Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เอกสารที่เจ้าของบ้านต้องรู้

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ก่อนจะก่อสร้างอาคารซักหลัง การขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน เพราะหากก่อสร้างอาคารโดยที่ไม่ได้ขออนุญาต เจ้าของบ้านจะมีความผิดตามกฎหมาย สามารถโดนเอาผิดย้อนหลังได้

วันนี้ทาง Baania จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการขอก่อสร้างอาคารสำหรับพักอาศัย รวมถึงอาคารพาณิชย์ มานำเสนอให้ทุกท่านทราบกันในบทความนี้

ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารคืออะไร

การก่อสร้างบ้านมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน ก่อนสร้างบ้าน เจ้าของบ้านต้องรวบรวมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และเขียนคำร้อง แล้วยื่นเรื่องขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เพื่อตรวจสอบมาตรฐานความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร ระยะร่นของถนน รวมการการเว้นระยะห่างกับชุมชนรอบข้าง เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยเอง รวมถึงเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกรอบข้าง เพื่อให้การก่อสร้างอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ และไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นที่อาศัยอยู่รอบบริเวณบ้าน เพราะหากการก่อสร้างทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ก็สามารถโดนยื่นร้องเรียนเพื่อให้มีคำสั่งระงับการก่อสร้างชั่วคราวได้

ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารขั้นตอนการขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและข้อควรระวัง

เมื่อเริ่มมีแผนจะสร้างอาคารบ้านเรือน เจ้าของบ้านจะต้องดำเนินการเพื่อขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และรอรับการพิจารณาจากทางการ โดยมีระเบียบวิธีการที่จะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

ขั้นตอนการขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร

  1. เริ่มต้นจากการรวบรวมเอกสารที่มีความจำเป็น และเขียนคำร้อง แล้วยื่นต่อเจ้าพนักงานประจำสำนักงานเขตในท้องถิ่น ในขั้นตอนนี้ควรยื่นเอกสารที่มีความจำเป็นมาอย่างครบถ้วน เพื่อยื่นให้ทางเจ้าพนักงานได้รับไปตรวจสอบ และพิจารณาตามความเหมาะสม หากเอกสารที่ยื่นมาไม่ครบถ้วน อาจจะส่งผลให้ไม่ผ่านการพิจารณา
  2. เจ้าพนักงานประจำสำนักงานเขตประจำท้องถิ่น จะตรวจสอบแบบแปลน โดยในพื้นที่ที่ได้มีการประกาศใช้กฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือกฎหมายผังเมืองบ้าน หรืออาคาร จะต้องมีการอนุญาตจากทางการ ก่อนเริ่มสร้างบ้าน และอาคาร โดยจะต้องก่อสร้างตามแบบแปลนที่ได้รับการอนุญาตแล้วเท่านั้น
  3. หลังจากมีการตรวจสอบคำร้อง เอกสารต่าง ๆ รวมถึงแบบแปลนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ยื่นคำร้องก็จะได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร แต่ในกรณีที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร อาจจะต้องมีการแก้ไขรายละเอียดบางส่วน ผู้ยื่นคำร้องจะต้องไปแก้ไขตามที่ทางเจ้าพนักงานได้แจ้ง และเมื่อแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้วให้นำเอกสาร และคำร้องมายื่นต่อเจ้าพนักงานประจำสำนักงานเขตในท้องถิ่นใหม่อีกครั้ง
  4. เมื่อผู้ยื่นคำร้องได้รับใบอนุญาตแล้ว นอกจากจะเก็บเอกสารฉบับจริงไว้แล้ว ควรทำสำเนาเก็บไว้ด้วย เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดการสูญหาย หรือเอกสารชำรุด จากนั้นให้ทางวิศวกร ผู้รับเหมา หรือบริษัทรับก่อสร้างบ้าน ได้ดำเนินงานก่อสร้างบ้านต่อไป

ข้อควรระวัง 

  • กรณีที่ระหว่างการก่อสร้างส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
    ในระหว่างที่มีการก่อสร้างอาคาร หากการก่อสร้างทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้อื่น ซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง เช่น เสียงดังเกินกำหนด หรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระหว่างก่อสร้าง จนมีเพื่อนบ้าน หรือผู้ที่อาศัยอยู่ละแวกใกล้เคียงไปยื่นร้องเรียน ทางหน่วยงานภาครัฐมีสิทธิ์สั่งให้หยุดก่อสร้างชั่วคราว จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย โดยทางการจะมีคำสั่งออกมาอีกครั้งว่าจะอนุญาตให้ก่อสร้างต่อ หรือให้ยุติการก่อสร้างอย่างถาวร 
  • กรณีที่ใบอนุญาตก่อสร้างสูญหาย
    เมื่อคุณได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารแล้ว แต่ถ้าใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเกิดการสูญหาย คุณต้องไปแจ้งความ แล้วนำใบรับแจ้งความมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ประจำท้องถิ่น เพื่อขอรับใบอนุญาตก่อสร้างใหม่อีกครั้ง
  • กรณีที่ใบอนุญาตก่อสร้างชำรุด
    เมื่อคุณได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารแล้ว แต่หากใบอนุญาตก่อสร้างอาคารมีการชำรุด และเป็นการชำรุดในสาระสำคัญของเอกสาร ให้คุณนำใบอนุญาตก่อสร้างอาคารใบนั้น ไปยื่นต่อเจ้าพนักงานประจำท้องถิ่น เพื่อขอรับใบแทนใบอนุญาต

ขั้นตอนการขอใบเอกสารที่ต้องใช้ในการขอใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน

เมื่อมีความต้องการจะขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เจ้าของบ้านจะต้องเตรียมเอกสารไว้ให้พร้อม ก่อนเข้าไปเพื่อยื่นขออนุญาตก่อสร้าง เพราะถ้าหากเตรียมเอกสารไปยื่นไม่ครบถ้วนตามที่ทางการกำหนด อาจจะส่งผลให้การยื่นขอไม่ผ่านการพิจารณา โดยมีเอกสารที่ต้องใช้ดังต่อไปนี้

  • เอกสารสำเนาบัตรประชาชน (ผู้ขออนุญาต และเจ้าของที่ดิน) จำนวนอย่างละ 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้าน (ผู้ขออนุญาต และเจ้าของที่ดิน) จำนวนอย่างละ 1 ชุด
  • เอกสารแสดงการครอบครองที่ดิน ได้แก่ สำเนาโฉนดที่ดิน หรือสำเนา นส.3 จำนวน 2 ชุด
  • แบบก่อสร้างแผนผัง และรายการประกอบแบบ จำนวนอย่างละ 5 ชุด
  • สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท

เอกสารหลักฐานเฉพาะเรื่อง

เอกสารหลักฐานที่ใช้เฉพาะเรื่อง ถ้าผู้ยื่นมีเอกสารเหล่านี้ ให้นำมายื่นต่อเจ้าพนักงานเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

  • หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดิน (กรณีสร้างอาคารในที่ดินของผู้อื่น)
  • ใบยินยอมจากเจ้าของที่ดิน (กรณีสร้างอาคารในที่ดินของผู้อื่น)
  • ใบยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารชิดที่ดิน
  • ใบรับรองของสถาปนิก
  • ใบรับรองของวิศวกร
  • ใบควบคุมงานของสถาปนิก
  • ใบควบคุมงานของวิศวกร
  • หลักฐานแสดงที่ดินใกล้เคียง (ในกรณีที่ใช้ผนังร่วมกัน หรือสร้างอาคารชิดแนวเขตที่ดิน)
  • สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียง
  • สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียง

เอกสารที่ต้องใช้การก่อสร้างบ้าน หรืออาคาร นอกจากต้องมีความพร้อมในเรื่องเงินทุนแล้ว สิ่งที่เจ้าของบ้านต้องดำเนินการก่อนเริ่มการก่อสร้าง คือยื่นเรื่องขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เพื่อให้ทางการได้ตรวจสอบ และพิจารณาตามความเหมาะสม โดยจุดมุ่งหมายของสิ่งนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันความผิดพลาดจากการก่อสร้างที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพื่อความปลอดภัยของเจ้าของบ้าน และเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง หากก่อสร้างอาคารโดยที่ไม่ยื่นเรื่องขออนุญาตอย่างเป็นทางการก่อน ผู้ที่ก่อสร้างจะมีความผิด และต้องรับบทลงโทษตามกฎหมาย

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร