หนี้ครัวเรือนคืออะไร คำว่า หนี้ หมายถึงหนี้สินของบุคคลที่ได้กู้ยืมจากสถาบัน องค์กรและอื่นๆ ที่ผู้กู้มีภาระหนี้ที่จะต้องมาชำระหนี้คืนในอนาคต ส่วนคำว่า หนี้ครัวเรือน ในความหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย หมายถึงหนี้ของบุคคลที่ได้จากการกู้ยืมเงินจากการซื้อบ้าน รถยนต์ การใช้จ่ายอุปโภคบริโภค ฯลฯ จากธนาคารพาณิชย์ จากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จากองค์กรธุรกิจสินเชื่อสินเชื่อบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคาร จากสหกรณ์ออมทรัพย์ จากอื่นๆ (ทั้งนี้ไม่รวมหนี้นอกระบบที่ไม่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้) เมื่อนำมารวมเป็นภาพรวมก็ไม่สามารถบอกได้ว่ามีผลอย่างไร จำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบกับแหล่งรายได้ของประชาชาติซึ่งคือรายได้มวลรวมของประเทศ (GDP) โดยเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเทียบกับ GDP ว่าเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ถ้าออกมาต่ำกว่า 50% ก็ถือว่าต่ำ แต่ถ้าสูงกว่าโดยเฉพาะที่สูงกว่า 80% ก็จะนับว่าสูงที่เป็นสัญญาณอันตรายว่าการทำธุรกิจธนาคาร สถาบันการกู้ยืมที่จำเป็นต้องระมัดระวังการให้สินเชื่อต่อประชาชน เพราะแสดงว่าโดยภาพรวมมีภาระหนี้สินสูงเมื่อเทียบกับรายได้โดยรวม
หนี้ครัวเรือนสูงมีผลกระทบอย่างไรกับสถาบันการเงิน สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยล่าสุด สิ้นปี 2556 ขยับขึ้นมาอยู่ในระดับ 82.3% หากเปรียบเทียบกับสิ้นปี 2555 อยู่ที่ระดับเพียง 75% แต่ถ้าเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สิ้นปี 2551 อยู่ที่ สัดส่วนเพียง 55.1% เท่านั้น โดยจะเห็นว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่า ณ สิ้นปี 2557 จะอยู่ที่สัดส่วน 84% สาเหตุที่จะแตะที่ระดับนี้เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอ แต่สินเชื่อครัวเรือนหรือสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ยังไงคนก็ยังต้องใช้ ซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อธุรกิจที่เวลาเศรษฐกิจไม่ดี สินเชื่อภาคธุรกิจมักจะติดลบ แต่สำหรับสินเชื่อครัวเรือนแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น จึงทำให้โอกาสที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นยังเป็นไปได้สูง แต่อย่างน้อยก็เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าถ้าเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ อยู่ในระดับ 90% และมาเลเซียเกือบ 90%
การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่สูงและเป็นระดับที่มีความเปราะบางมากขึ้น จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ในมาเลเซียได้ถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ปรับลดเครดิตเรตติ้งลง เนื่องจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มถึงระดับ 88% ซึ่งเป็นเรื่องที่สถาบันการเงินพึงระมัดระวังอย่างยิ่ง การมีแนวโน้มสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจเติบโตช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับรองจากปัจจัยเสี่ยงด้านการเมือง และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคืออัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้
ผลกระทบกับการกู้เงินปัจจัยหลักที่เป็นตัวเร่งให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้น เกิดจากต้นทุนการกู้เงินที่ต่ำและเงินออมต่ำเป็นเวลานานก็ทำให้เอื้อต่อการกู้ยืมเงินเพื่อการอยู่อาศัย ซื้ออสังหาริมทรัพย์ มาตราการของรัฐในการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ การคืนภาษีรถยนต์คันแรก สินเชื่อช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ตลอดจนการแข่งขันของธนาคารต่างๆ ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และรุกตลาดสินเชื่อรายย่อยกันมากขึ้น ล้วนเป็นตัวเร่งการขยายสัดส่วนเป็นอย่างมาก
ดังนั้นธนาคารและสถาบันการเงินคงต้องมีนโยบายการแข่งขัน ไม่ว่าในเรื่องดอกเบี้ยหรือเงื่อนไขสินเชื่อที่ผ่อนปรนน้อยลงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นประเภทของการให้กู้ยืมเงิน อัตราผ่อนชำระต่อรายได้ วงเงินกู้ต่อราคาประเมินหลักประกัน และจำเป็นต้องเลือกเฟ้นลูกค้าเงินกู้ที่เข้มงวดกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตามเมื่อใดที่ภาวะเศรษฐกิจและภาวะการเมืองเข้าสู่โหมดภาวะปกติ สถาบันการเงินก็พร้อมจะกระโจนเข้าสู่การแข่งขันที่เข้มข้นเหมือนอย่างเดิมเป็นที่แน่นอน