ำประกัน ผู้ให้กู้ องค์กรรัฐที่กำกับดูแล คงต้องศึกษาและหาแนวทางปฎิบัติให้เหมาะสมกันต่อไป
พ.ร.บ.ลดภาระค้ำประกันใหม่ใครได้ใครเสีย
ตามกฎหมายฉบับเดิม กำหนดให้ผู้ที่ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชอบกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้เต็มวงเงินที่ค้างชำระ แต่ธนาคารทำสัญญาระหว่างลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้รับผิดชอบหนี้ร่วมกัน โดยธนาคารมีอำนาจฟ้องร้องเอาผิดผู้ค้ำและลูกหนี้ไปพร้อมกัน
ส่วนกฎหมายใหม่ (พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับแก้ไข มีผลบังคับใช้ 7 กุมภาพันธ์ 2558) กำหนดให้ฟ้องร้องเอาผิดผู้ค้ำประกันตามเงื่อนไขเท่านั้น
ลดภาระผู้ค้ำประกัน จะเห็นว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่จะเกิดประโยชน์แก่กลุ่มลูกหนี้และผู้ค้ำประกันโดยตรง แต่ผลกระทบโดยอ้อมก็คือผู้กู้โดยเฉพาะผู้ประกอบการอาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น เพราะสถาบันการเงินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในเรื่องผู้ค้ำประกัน ทำให้ต้องพิจารณาเข้มงวดมากขึ้น สำหรับผู้กู้ที่อ่อนด้อยในเรื่องหลักประกัน และอาจต้องถูกบังคับให้เป็นผู้กู้ร่วมแทนการค้ำประกันก็เป็นได้
เพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ให้กู้ ธนาคารมีความเสี่ยงในฐานะผู้ให้กู้ ตามข้อปรับปรุงทุกข้อข้างต้น ธนาคารต้องปรับตัวให้สอดรับกับกฎหมายใหม่ซึ่งต้องทำก่อนมีผลบังคับใช้ โดยต้องปรับกระบวนการพิจารณาสินเชื่อโดยดูความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อของธนาคารไปด้วย
ในส่วนของลูกหนี้ที่ผิดนัดธนาคารก็อาจฟ้องร้องมากกว่าการประนอมหนี้ เนื่องจากถ้าประนอมหนี้แล้ว ถ้ามีการชำระหนี้ได้ผู้ค้ำประกันอาจหลุดพ้นความรับผิดชอบได้
ผู้กำกับดูแล ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ให้มีความมั่นคง ทั้งสินทรัพย์เสี่ยงและผู้ฝากต้องมีความมั่นคง คงต้องดูในภาพรวมว่าจะสามารถให้ข้อผ่อนปรนนี้ดำเนินการไปได้โดยไม่ติดขัด โดยเฉพาะการผ่อนปรนเกณฑ์ดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดมากไป อันอาจทำให้ผู้กู้เข้าถึงระบบธนาคารได้น้อยลง ข้อแก้ไขเบื้องต้นอาจให้ผู้ค้ำประกันเป็นผู้กู้ร่วมได้ แต่บางส่วนอาจไม่ยินยอมจะมีแนวทางดำเนินการต่อไปอย่างไร ในส่วนของผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ยังมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำหน้าที่ค้ำประกันหนี้ให้อยู่ แต่ก็มีข้อจำกัดในวงเงินอยู่บ้าง
สำหรับผู้กู้สินเชื่อบ้านอาจมีปัญหาในการเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่ออยู่บ้าง แต่มีผลกระทบไม่มากนักเพราะปัจจุบันธนาคารต้องดูความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นข้อแรก (First Way Out) ดูความคุ้มค่าของหลักประกันข้อรอง (Second Way Out) ดังนั้นการมีผู้ค้ำประกันสินเชื่อบ้านจึงเป็นข้อที่สาม (Third Way Out) ที่ธนาคารไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก และอาจเปลี่ยนผู้ค้ำประกันมาเป็นผู้กู้ร่วมได้เช่นกัน