Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

วิธีรับมือไฟรั่วอันตรายที่ต้องใส่ใจป้องกัน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ปัญหา “ไฟรั่ว” คือเรื่องใหญ่ที่ห้ามมองข้ามเด็ดขาด เพราะไม่ใช่แค่อันตรายสำหรับคนในบ้านที่อาจโดนไฟช็อตจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ยังมีโอกาสทำให้เกิดไฟไหม้และลุกลามไปยังเพื่อนบ้านได้อีกด้วย ดังนั้นเจ้าของบ้านทุกคน จึงจำเป็นต้องรู้วิธีรับมือกับไฟรั่วเพื่อลดความเสี่ยงและอันตราย รวมถึงยังเป็นการใส่ใจป้องกันภัยไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัวอีกด้วย

1. สาเหตุของไฟรั่ว

สาเหตุหลักลำดับแรกที่ทำให้เกิดปัญหาไฟรั่วมักมาจากการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ถูกต้อง เช่น

  • การเสียบปลั๊กทิ้งเอาไว้ แม้จะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าไปแล้ว แต่กระแสไฟยังคงทำงานอยู่จึงอาจทำให้เกิดการช็อตและไฟรั่วออกมา
  • อุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมสภาพเนื่องจากใช้งานมาเป็นเวลานาน และไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างละเอียด เมื่อเปิดใช้ก็ทำให้กระแสไฟรั่วไหล ส่วนใหญ่จุดที่มักเกิดปัญหาไฟรั่วคือสายหุ้มฉนวนที่หมดสภาพ มีร่องรอยความเสียหาย มีปัญหาชำรุดจากการโดนทับ จนทำให้ตัวนำไฟฟ้าเกิดแรงดัน พอไฟฟ้าเจอกับโลหะจึงกลายเป็นกระแสไฟที่รั่วออกมา
  • การเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการเดินสายไฟ การติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในบ้านไม่ดีพอ เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง แรงดันไฟฟ้าที่ทำงานเป็นประจำจะทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวพังเสียหายและเกิดปัญหาไฟรั่วขึ้น

สาเหตุ

2. อันตรายจากไฟรั่ว

สำหรับอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้จากปัญหาไฟรั่วมีด้วยกัน 3 ประเด็น คือ

  • หากมีใครไปสัมผัสบริเวณที่กระแสไฟฟ้ากำลังรั่วไหลจะทำให้ไฟดูด ถ้าหากกระแสไฟดังกล่าวไม่ได้แรงมากและสัมผัสไม่นานก็อาจมีแค่รอยไหม้ รอยแดง เลือดออกเล็กน้อย แต่ถ้ารุนแรงและโดนดูดด้วยระยะเวลานาน ๆ ก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอัคคีภัย เพราะเมื่อกระแสไฟรั่วออกมาแล้วจะก่อให้เกิดความร้อนหรือประกายไฟขึ้น หากบริเวณรอบ ๆ มีสิ่งของที่พร้อมติดไฟง่ายก็มีสิทธิ์เกิดอัคคีภัยและลุกลามไปยังจุดอื่น ๆ ได้ง่าย
  • อีกประเด็นที่อาจไม่ได้ส่งผลต่อตัวบุคคลโดยตรงแต่ก็นับว่าเป็นอันตรายทางการเงินพอสมควร เพราะเมื่อเกิดปัญหาไฟรั่วขึ้นจะทำให้ไฟฟ้าถูกใช้งานตลอดเวลา บิลค่าไฟที่ส่งมาให้ในเดือนนั้น ๆ จึงสูงกว่าปกติ

อันตรายจากไฟรั่ว

3. จุดเสี่ยงไฟรั่ว

โดยทั่วไปแล้วจุดเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดไฟรั่วได้มากคือบริเวณที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าเป็นประจำ เช่น ปลั๊กตู้เย็นที่ต้องเสียบใช้งานตลอด, ปลั๊กต่อ ฯลฯ รวมถึงจุดที่อยู่ภายนอกบ้านและต้องสัมผัสกับน้ำและสภาพแวดล้อมอื่น ๆ เป็นประจำ อาทิ ปั๊มน้ำ รั้วไฟฟ้า โคมไฟ กริ่งประตูบ้าน เป็นต้น ยิ่งถ้าจุดเสี่ยงไหนต้องเจอกับน้ำบ่อย ๆ ถือว่าอันตรายมาก เพราะน้ำจะเป็นสื่อนำชั้นดีให้กับกระแสไฟที่รั่วออกมาจนอาจทำให้คนในบ้านโดนไฟดูดแบบไม่รู้ตัว

อีกจุดที่มีความเสี่ยงจะเกิดไฟรั่วได้คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือปลั๊กไฟที่ใช้งานมายาวนานมากๆ เนื่องจากโอกาสการเสื่อมสภาพมีสูง หากสังเกตว่าการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวแปลกไปหรือปลั๊กไฟเกิดรอยไหม้ รอยดำ แสดงว่าโอกาสเกิดไฟรั่วก็มีได้เช่นกัน

จุดเสี่ยงไฟรั่ว

4. วิธีสังเกต

วิธีง่ายที่สุดสำหรับบ้านไหนที่ไม่แน่ใจว่ากำลังเกิดปัญหาไฟรั่วหรือไม่ ให้ลองเดินไปดูที่มิเตอร์ไฟฟ้า หากคุณไม่ได้เปิดอุปกรณ์ไฟฟ้ามากกว่าปกติ แต่มิเตอร์หมุนเร็วก็แสดงว่ามีโอกาสเกิดไฟฟ้ารั่วในบางจุดของบ้านได้ แนะนำให้ซื้อไขควงเช็กไฟติดบ้านเอาไว้ แล้วลองเดินไปตามจุดปลั๊กไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ โดยใช้ไขควงแตะลงไป

การใช้ไขควงเช็กไฟคือให้จับด้ามที่เป็นพลาสติกแล้วหันด้านหัวแหลมเป็นโลหะไปจี้ตามจุด เช่น หากเป็นประเภทปลั๊กไฟให้แตะไปบริเวณรูปลั๊ก ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าให้แตะไปบริเวณที่เป็นโลหะ เมื่อแตะไปแล้วปรากฏว่าไฟสีบริเวณด้ามจับสว่างขึ้น หมายถึงอุปกรณ์ดังกล่าวกำลังมีไฟรั่ว

วิธีสังเกต

5. ถ้าไฟรั่ว ควรแก้ไขอย่างไร

เมื่อรู้ว่าจุดหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นไหนเกิดปัญหาไฟรั่วขึ้น อย่าให้คนในบ้านเข้าใกล้บริเวณดังกล่าวเป็นอันขาด ถ้าหากมีความรู้เรื่องไฟฟ้าก็สามารถซ่อมแซมแก้ไขเองได้ แต่ถ้าไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนี้ แนะนำให้เรียกช่างไฟเข้ามาช่วยจัดการปัญหาให้ เพราะเรื่องไฟฟ้าจำเป็นต้องให้คนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญจริงๆ จัดการ เนื่องจากความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายมีสูงมาก

เมื่อแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้วควรให้ช่างไฟช่วยวัดกระแสไฟให้อีกครั้งว่าสามารถใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวได้ตามปกติหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดอันตรายอื่น ๆ ตามมา แต่ถ้าหากอุปกรณ์ชิ้นไหนใช้งานมานานมากแล้ว แนะนำให้เปลี่ยนใหม่ดีกว่าซ่อม เพราะโอกาสที่จะเกิดเหตุไฟรั่วในครั้งถัด ๆ ไปก็มีสูง การป้องกันเอาไว้ก่อนเกิดเหตุจะดีที่สุด

ถ้าไฟรั่วแล้วควรแก้ไขอย่างไร

6. การป้องกันการเกิดไฟรั่ว

ให้ติดตั้งสายดินไว้ในตัวบ้านระหว่างการปลูกสร้าง ซึ่งสายดินนี้จะต้องใช้ร่วมกับปลั๊กไฟ 3 รู และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีหัวปลั๊ก 3 ขา เมื่อเกิดกระแสไฟรั่วขึ้นจากอุปกรณ์ดังกล่าว ไฟฟ้าก็จะไหลไปตามสายดินลงสู่พื้นดิน ไม่เกิดอันตรายกับคนในบ้าน

ให้ติดตั้งอุปกรณ์ตัดไฟฟ้าเมื่อเกิดเหตุไฟรั่ว เมื่อใดที่ไฟฟ้ามีการช็อตหรือรั่วออกมา เครื่องดังกล่าวจะตัดกระแสไฟทั้งหมดของบ้านทันที

กรณีที่ไม่แน่ใจว่าเกิดไฟรั่วในบ้าน ให้มีแผ่นฉนวนไฟฟ้าติดเอาไว้ เช่น แผ่นยาง พลาสติก แผ่นไม้ แล้วลองเอาไปวางไว้ในบริเวณที่จะเช็กไฟฟ้าเพื่อป้องกันการโดนไฟดูด เมื่อเช็กแล้วว่ามีไฟรั่วจริงก็ให้รีบเรียกช่างไฟเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้

การป้องกันจากไฟรั่ว

7. เครื่องตัดไฟรั่ว

เลือกปริมาณพิกัดของเครื่องตัดไฟฟ้าให้เหมาะกับระดับกระแสไฟภายในบ้าน หากน้อยเกินไปเมื่อเกิดไฟรั่วจริง ๆ เครื่องจะไม่ทำงาน แต่ถ้าหากมากเกินไปแล้วกระแสไฟที่เกิดขึ้นมากเกินพิกัดจะทำให้เกิดความเสียหาย ต้องเลือกให้สามารถปรับระดับกระแสไฟที่รั่วไหลออกมาได้ด้วย เนื่องจากสภาพความชื้นของแต่ละบ้านไม่เท่ากัน ระดับความเร็วในการตัดไฟรั่วต้องไม่เกิน 0.04 วินาที และควรเลือกเครื่องตัดไฟรั่วที่ได้มาตรฐานรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เพื่อความมั่นใจเมื่อนำไปใช้งาน

เครื่องตัดไฟรั่ว

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของปัญหา “ไฟรั่ว” ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับบ้านทุกหลัง หากรู้ถึงสาเหตุพร้อมวิธีแก้ไขอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงและพร้อมรับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ทุกคนปลอดภัย ไม่มีผู้ได้รับอันตราย ไม่เสียทรัพย์สิน และไม่เสียชีวิต

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร