Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ไฟฟ้าเชียงใหม่ทุ่ม 3 พันล้าน ผุดสถานีเคเบิลใต้ดิน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภาคเหนือ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เนื่องจากความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม มีศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งมีความพร้อมเรื่องที่พักและบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว จนสามารถดึงดูดผู้คนได้นับล้านคนในแต่ละปี ส่งผลให้มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ (กฟจ.เชียงใหม่) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลความเรียบร้อยและเตรียมแผนรองรับกับการเติบโต ทีมงาน HBG จึงได้พูดคุยกับคุณกฤษณุ ภู่ประเสริฐ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดเชียงใหม่ เรื่องแผนและนโยบายไว้ในฉบับนี้อย่างน่าสนใจ

ภารกิจการให้บริการและนโยบายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร

กฟจ.เชียงใหม่มีภารกิจในการจัดหาให้บริการพลังงานไฟฟ้าและดำเนินการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้ความสำคัญกับสังคม สิ่งแวดล้อมและการเชื่อมโยงกับชุมชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้าให้เป็นรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย เพื่อรองรับพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น กฟจ.เชียงใหม่ดำเนินงานตามนโยบายของผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในเรื่องการบริการที่สะดวกรวดเร็วทันสมัยปรับปรุงสำนักงานให้เป็นแบบ Smart Front Office เพื่อให้บริการเข้าถึงผู้ใช้บริการด้วย PEA Shop ในพื้นที่เชียงใหม่เปิดให้บริการที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล, ศูนย์การค้ามีโชคพลาซ่า และภายในปี 2558 จะมีการให้บริการเคลื่อนที่แบบ PEA Mobile Shop

นอกจากนั้นยังมีหน่วยป้องกันและวิเคราะห์กระแสไฟฟ้าขัดข้อง 24 ชั่วโมงในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ กฟจ.เชียงใหม่เบอร์โทรศัพท์รับแจ้ง โทร.0-5324-1226, 0-5324-1816 ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ กฟจ.เชียงใหม่ 2 เบอร์โทรศัพท์รับแจ้ง โทร.0-5389-6226 หรือโทร.1129

การจ่ายไฟในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ปัจจุบันและแนวโน้มเป็นอย่างไร

ปัจจุบันในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ประกอบด้วยสถานีไฟฟ้า 7 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ 1, เชียงใหม่ 2, เชียงใหม่ 3, เชียงใหม่ 4, ช้างคลาน (ชั่วคราว), หายยา (ชั่วคราว) และฟ้าฮ่าม (ชั่วคราว)สามารถจ่ายไฟฟ้ารวมกว่า 550 เมกะวัตต์ โดย กฟจ.เชียงใหม่มีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติและนำมาพยากรณ์ความสามารถการจ่ายไฟของสถานีไฟฟ้าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ไว้ล่วงหน้า (ตั้งแต่ปี 2555-2574) เนื่องจากการก่อสร้างสถานีโดยเฉพาะเขตในเมืองใหญ่มีหลายขั้นตอนและยังมีค่าดำเนินการสูง อีกทั้งต้องตั้งงบประมาณดำเนินการเพื่อรอผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกด้วย

ทั้งนี้ในปี 2556 ที่ผ่านมามีปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่รวมกว่า 272.89 เมกะวัตต์คาดว่าในปี 2557 จะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 282.58 เมกะวัตต์ เนื่องจากการเติบโตของผู้ใช้ไฟประเภทธุรกิจขนาดใหญ่เช่น เซ็นทรัลเฟสติวัล, เมญ่า, พรอมเมนาดา, โรงพยาบาลกรุงเทพเป็นกลุ่มที่ใช้ไฟมากส่วนในปี 2558 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ลดลงที่ 263.14 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีการจ่ายไฟจากข้างนอกเขตเทศบาลเข้ามาช่วยเพื่อลดภาระการจ่ายไฟของสถานีไฟฟ้าในเขตเทศบาลลง

จากสถิติและค่าพยากรณ์พบว่าจำนวนการใช้ไฟฟ้าในแต่ละสถานีมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปี 2574 มีค่าสูงถึง 438.42 เมกะวัตต์ ทำให้คาดว่าการจ่ายไฟฟ้าจะไม่เพียงพอจึงมีการวางแผนเพิ่มขนาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ณ สถานีไฟฟ้าหายยาและฟ้าฮ่าม จากขนาดพิกัดเดิม 1x25 เมกะโวลต์-แอมป์ เป็นขนาดพิกัด 50x2 เมกะโวลต์-แอมป์ และก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแห่งใหม่ขนาด 1x25 เมกะโวลต์-แอมป์ จำนวน 1 สถานีภายในปี 2569 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

อีกทั้งได้ศึกษาพื้นที่เหมาะสมในบริเวณที่มีความหนาแน่นของใช้ไฟฟ้าและแนวสายส่งพาดผ่าน เป็นพื้นที่ที่สามารถขยายเขตก่อสร้างระบบสายส่ง 115 กิโลโวลต์เชื่อมต่อเข้าถึงสถานีไฟฟ้า โดยจุดเหมาะสมในการตั้งสถานีไฟฟ้าแห่งใหม่จะอยู่บริเวณสันติธรรม หากดำเนินการเสร็จสิ้นตามแผนงานที่กำหนดไว้ในปี 2574 กฟจ.เชียงใหม่จะสามารถรองรับการจ่ายไฟฟ้าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณกฤษณุ ภู่ประเสริฐ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดเชียงใหม่

แผนการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของ กฟจ.เชียงใหม่เป็นอย่างไร

กฟจ.เชียงใหม่ได้ดำเนินการในโครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าระยะที่ 9 ส่วนที่ 1 (คพส.9.1) บรรจุไว้ในแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลางและใหญ่

โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่มีการเติบโตของโหลดสูงมากและได้รับคัดเลือกให้อยู่ในแผนพัฒนาความมั่นคงในระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อลดจำนวนครั้งไฟดับ (SAIFI) และระยะเวลาไฟดับ(SAIDI) ให้เทียบเท่ากับการไฟฟ้านครหลวง กฟจ.เชียงใหม่มีแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าเมืองเชียงใหม่(2556-2560) งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 กิโลโวลต์ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่อรองรับสถานีไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตอยู่ในแผนงานโครงการเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าระยะที่ 3 (คชฟ.3) งบประมาณกว่า 660 ล้านบาท

มีการก่อสร้างไลน์สายส่ง 115 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าเชียงใหม่ 2 (กฟผ.) ถึงสถานีไฟฟ้าฟ้าฮ่ามระยะทาง 4.5 วงจร-กิโลเมตร ก่อสร้างไลน์สายส่ง 115 กิโลโวลต์จากสถานีไฟฟ้าเชียงใหม่ 2 (กฟผ.) ถึงสถานีไฟฟ้าหายยาระยะทาง 6 วงจร-กิโลเมตร และเชื่อมโยงไลน์สายส่งทั้งหมดในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นแบบ Close Loop Line ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความมั่นคงในระบบสายส่งและระบบจำหน่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาระบบเคเบิลใต้ดิน (Underground Cable)

กฟจ.เชียงใหม่มีแผนพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินให้เหมือนกับถนนท่าแพและถนนช้างคลาน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวางแผนงานดำเนินการโดยแบ่งออกเป็น 5 แผนงานระยะทางรวมทั้งสิ้น 36.50 วงจร-กิโลเมตร งบประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท ได้แก่ ถนนราชดำเนิน ถนนสามล้าน(ถนนคนเดิน) รวมเป็นระยะทาง 2.70 วงจร-กิโลเมตร, ถนนรอบคูเมืองทั้งฝั่งในและฝั่งนอก รวมเป็นระยะทาง 14.60 วงจร-กิโลเมตร

ถนนห้วยแก้ว (แจ่งหัวริน-อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย) รวมเป็นระยะทาง 12.20 วงจร-กิโลเมตร, ถนนนิมมานเหมินทร์ รวมเป็นระยะทาง 3.4 วงจร-กิโลเมตร และถนนสุเทพ รวมเป็นระยะทาง 3.6 วงจร-กิโลเมตร หากดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานจะเพิ่มเสถียรภาพและความมั่นคงในระบบไฟฟ้าลดจำนวนครั้งและระยะเวลาไฟดับ รองรับธุรกิจอุตสาหกรรมของเชียงใหม่ อีกทั้งเป็นการปรับปรุงทัศนียภาพเมืองเชียงใหม่ให้สวยงามอีกด้วย

นอกจากนี้ได้จัดตั้งเป็นศูนย์สั่งการแก้กระแสไฟฟ้าขัดข้องอัจฉริยะเพื่อรองรับการบริการผู้ใช้ไฟ ปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ตามโครงการเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าระยะที่ 3 (คชฟ.3) โดยการเปลี่ยนสายไฟฟ้าที่เป็นสายเปลือยเป็นสายไฟฟ้าหุ้มฉนวนเต็มพิกัดพร้อมติดตั้งสวิตช์ตัดตอนโหลดเบรกสวิตช์เพิ่มเติมอีก 125 จุด สามารถรองรับการควบคุมและสั่งการในระยะไกลได้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันและตัดตอนในไลน์แยกเพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท

ความรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม

กฟจ.เชียงใหม่ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการพัฒนาความเป็นอยู่พื้นฐานของประชาชนในส่วนภูมิภาค และมีบทบาทที่สำคัญในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการ

พัฒนาขยายเขตไฟฟ้าเพื่อรองรับต่อการขยายตัวของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจบริการ ซึ่งมีการลงทุนในการพัฒนาระบบเครือข่ายในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนภารกิจหลักที่เป็นธุรกิจหลักรวมทั้งการลงทุนเชิงสังคมและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ได้มีการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการชุมชนปลอดภัยใช้ไฟ PEA, โครงการส่งมอบฝายชะลอน้ำ, โครงการอำเภอเมืองเชียงใหม่ยิ้มเคลื่อนที่, โครงการสายโลหิต สายใจและโครงการบันทึกนักประหยัดตัวน้อยเป็นต้น

พลังงานไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้คน ชุมชน สังคม ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่ผู้ประกอบการธุรกิจที่มาลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักประกอบการตัดสินใจลงทุนกิจการต่างๆ หากระบบไฟฟ้ามีเสถีรภาพมั่นคง จะช่วยให้การลงทุนของภาคธุรกิจเชื่อมต่อไปยังเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ก็จะดีขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร