Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ไม้อัดคืออะไร? แผ่นไม้สารพัดประโยชน์จริงหรือ?

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ไม้อัดเป็นแผ่นไม้ประเภทหนึ่งที่หลายๆ คนรู้จักดี มีการนำไม้อัดมาใช้อย่างกว้างขวางในงานไม้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำเฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งบ้านทั้งภายใน และภายนอก แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าไม้อัดนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ชนิดเดียว ไม้อัดสามารถแบ่งย่อยได้เป็นอีกหลายประเภทตามรูปแบบการผลิต และวัสดุที่นำมาผลิต ดังนั้นการที่จะเลือกซื้อไม้อัดจำเป็นต้องรู้ว่าควรใช้ไม้อัดประเภทไหนเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการที่จะนำไม้อัดมาใช้มากที่สุด

ไม้อัดคืออะไร?

ไม้อัด (Plywood) เป็นการนำไม้แผ่นบางๆ หลายแผ่นมาซ้อนทับกัน โดยไม้แผ่นบางนั้นได้มาจากการปอก หรือการผ่าไม้ซุง จากนั้นจึงนำแผ่นไม้บางๆ ที่ได้มาวางในลักษณะขวางกันสลับไปมา แล้วอัดด้วยกระบวนการต่างๆ เพื่อทำให้ไม้แผ่นบางหลายๆ ชั้นกลายเป็นไม้แผ่นเดียวขึ้นมานั่นเอง การที่ต้องวางแผ่นไม้ในลักษณะที่ขวางกันไปมานั้นเพราะว่าจะช่วยทำให้ไม้อัดที่ได้นั้นแข็งแรงขึ้น รวมไปถึงลดการหดตัวของไม้ได้อีกด้วย โดยจำนวนขั้นจะมีตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป และเป็นจำนวนเลขคี่เสมอ

ไม้อัดคือ

ไม้อัดมีกี่ประเภท?

ไม้อัดนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลักๆ ตามกระบวนการผลิต และคุณภาพ ซึ่งไม้อัดทั้ง 3 ประเภทนั้นถูกนำมาใช้งานในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งไม้อัดทั้ง 3 ประเภทได้แก่

1. ไม้อัดปาติเกิล

เป็นไม้อัดที่เกิดจากการนำเศษไม้ต่างๆ ไม่ใช่การใช้ไม้แผ่น ซึ่งเศษไม้เหล่านั้นเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “ขี้เลื่อย” นั่นเอง นำมาผสมกันแล้วใช้กาวเป็นตัวประสาน จากนั้นผ่านกรรมวิธีต่างๆ ในการบดอัดจนกลายเป็นแผ่นไม้ แล้วปิดหน้าไม้ด้วยกระดาษพิมพ์ลายไม้ หรือวัสดุอื่นๆ อย่างเช่นแผ่นเมลามีน มีราคาถูก และคุณภาพต่ำที่สุดในบรรดาไม้อัดทั้ง 3 ชนิด

2. ไม้อัด MDF (Medium-Density Fiberboard)

หรือมีชื่อเรียกภาษาไทยว่า “แผ่นใยไม้อัดมีความหนาแน่นปานกลาง” เป็นแผ่นไม้อัดที่ใช้ขี้เลื่อยจากไม้ประเภทต่างๆ มาทำผ่านกระบวนการอัดเช่นเดียวกับไม้อัดปาติเกิล แต่เป็นการบดอัดด้วยแรงดันที่สูงพร้อมความร้อน ทำให้เนื้อไม้มีความละเอียด แน่น และแข็งแรงกว่าไม้อัดแบบปาติเกิล แต่ก็ยังปิดผิวหน้าไม้ด้วยวัสดุต่างๆ เช่นเดียวกัน วัสดุที่นิยมนำมาปิดผิวหน้าของไม้อัด MDF ก็คือ กระดาษ เมลามีน ลามิเนต รวมไปถึงการพ่นสีทับหน้าไม้อีกด้วย

3. ไม้อัด (Plywood)

ไม้อัดประเภทนี้ถือว่าเป็นไม้อัดคุณภาพดีที่สุดในจำนวนไม้อัดทั้ง 3 ประเภท เพราะเป็นการนำแผ่นไม้จริงมาเข้ากระบวนการแปรรูปไม่ใช่การนำขี้เลื่อยมาอัด ซึ่งไม้อัดประเภทนี้สามารถทำได้จากไม้หลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ไม้ยาง ไม้สัก ไม้แอช ไม้เมเปิ้ล รวมไปถึงมีการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษลงไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกันน้ำ หรือการกันแมลงที่กินเนื้อไม้อย่างเช่นปลวกและไม้อัดประเภทนี้ยังมีการแบ่งประเภทเป็นชนิดที่ใช้งานภายนอก ใช้งานภายใน และใช้งานชั่วคราวอีกด้วย  

ประเภท

ไม้อัดมีขนาดใดบ้าง?

ขนาดของไม้อัดนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของไม้อัด และความต้องการในการนำไปใช้งาน ซึ่งไม้อัดแต่ละประเภทก็มีขนาดของความหนาที่ต่างกัน ส่วนความกว้างและความยาวนั้นจะเป็นขนาดมาตรฐานคือ กว้าง 122 ซ.ม. ยาว 244 ซ.ม. หรือ กว้าง 4 ฟุต ยาว 8 ฟุตนั่นเอง ส่วนความหนาของไม้อัดประเภทต่างๆ นั้น ไม้อัดปาติเกิลจะมีความหนาอยู่ที่ 9- 25 มิลลิเมตร, ไม้อัด MDF จะมีความหนาอยู่ที่ 3 – 25 มิลลิเมตร ส่วนไม้อัด Plywood จะมีความหนาอยู่ที่ 3 – 20 มิลลิเมตร และที่สำคัญคือไม้อัดส่วนมากนั้นจะไม่มีการตัดแบ่งขาย ต้องซื้อยกแผ่นเท่านั้น 

ขนาด

ไม้อัดราคาเท่าไหร่?

ราคาของไม้อัดแต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างกัน ถึงแม้จะเป็นไม้อัดประเภทเดียวกันแต่ถ้ามีความหนาต่างกันก็จะมีราคาที่แตกต่างกันไป รวมถึงวัสดุที่ใช้เคลือบหน้าไม้ก็ทำให้ไม้อัดมีราคาไม่เท่ากันอีกด้วย อย่างเช่น ไม้อัดปาติเกิลแบบไม่เคลือบหน้าไม้ความหนา 9 ม.ม. จะมีราคาประมาณ 215 บาท ถ้าความหนา 25 ม.ม. จะมีราคาประมาณ 480 บาท

ส่วนถ้าเป็นไม้อัด MDF แบบไม่เคลือบหน้าไม้ ขนาด 3 ม.ม. จะมีราคา 100 บาท ถ้ามีความหนา 12 ม.ม.จะมีราคา 340 บาท

สำหรับไม้อัด Plywood นั้นจะเป็นประเภทของไม้อัดที่มีราคาแพงที่สุด ไม้อัด Plywood ที่ทำมาจากไม้ยางเกรด AAA ความหนา 6 ม.ม. จะมีราคา 435 บาท ถ้าความหนา 20 ม.ม. จะมีราคา 1000 บาท ดังนั้นการเลือกซื้อไม้อัดควรเลือกประเภท และความหนาให้เหมาะสม เนื่องจากมีราคาที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทมากพอสมควร

ราคา

ไม้อัดผสมสารแร่คืออะไร?

ไม้อัดผสมสารแร่นั้นเป็นไม้อัดประเภทหนึ่งที่มีการผสมสารแร่ต่างๆ ลงไปในกระบวนการผลิตเพื่อให้ไม้อัดนั้นมีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยนิยมผสมซีเมนต์ หรือยิปซั่มลงไปในกระบวนการอัดไม้ ทำให้ไม้อัดนั้นมีความแข็งแรง และทนกับความชื้นได้มากกว่าไม้อัดแบบที่เป็นไม้ล้วน โดยไม้อัดประเภทนี้นิยมใช้ในงานก่อสร้าง หรืองานตกแต่งต่างๆ เพราะสามารถทนกับความชื้นได้ดีกว่านั่นเอง

ไม้อัดผสมสารแร่

กั้นห้องด้วยไม้อัดต้องทำอย่างไรบ้าง?

งานอีกหนึ่งประเภทที่นิยมใช้ไม้อัดมาทำคือการกั้นห้อง เนื่องจากไม้อัดนั้นมีน้ำหนักเบา มีความทนทานมากพอสมควรเมื่อใช้สำหรับงานภายใน การกั้นห้องด้วยไม้อัดนั้นสามารถทำได้ด้วยตัวเองเพียงแค่ต้องมีฝีมือในทางด้านงานช่างพอสมควร และมีอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ครบถ้วน คำแนะนำคือถ้าไม่มีความสามารถทางด้านการทำงานช่าง และมีอุปกรณ์ไม่ครบแล้วไม่ควรทำเอง ควรจ้างช่างมาทำจะเป็นการสะดวกกว่า แต่ถ้าต้องการทำเองก็สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้

เริ่มจากวัดขนาดพื้นที่ การกั้นห้องนั้นต้องรู้ขนาดของพื้นที่ซึ่งต้องการกั้นก่อน ขนาดของพื้นที่คือการวัดความกว้าง และสูง ของบริเวณที่ต้องการกั้นเพื่อที่จะคำนวณว่าต้องใช้ไม้อัด และไม้โครงเป็นจำนวนประมาณเท่าไหร่

เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อรู้ขนาดพื้นที่แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์ ซึ่งพื้นที่ขนาด 3 x 3 เมตรต้องใช้ไม้อัด 7 แผ่น (หน้า – หลัง) ไม้โครง 2 มัด ( 20 ชิ้น ) รวมไปถึงอุปกรณ์สำหรับงานช่างอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ตลับเมตร เลื่อย ค้อน ตะปู สว่านไฟฟ้า ไขควง พุก กระดาษทราย ตะปูเกลียว ไม้วัดระดับน้ำ ถ้าต้องการติดตั้งประตูก็ต้องมี วงกบประตู บานประตู ลูกบิด

การติดตั้งโครง การที่จะกั้นห้องได้นั้นต้องมีโครงภายในก่อน ขั้นตอนแรกคือนำไม้โครงมาขึ้นให้เป็นโครงชิดผนัง และเพดานให้ครบทั้ง 4 ด้านป็นกรอบขึ้นมาก่อน โดยจะใช้วิธียึดไม้โครงกับผนังอย่างไรก็อยู่ที่วัสดุที่เป็นผนังนั่นเอง ถ้าเป็นผนังปูนก็ต้องใช้สว่านเจาะ ฝังพุก และใช้ตะปูเกลียวยึด ถ้าเป็นผนังไม้ก็สามารถใช้ตะปูเกลียว หรือตอกตะปูยึดได้เลย จากนั้นก็ตั้งโครงแนวตั้งและ แนวขวาง โดยควรมีระยะห่างระหว่างโครงประมาณ 60 ซ.ม. ทั้งแนวตั้งและแนวขวาง 

ซึ่งระยะห่างนี้จะเท่ากับรอยต่อของไม้อัดแต่ละแผ่นพอดี และในตัวอย่างคือการกั้นห้องขนาด 3 x 3 เมตร ซึ่งไม้โครงนั้นมีขนาดยาวไม่พอ เนื่องจากไม้โครงมาตรฐานจะยาวที่ 2.40 เมตร ต้องทำการต่อไม้โครงให้แน่นหนาด้วย  

การติดผนังไม้อัด ในกรณีจะกล่าวถึงการติดผนังโดยที่ไม่มีประตู การนำไม้อัดติดกับโครงที่ทำรอไว้นั้นให้ติดไม้อัดทั้งแผ่นเข้าไปเลย โดยให้ไม้อัดเริ่มจากมุมใดมุมหนึ่ง และให้ไม้อัดนั้นชิดด้านล่างเสมอ ส่วนพื้นที่ด้านบนที่ว่างนั้นค่อยใช้เศษไม้อัดที่ตัดออกไปแปะให้เต็ม เมื่อติดไม้อัดไปครบ 2 แผ่นแล้ว ไม้อัดแผ่นที่ 3 จะกว้างกว่าพื้นที่ที่เหลือ ให้ตัดไม้ให้พอดีกับพื้นที่แล้วนำเศษที่ตัดออกไปแปะด้านบนนั่นเอง

การยึดไม้อัดเข้ากับโครงก็สามารถใช้ได้ทั้งตะปู หรือตะปูเกลียว ทำอย่างนี้ทั้ง 2 ด้าน การกั้นห้องด้วยไม้อัดก็เสร็จเรียบร้อย ถ้ามีการติดตั้งประตูก็ต้องเว้นพื้นที่สำหรับใส่ประตู รวมถึงต้องทำโครงเพิ่มเติมเพื่อรับน้ำหนักของประตูด้วย

กั้นห้อง

จากบทความนี้จะเห็นได้ว่าไม้อัดที่เราเห็นอยู่ทั่วไปนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย การทำความเข้าใจถึงคุณลักษณะของไม้อัดแต่ละประเภทนั้นจะช่วยให้ตัดสินใจเลือกไม้อัดมาทำงานได้อย่างมีความเข้าใจ และใช้ไม้อัดได้อย่างถูกประเภท ส่วนการกั้นห้องด้วยไม้อัดนั้นอย่างที่แนะนำไปว่าถ้าไม่มีความพร้อมไม่ควรทำเอง เพราะอาจจะติดตั้งได้ไม่แข็งแรงพอ รวมถึงงบประมาณจะบานปลายอีกด้วย 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร