Highlights:
ปัจจัยการอยู่อาศัยไม่ได้มีเพียงแค่ ตึก! หรือตัวอาคาร เท่านั้น แต่คือ “การใช้ชีวิต” ในหนึ่งวันชีวิตของเราประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย และกิจกรรมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การทำงาน การพักผ่อน บางคนอาจจะมีการเข้าคอร์สออกกำลังกาย หรือทำโน้นทำนี่อีกสารพัด แต่ที่ขาดไม่ได้ คือเรื่องของการ กิน! กิน! กิน!
ถ้าเลือกที่อยู่ไม่ดีอาจต้องกลับไปตายรังที่ร้านค้าสะดวกซื้อใกล้บ้านทุกวัน เรื่องของการกินจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม You Are Where You Eat … ภาษิตที่ไม่ตรงกับที่เคยเรียน แต่เป็นจริงในโลกใบนี้เสมอ ดังนั้นถ้าอยากจะมีชีวิตดีๆ อย่ามองข้ามเรื่องปากท้องของตัวคุณเองนะครับ
การพัฒนาเมืองในยุคใหม่มีการคำนึงถึงเรื่องการดำเนินชีวิตของผู้คนโดยรอบพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ ปฎิสัมพันธ์ของอสังหาริมทรัพย์กับอาหารเป็นเรื่องที่นักพัฒนาพื้นที่ให้ความสนใจ โดยมองว่าหนึ่งในหลักเกณฑ์ของการพัฒนาเมืองคือ “การพัฒนาโดยยึดเอาวัฒนธรรมอาหารเป็นศูนย์กลาง” (Food-Centric residential development) แนวคิดนี้เชื่อว่าครัวเรือนจะมีการกระจุกตัวรอบศูนย์กลางทางด้านอาหาร (บริเวณซึ่งมีร้านอาหารหนาแน่น) การกระจุกตัวเกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ คือ กระจุกตัวในพื้นที่ที่มีความหลากหลายของอาหารสูง และการกระจุกตัวในย่านที่มีอัตลักษณ์ของอาหารที่ชัดเจน พื้นที่เหล่านี้มักจะมีวัฒนธรรม ศิลปะ และกิจกรรมโดดเด่นเฉพาะตัว)
ท้ายสุดลักษณะทางกายภาพ สภาพแวดล้อม บรรยากาศของพื้นที่ จะก่อให้เกิดการอยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ “CULTIVATING DEVELOPMENT Trends and Opportunities at the Intersection of Food and Real Estate reported by Urban Land Institute”
การศึกษาไลฟ์สไตล์ของคนในยุค Big Data ทำให้มองเห็นภาพเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดย Baania ได้นำเอาข้อมูลร้านอาหารกว่า 60,000 ร้าน ในกรุงเทพมหานคร มาวิเคราะห์เพื่อหาพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของวัฒนธรรมอาหารด้วยเทคนิค Spatial Smoothing ทำให้เราเห็นสัญชาติของพื้นที่ ผ่านวัฒนธรรมการกินของคนในบริเวณนั้น ด้วยข้อมูลมหาศาลที่บาเนียใช้ ทำให้เราเห็นแม้กระทั่งย่านเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ แต่เข้มข้นไปด้วยวัฒนธรรมการกิน การอยู่อาศัย และการใช้ชีวิตของคนสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของ "มองเมืองด้วยเรื่องกิน" เพราะเราเชื่อทุกประเด็นที่เกิดขึ้นสะท้อนมาจากคนที่กินอยู่ในพื้นที่นั้น
สัญชาติแรกที่เราจะพาทุกท่านมองดูด้วยกัน ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล ญี่ปุ่นซัง เพื่อนสนิทมิตรที่รักของคนไทยนี่แหละครับ วัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้ามาปะปนในเมืองไทยมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การ์ตูน ข้าวของเครื่องใช้ สไตล์การตกแต่งห้อง ไปจนถึงอาหารการกิน แม้แต่ตลาดนัดยังมีซูชิขายกันเป็นเรื่องที่กลมกลืนมากในสังคมไทย รู้หรือไม่ว่าในกรุงเทพฯ มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากกว่า 4,000 ร้าน
เริ่มที่ย่านที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่หนาแน่นที่สุดในกรุงเทพฯ นั่นก็คือ สยาม!!
แจแปนนีสทาวน์@สยาม คุณจะได้พบกับที่เที่ยวชิค ชิค แหล่งกินสำคัญตามกระแสวัยรุ่นในเมือง สยามสแควร์เต็มไปด้วยห้างร้านมากมาย และแต่ละห้างก็มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากกว่าร้านอาหารไทยเสียอีก นอกจากความเป็นญี่ปุ่นจะไม่ได้เป็นแค่เพียงการแทรกซึมเข้ามาในฐานะร้านอาหารเท่านั้น แต่ในบางพื้นที่ถึงกลับพลิกผันย่านนั้นๆ ไปได้เลยทีเดียว
แจแปนนีส@ทองหล่อ นี่แหละครับตัวอย่างย่านที่พลิกโฉมขนานใหญ่
ย่านที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นหนาแน่นเป็นอันดับที่ 2 แต่ต้องยอมรับว่าทองหล่อนี้มีความเป็นญี่ปุ้นนน ญี่ปุ่น ด้วยร้านรวงต่างๆ ที่เน้นให้บริการลูกค้าญี่ปุ่นโดยตรง ป้ายและเมนูต่างก็มีภาษาญี่ปุ่นกำกับไว้หมด เอ๊ะ! หรือต้องบอกว่า ดีที่ยังเขียนภาษาไทยกำกับไว้ให้มากกว่า
ทองหล่อ เป็นอีกย่านหนึ่งที่มีความน่าอยู่ระดับไฮเอนด์ ด้วยความสะดวกในการเดินทางและไม่ไกลจากแหล่งธุรกิจพาณิชยกรรมใจกลางเมือง สามารถนั่งรถไฟฟ้าไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ความคึกคักของย่านที่ผสมผสานความหลากหลายของผู้คนและไลฟ์สไตล์ที่นี่ ทำให้คอนโดย่านทองหล่อ(ภาพด้านบน) จึงได้รับความนิยมในระดับติดท็อปชาร์จ โดยมีราคากลางเริ่มต้นประมาณ 6.40 ล้านบาท/ยูนิต และมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 7.67 ล้านบาท/ยูนิต
แจแปนนีส@สีลม
สีลมซอย 2 หรือซอยธนิยะ วอล์คกิ้งสตรีทยามเย็นเกิดขึ้นมาเพื่อเอาใจคนญี่ปุ่นแท้ๆ ไล่มาตั้งแต่ระดับมนุษย์เงินเดือนยันผู้บริหารเลยทีเดียว คนญี่ปุ่นเวลาทำงานก็จริงจังแต่เมื่อเลิกงานก็อยากจะผ่อนคลายให้เต็มที่ ธนิยะจึงเต็มไปด้วยร้านอาหารและเอนเตอร์เทนเมนต์ยาวตลอดทั้งซอย
ตลาดที่อยู่อาศัยสีลมแท้ๆ ค่อนข้างจะหายาก เนื่องจากว่าเป็นย่านธุรกิจ จึงเป็นอาคารสำนักงานซะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่อยู่อาศัยจึงต้องหลบออกมาอีกหน่อย อย่างทางสามย่าน หลังสวน หรือถัดเข้าไปในซอยอย่างศาลาแดง หรือบนถนนสีลมที่เลยแยกนราธิวาสไปก่อน
สำหรับราคาคอนโดมิเนียมย่านสีลม(ภาพด้านบน) มีราคากลางประมาณ 6.2 ล้านบาทต่อยูนิต หรือเฉลี่ยกว่า 11.8 ล้านบาท ที่ราคาแกว่งขนาดนี้ ก็เป็นเพราะราคาที่อยู่อาศัยย่านนี้มีช่วงราคาที่กว้างมากๆ มีคอนโดมิเนียมที่ราคาสูงลิ่วอยู่หลายโครงการ อาทิ เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก คอนโดที่อยู่บนตึกที่รู้จักกันในชื่อนาม ตึกมหานคร รวมไปถึงโครงการอย่าง 185 ราชดำริ ก็รวมอยู่ในพื้นที่ของสีลมด้วยเช่นกัน
แจแปนนีส@พระราม 9 แหล่งธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ด้วยความเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ทำให้มีแรงดึงดูดชาวต่างชาติและไลฟ์สไตล์อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นอย่างดี แต่ด้วยความเป็นย่านสมัยใหม่หนุ่มสาวออฟฟิศขนาดนี้ร้านอาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการตามห้างหรือตามอาคารต่างๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น เซนทรัลพระราม 9 ฟอร์จูนทาวน์ เป็นต้น ที่แตกต่างออกไปหน่อย ก็คงจะเป็นตลาดละลายทรัพย์รัชดานี่แหละ แต่แม้จะไม่ได้อยู่ในตัวอาคารแต่ก็เป็นศูนย์การค้าที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่หลายร้านทีเดียว
คอนโดมิเนียมแถวย่านพระราม 9 - เพชรบุรี มีราคากลางอยู่ที่ 3.15 ล้านบาทต่อยูนิต หรือเฉลี่ย 3.4 ล้านบาทต่อยูนิต ราคาย่านพระราม 9 ย่อมเยากว่า 2 ย่านที่ผ่านมาพอสมควรเลย ถ้าอยากจะอยู่ทำเลที่ไม่แพ้ใคร แต่ยังเหลือเงินในกระเป่าไว้คีบซูชิคำโตเข้าปากได้บ่อยๆ พระราม 9 ก็จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่บาเนียอยากนำเสนอเลยครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับแจแปนนีสทาวน์ทั้ง 4 ย่าน อาจจะคุ้นบ้างไม่คุ้นบ้าง แต่ก็เรียกได้ว่า แจแปนนีสทาวน์มักจะมากับแหล่งงานจริงๆ คิดจะมีไลฟ์สไตล์แบบญี่ปุ่น ก็ต้องจริงจังกันบ้าง จะมาเล่นๆ กันไม่ได้นะครับ เรื่องกินเราก็ไม่ทิ้งความจริงจังด้วยเช่นกัน รับรองได้ว่าถ้ามา 4 ย่านนี้ไม่ผิดหวังแน่นอน เพราะมีอาหารญี่ปุ่นหลากหลายสไตล์กินกันให้หนำใจไปเลย จบร้านหนึ่งต่ออีกร้านหนึ่งได้ทั้งวันแน่ๆ และถ้าอยากจริงจังกว่านั้น แจแปนนีสทาวน์ทั้ง 4 พื้นที่ ยินดีต้อนรับคุณมาเป็นลูกบ้านของเราอยู่นะครับ
またあいましょう。(อ่านว่า มาตะไอมาโซ)
แล้วพบกันใหม่นะครับ