Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

โยธาฯ เวียงพิงค์ปรับผังใหม่หนุนการพัฒนาเมือง

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อ 21 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ยังเป็นสิ่งที่ชาวเชียงใหม่ต้องหาข้อสรุปกันต่อไป แม้มีการประชุมหารือระหว่างภาคเอกชน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ตัวแทนจากภาคประชาชนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2555 แล้วก็ตาม ทีมงาน HBG ฉบับนี้มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณสมหวัง บุญระยอง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่เกี่ยวกับทิศทางมุมมอง ตลอดจนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง เพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงเรื่องดังกล่าว

แผนการดำเนินงานของโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ปีงบประมาณ 2557 เป็นอย่างไร

สำหรับแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2557 มีการจัดทำโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำต๋อม บ้านหลิม อำเภออมก๋อย งบประมาณ 8 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการประกวดราคา และมีโครงการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2555-2557 จำนวน 4 โครงการ คือ

  1. โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนต้นเปา อำเภอสันกำแพง ระยะที่ 1 งบประมาณ 135 ล้านบาทดำเนินงานไปแล้วกว่าร้อยละ 50
  2. โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนสันกำแพง อำเภอสันกำแพง ระยะที่ 1 งบประมาณ 150 ล้านบาทดำเนินงานไปแล้วกว่าร้อยละ 50
  3. โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนป่าแดด ระยะที่ 2 งบประมาณกว่า 309 ล้านบาทดำเนินงานไปแล้วกว่าร้อยละ 7
  4. โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองเชียงใหม่ ระยะที่ 1 งบประมาณกว่า 250 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ

นอกจากนี้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ยังเป็นหน่วยงานสนับสนุนแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ในการเสริมสร้างและปรับแต่งอัตลักษณ์ (Identity) เพื่อสร้างเสน่ห์การท่องเที่ยว การค้า การลงทุนและการมีส่วนร่วมของชุมชน ในโครงการ “ล้านนาน่ามอง” จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรมเวียงกุมกาม ใช้งบประมาณกว่า 3.5 ล้านบาท สำนักงานโยธาธิการฯ มีหน้าที่ในการออกแบบประมาณราคา การจัดซื้อจัดจ้าง และจัดประชุมกับประชาชน

ทั้งนี้ในปัจจุบันการจัดทำโครงการต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับชุมชนเป็นหลัก ต้องเข้าใจความต้องการของชุมชน แล้วนำหลักวิชาการมาประกอบ จึงเป็นการทำงานแบบบูรณาการ จะเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนที่แท้จริง

การประชุมเกี่ยวกับการปรับปรุงและแก้ไขผังเมืองรวมฯ มีความคืบหน้าอย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่าผังเมืองของจังหวัดเชียงใหม่แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) ผังเมืองรวมจังหวัดเชียงใหม่ เผยแพร่กฎกระทรวงเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 มีผลบังคับใช้ 5 ปี มีขอบเขตของผังควบคุมการใช้พื้นที่ทั้งจังหวัดเชียงใหม่รวม 25 อำเภอ (2) ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 มีผลบังคับ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 ครอบคลุมท้องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอยสะเก็ด, สารภี, สันทราย, แม่ริม, เมืองเชียงใหม่, สันกำแพงและ หางดง รวมพื้นที่ 429 ตารางกิโลเมตร หรือ 268,125 ไร่

ประเด็นหลักในการขอแก้ไขผังเมืองเชียงใหม่คือปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ให้พื้นที่สีเหลืองปรับเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) และปรับจากสีส้มให้เป็นสีแดงคือพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก

เมื่อพิจารณาจากการขอแก้ไขกฎกระทรวงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่แล้วพบว่ามีเรื่องขอแก้ไขจำนวนมากการขอแก้ไขลักษณะนี้จะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกฎกระทรวงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ที่ประกาศใช้บังคับในปัจจุบัน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระบบคมนาคมขนส่ง, สิ่งแวดล้อม, ประชาชน ทำให้โครงสร้างผังเดิมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ส่วนตัวแล้วเห็นว่าควรมีการปรับปรุงผังเมืองจังหวัดใหม่จะมีความเหมาะสมกว่า ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมือง ประกอบกับกรมโยธาธิการและผังเมืองก็ได้มีมติให้จังหวัดเชียงใหม่และสำนักพัฒนามาตรฐาน ร่วมมือกันดำเนินการประเมินผลผังเมืองปัจจุบันและปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัดใหม่ทั้งหมด โดยใช้งบประมาณของปี 2557 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาปรับผังใหม่ภายใน 2 ปี เชื่อว่าเมื่อมีการปรับปรุงผังเมืองใหม่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเมืองมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ผังเมืองเว้นช่วงบังคับใช้จนทำให้เกิดการพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง

คุณสมหวัง บุญระยอง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่

ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานของสำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่มีอะไรบ้าง

ปัจจุบันคณะกรรมการผังเมืองซึ่งจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีได้หมดวาระลงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 แต่ทั้งนี้ต้องจัดตั้งคณะรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี จึงจะสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการผังเมืองและคณะกรรมการผังเมืองได้ ส่งผลให้การขอปรับปรุงผังเมืองหากไปถึงขั้นตอนดังกล่าวอาจต้องชะงัก

ดังนั้นในระยะเวลาดังกล่าว สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ จึงดำเนินการรวบรวมประเด็นข้อปรับปรุงเพื่อเสนอกรมโยธาธิการและผังเมืองไปก่อน เพื่อให้สำนักพัฒนามาตรฐานได้นำไปประกอบการพิจารณาประเมินผลผังเมืองต่อไป

ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควรเป็นไปในทิศทางใด

จังหวัดเชียงใหม่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เมืองมีความแออัดค่อนข้างมาก การขยายตัวจึงจำเป็นต้องออกไปสู่รอบนอกและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะช่วงที่ผังเมืองไม่มีผลบังคับใช้ ได้เกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการขออนุญาตก่อสร้างอาคารในระยะช่วงดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันการพัฒนาจึงขยายตัวไปในการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการควบคุมในส่วนของขนาดและความสูงของอาคาร ห้ามการจัดสรรที่ดินประเภทต่างๆ ด้วยเหตุนี้หากมีการแก้ไขให้เป็นไปตามการพัฒนาในช่วงที่ผังเมืองขาดการบังคับใช้ โครงสร้างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่เดิมก็จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงสร้างการคมนาคมและการขนส่ง

กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงเห็นสมควรให้มีการปรับปรุงผังเมืองจังหวัดใหม่ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเมือง เพื่อรองรับโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, โครงการท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 รวมถึงรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่มีการพัฒนาในภาคอสังหาริมทรัพย์มากยิ่งขึ้น

ทิศทางของการปรับปรุงและแก้ไขผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ที่สะท้อนจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองคงทำให้ชาวเชียงใหม่เห็นภาพและตระหนักถึงผลของการปรับปรุงและแก้ไข ที่นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ภาคเอกชนและภาคประชาชนเองคงต้องร่วมไม้ร่วมมือในการแสดงเจตนารมณ์และพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้น ถึงการส่งผลต่ออัตลักษณ์และการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่อย่างเต็มกำลัง...

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร