ผู้เขียนพบผู้ต้องการกู้ตัวจริง ในราวเดือนสิงหาคมของทุกๆ ปีสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งมีสมาชิกเป็นสถาบันผู้ให้กู้ ซึ่งได้แก่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ การเคหะแห่งชาติ บริษัทประกันชีวิต ที่ให้บริการสินเชื่อบ้านแก่ประชาชนและผู้สนใจกับบริษัท โฮมบายเออร์ไกด์ จำกัด ได้ร่วมกันจัดงานมหกรรมสินเชื่อที่อยู่อาศัย Home Loan และทรัพย์ NPA โดยในปีนี้ ได้จัดงานขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคม 2558
ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการบรรยายและพบกับผู้ต้องการสินเชื่อตัวจริงในงานดังกล่าว ซึ่งได้พูดในหัวข้อ “กู้ซื้อบ้านให้ผ่านง่าย” โดยมีเนื้อหากล่าวถึงว่าทำไมต้องมีสินเชื่อบ้าน ความต้องการของผู้กู้ สาเหตุที่ธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ (ดูย้อนหลังได้จากฉบับก่อนๆ) เช็คลิสต์เอกสารขอกู้ ซึ่งในวันนั้นมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังมากพอประมาณ แต่มีประเด็นคำถามตอบที่น่าสนใจจากผู้ต้องการสินเชื่อตัวจริง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าถ่ายทอดให้ทราบโดยทั่วไปด้วย จึงใคร่มานำเสนอต่อผู้อ่านทุกท่าน ณ ที่นี้
คำถาม 1 ถ้าเคยกู้สินเชื่อบ้านกับธนาคารแล้วต้องการกู้สินเชื่อบ้านเพิ่มเป็นหลังที่ 2 จะต้องทำอย่างไร และหากมีหลังต่อๆ ไปธนาคารจะให้กู้อีกหรือไม่ อย่างไร
คำตอบ1 โดยทั่วไปธนาคารเกือบทุกแห่งจะยินยอมให้กู้สินเชื่อบ้านเป็นหลังที่ 2 ได้ โดยให้เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยในเกณฑ์เดียวกับหลังแรก เพราะเห็นว่าความจำเป็นในการมีหลังที่ 2 มีความเป็นไปได้ เนื่องจากหลังแรกอาจอยู่นอกเมือง จำเป็นต้องมีคอนโดฯ อยู่ในเมืองได้หรืออาจมีบ้านอีกหลังอยู่ต่างจังหวัดเพื่อการพักผ่อน เป็นต้น แต่ถ้าหากต้องการกู้สินเชื่อบ้านหลังที่ 3, 4 หรือ 5 คงต้องดูความจำเป็นว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแหล่งรายได้เพื่อการผ่อนชำระต้องไม่ใช่มาจากการให้เช่าบ้านหลังที่กู้เพิ่ม และเงื่อนไขสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยสำหรับหลังที่ 3 เป็นต้นไปจะได้เท่ากับสินเชื่อทั่วไป ไม่ใช่เป็นสินเชื่อบ้าน
คำถาม 2 ถ้าผู้ต้องการกู้สินเชื่อบ้านมีอายุมาก ตัวอย่าง อายุ 55 ปี สามารถกู้ได้หรือไม่ ธนาคารมีเกณฑ์พิจารณาอย่างไร
คำตอบ2 เกณฑ์ที่ธนาคารใช้พิจารณาสำหรับการให้กู้สินเชื่อบ้านส่วนใหญ่จะให้กู้มีกำหนดระยะเวลาผ่อนรวมกับอายุผู้กู้จริงไม่เกินกว่า 65 ปี ในกรณีตัวอย่าง ผู้กู้อายุ 55 สามารถกู้ได้มีระยะเวลากู้ 10 ปี ซึ่งรวมแล้วไม่เกิน 65 ปี เป็นต้น
คำถาม 3 ผู้กู้เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ไม่ได้นำรายได้รายจ่ายผ่านบัญชีธนาคารควรทำอย่างไร
คำตอบ3 ในกรณีไม่ได้นำเงินรายได้-รายจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร ทำให้การหมุนเวียนในบัญชีของธนาคารมีน้อย ทำให้ธนาคารไม่สามารถเช็คสอบรายได้-รายจ่ายที่ถูกต้องได้ ในกรณีดังกล่าวอาจแสดงรายการอื่น เช่น ใบยื่นเสียภาษีต่างๆ กับทางการเป็นหลักฐานรายได้ ในบางกรณีอาจนำใบเสร็จหรือรายการงบการเงินมาแสดงเพื่อพิจารณาได้
จากกรณีการถามตอบ “พบผู้ต้องการสินเชื่อ” ดังกล่าว อาจมีท่านผู้อ่านท่านอื่นๆ ต้องการสอบถามหรือมีข้อเสนอแนะอย่างไร ผู้เขียนจึงใคร่เรียนท่านผู้อ่าน กรุณาแจ้งคำถามผ่านหนังสือโฮมบายเออร์ไกด์ ระบุว่าเป็น Home Loan ผู้เขียนยินดีรวบรวมมาเป็นคำถาม-คำตอบในโอกาสต่อไป
ผู้เขียน : มีชัย คงแสงชัย
ผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทย
อดีตผู้จัดการสายสินเชื่อบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์
ปัจจุบันเป็นกรรมการและเหรัญญิก สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย