ถ้าถามว่าวิวัฒนาการของการเดินทางของโลกนี้ไปถึงไหนกันแล้ว ก็คงต้องพูดถึงเทคโนโลยีที่เรียกว่า ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่สนใจของหลายประเทศในการเร่งพัฒนาให้สามารถใช้งานได้เป็นรายแรกของโลก และคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการเดินทางที่เราจะได้ใช้ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน Baania เลยอยากจะแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับไฮเปอร์ลูปให้มากขึ้น ส่วนมันเป็นอย่างไรบ้าง และ มันเร็วได้แค่ไหน ลองมาดูกันครับ
ผู้เริ่มต้นไอเดียการเดินทางแบบไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) คือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้ง PayPal, Tesla Mortors บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ, SpaceX บริษัทเอกชนที่จัดทัวร์เดินทางไปยังนอกโลก, SolarCity บริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นนำ และ การศึกษาการสร้างคอมพิวเตอร์ที่มีสมองคิดได้แบบมนุษย์กับบริษัท Neuralink ซึ่งเขากลายเป็นคนที่ถูกจับต่อมองในเรื่องนวัตกรรมในโลกอนาคตเป็นอย่างมากในยุคนี้ และแน่นอนว่าไฮเปอร์ลูปเองก็เริ่มต้นมาจากเขา
ไอเดียของไฮเปอร์ลูปนั้น เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2012 เมื่อ อีลอน มัสก์ พูดถึง รูปแบบการเดินทางที่ 5 ถัดจากการเดินทางด้วยรถ เรือ รถไฟ และ เครื่องบิน ในปีถัดมา อีลอน มัสก์ได้ตีพิมพ์เปเปอร์ที่กล่าวถึงการเดินทางรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าไฮเปอร์ลูป พร้อมด้วยภาพไอเดียเบื้องต้นและหลักการทำงานต่างๆ ซึ่งเปเปอร์ดังกล่าวเปิดให้สาธารณะสามารถเข้าถึงและเป็นการจุดประกายให้เกิดการศึกษาเทคโนโลยีนี้อย่างจริงจังในเวลาถัดมา
(อ่านเปเปอร์ Hyperloop Alpha White Paper ได้ที่นี่)
อย่างไรก็ตาม การเรื่องเดินทางด้วยวิธีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในเปเปอร์ของเขามีการกล่าวอ้างถึงงานของ Rand Corporation และ ET3 ที่ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1972 ซึ่งเป็นเปเปอร์เกี่ยวกับการเดินทางด้วยรถรางความเร็วสูง และเคยมีไอเดียการเดินทางผ่านท่อด้วยแรงยกตัวมาแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1812 เลยทีเดียว หากแต่ตอนนั้นเทคโนโลยียังไม่พัฒนาไปถึงจุดที่จะนำไปพัฒนาต่อได้
(อ่านเปเปอร์ The Very High Speed Transit System ได้ที่นี่)
Hyperloop คืออะไร?
ไฮเปอร์ลูป เป็นการเดินทางรูปแบบใหม่ที่มีการคิดค้นขึ้นมาและปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นการทดสอบเพื่อให้ใช้งานได้จริง โดยรูปร่างขอไฮเปอร์ลูปนั้น ตัวรถ หรือพ็อต(pod) จะมีรูปทรงเพรียวยาว สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 6 – 8 คน และ ใช้ขนส่งสินค้าได้ตามขนาดของตัวรถ โดยที่ไฮเปอร์ลูปจะเคลื่อนที่ไปในช่องทางที่มีลักษณะเป็นอุโมงค์โปร่งใสขนาดเล็ก และทำงานด้วยเครื่องยนต์มอเตอร์พัดลมไฟฟ้าที่จะสร้างลมพลังแรงสูงเพื่อยกตัวรถให้ลอยขึ้นจากรางด้วยแรงแม่เหล็ก ทำให้รถไร้แรงเสียดทานในการเคลื่อนที่ซึ่งทำให้รถสามารถเคลี่ยนที่ได้อย่างรวดเร็ว คล้ายๆกับการส่งจดหมายผ่านท่อสูญญากาศนั้นเอง
ตามข้อมูลทางเทคนิคระบุว่า ไฮเปอร์ลูปสามารถเดินทางได้ที่ความเร็วสูงสุดมากกว่า 700 ไมล์ต่อชั่วโมง คิดเป็นประมาณ 1,125 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือคิดง่ายๆว่ามีความเร็วสูงสุดประมาณ 18.75 กม.ต่อนาที ซึ่งจากสถิตินี้ ทำให้ไฮเปอร์ลูป จะเป็นระบบขนส่งมวลชนทางบกที่เร็วที่สุดหากมันสามารถทำตามนั้นได้จริงๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับรถไฟ Maglev (Magnetic Levitation) รถไฟความเร็วสูงที่ใช้หลักการเดียวกันในการอาศัยแรงแม่เหล็กในการยกตัวรถขึ้น มันก็ยังทำความเร็วจากการทดสอบได้แค่ 603 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
แล้วเราจะได้ใช้งาน Hyperloop กันเมื่อไหร่?
เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เนื่องจากเทคโนโลยีนี้กำลังอยู่ในขั้นทดสอบความเป็นได้อยู่ ซึ่งตอนนี้มี 2 บริษัทใหญ่ที่กำลังเร่งพัฒนาไฮเปอร์ลูปเพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง โดยมี Hyperloop One และ Hyperloop Transportation Technologies (HTT) เป็นผู้พัฒนาเทคโลโลยีนี้อยู่
ซึ่งความคืบหน้าในปัจจุบัน ทาง Hyperloop One เป็นเจ้าแรกที่ทดลองระบบนี้สำเร็จ และได้มีการทดสอบกับยานโดยสารชื่อว่า XP-1 ที่มีรูปทรงเป็นหัวกระสุนยาว 28 ฟุต สร้างจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์และอลูมินัม โดยให้วิ่งอยู่ในท่อสูญญากาศสำหรับทดสอบที่ถูกสร้างขึ้นใน DevLoop สถานที่ทดสอบในเนวาด้า ซึ่งแม้ว่าอาจจะยังทำความเร็วไม่ได้ตามที่ต้องการ แต่ก็สามารถการันตีเบื้องต้นได้ว่าเทคโนโลยีนี้มีความเป็นไปได้จริงๆ
ทั้งนี้ Hyperloop One มีแผนที่จะเปิดตัว 3 โปรเจคในปี 2021 หนึ่งในนั้นคือการนำไฮเปอร์ลูปไปใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองดูไบและอาบูดาบี โดยเป็นการจับมือกันระหว่าง Hyperloop One กับ The Dubai Roads and Transport Authority(RTA) หน่วยงานที่ดูแลด้านการคมนาคมขนส่งของดูไบ ซึ่งปกติแล้วการเดินทางทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงบนระยะทาง 159.4 กิโลเมตร แต่หากใช้ไฮเปอร์ลูปจะลดเวลาเหลือเพียง 12 นาทีเท่านั้น
สำหรับทาง Hyperloop Transportation Technologies (HTT) ก็ได้มีการเริ่มทดสอบเทคโนโลยีนี้เช่นเดียวกัน โดยมีการเปิดการแข่งขันทดสอบความเร็วของไฮเปอร์ลูปจากคนภายนอก ซึ่งทีมนักเรียน German's Warr team จาก Technical University of Munich สามารถทำความเร็วจากการทดสอบได้ 201 ไมล์ต่อชั่วโมง (324 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จากการทดสอบที่ศูนย์ทดสอบของ SpaceX ที่ฮาวธอร์น, แคลิฟอเนีย ซึ่งมากกว่าความเร็วที่ Hyperloop One ทำได้ในการทดสอบครั้งแรกที่ 192 ไมล์ต่อชั่วโมง (309 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
ทั้งนี้ HTT มีแผนจะเปิดให้บริการที่ประเทศอินเดีย โดยทาง HTT จับมือกับ รัฐบาลของรัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) ทำเส้นทางเชื่อมต่อเมือง อัมราวาตี และ วิชัยวาทะ ซึ่งก็คงต้องดูว่า 2 บริษัทใหญ่ผู้ริเริ่มทดสอบเทคโนโลยีนี้ จะเป็นผู้ทำสำเร็จก่อนกัน
สำหรับในประเทศอื่นๆ ก็เริ่มมีการวางแผนและจับมือกับสตาร์ทอัพอย่าง Hyperloop One และ HTT รวมไปถึงการเริ่มต้นศึกษาไฮเปอร์ลูปเพื่อแข่งขันกันเป็นผู้นำของเทคโนโลยีนี้ อย่างเช่น อเมริกา แคดานา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ ยิ่งไปกว่านั้นทางประเทศจีนก็มีแผนจะพัฒนาไฮเปอร์ลูปของตัวเองเช่นเดียวกัน โดย The state-owned China Aerospace Science and Technology Corporation (CASC) ตั้งเป้าว่าจะสร้างไฮเปอร์ลูปที่เร็วกว่า 2,500 ไมล์ต่อชั่วโมงเลยทีเดียว นับว่าเร็วกว่าเป้าหมายของรายอื่นอยู่มากทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การมาถึงของไฮเปอร์ลูป อาจจะทำให้การเดินทางด้วยพาหนะอื่นถูกหยุดหรือชะลอโครงการลง เช่น โครงการถไฟความเร็วสูง (HS2) หรือ รถไฟ Maglev ที่วางแผนจะเปิดตัวหลังจาก 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ไฮเปอร์ลูปวางแผนจะเปิดตัว เนื่องจากแต่ละรัฐหรือประเทศอาจจะต้องการทุ่มงบประมาณเพื่อไปลงทุนกับไฮเปอร์ลูปที่มีความทันสมัยกว่านั้นเอง
แล้วสำหรับประเทศไทยล่ะ?
คำถามนี้อาจจะตอบง่ายๆว่าอาจจะต้องรอกันอีกนานเลยครับ เพราะคงต้องรอให้เทคโนโลยีนี้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกก่อน อนึ่งเพราะประเทศไทยนั้นสามารถเดินทางด้วยพาหนะอย่างอื่นได้อย่างหลากหลาย ถ้าต้องการความรวดเร็วก็ใช้เครื่องบิน และต่อไปก็จะมีรถไฟความเร็วสูงด้วย วันที่บ้านเราจำเป็นต้องใช้เทคโลโนยีไฮเปอร์ลูปนี้จริงๆ อาจจะช้ากว่าประเทศใหญ่ๆที่รัฐแต่ละรัฐห่างกันมาก ทำให้เรื่องการเดินทางเป็นเรื่องที่สำคัญกว่ามาก
แต่หากบ้านเรามีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) จริงๆ ลองคิดง่ายๆว่า ถ้าสามารถเดินทางจากกรุงเทพ ไป เชียงใหม่ได้ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง โดยที่เร็วกว่าเครื่องบินซะอีก มันจะสะดวกขึ้นมากแค่ไหน?
ที่มาและภาพประกอบ:
http://hyperloop.global, https://hyperloop-one.com
http://www.techradar.com, http://www.bbc.com
http://www.independent.co.uk 1 | 2
http://www.liverpoolecho.co.uk, http://www.alphr.com
https://www.digitaltrends.com