ที่อยู่อาศัยมีหลายรูปแบบ มีทั้งเป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม หรือเป็นทั้งที่อยู่อาศัยคู่กับพาณิชยกรรมหรือสำนักงานไปในตัว เช่น ตึกแถวและโฮมออฟฟิศ
นอกจากนั้นยังแบ่งเป็นรูปแบบการถือครอง เช่น การซื้อขาด การเช่าซื้อ หรือการเช่าทั้งระยะยาวและระยะสั้น
สำหรับเหตุผลในการเลือกประเภทที่อยู่อาศัยก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละครัวเรือน เช่น ทัศนคติ ทำเลที่ตั้ง ราคา ความต้องการใช้งาน บรรยากาศของชุมชน เป็นต้น ทำให้ลักษณะของที่อยู่อาศัยมีความแตกต่างกันไป อีกทั้งผู้คนในแต่ละประเทศก็ยังมีความคิดแตกต่างกันตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย
สหรัฐอเมริกา
ความฝันของคนอเมริกันคือการมีบ้านเดี่ยวอยู่ในชุมชนชั้นดีชานเมือง มีรถยนต์ขับเข้ามาทำงานกลางเมือง และไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก จาก The U.S. Census Bureau ปี 2010 ระบุว่า ภาพรวมของอเมริกามีที่การอยู่อาศัยแบบบ้านเดี่ยว 63.2% บ้านแฝดแบบครัวเรือนเดี่ยว 7.4% ส่วนที่อยู่อาศัยแบบหลายครัวเรือนในอาคารเดียวกันมี 20.5% เมื่อพิจารณาเฉพาะมหานครต่าง ๆ ก็พบว่ามีสัดส่วนของที่อยู่อาศัยแบบบ้านเดี่ยวเป็นจำนวนมาก
อังกฤษ
อังกฤษที่มีพื้นที่เล็กกว่าอเมริกามาก ข้อมูลจาก UK Office for national statistics ปี 2011 ระบุว่า มีบ้านเดี่ยวเพียง 22.73% บ้านแฝด (ใช้ผนังติดกับบ้านข้างๆ เพียงด้านเดียว) 31.26% บ้านแถว (ใช้ผนังติดกับบ้านข้าง ๆ ทั้งสองด้าน) 24.64% รวมที่อยู่อาศัยแบบครัวเรือนเดี่ยวในอาคารหลังเดียวมีถึง 78.57% ส่วนที่อยู่อาศัยรวมแบบแฟลต อพาร์ตเม้นต์ และคอนโดมิเนียมมีประมาณ 20% แต่ในมหานครลอนดอนซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค มีความหนาแน่นอาคารและประชากรสูงมาก จึงมีบ้านเดี่ยวเพียง 6.28% บ้านแฝดอีก 18.90% และบ้านแถว 23.16% ส่วนที่อยู่อาศัยแบบรวมกลุ่มมีมากถึง 48.80% หรือประมาณครึ่งหนึ่งของพลเมืองลอนดอนที่อาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยแบบหลายครัวเรือนในอาคารหลังเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในรูปแบบการอยู่อาศัยอย่างชัดเจนระหว่างค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีที่อยู่อาศัยแบบครัวเรือนเดี่ยวในอาคารหลังเดียวจำนวนมาก กับมหานครลอนดอนที่มีที่อยู่อาศัยแบบครัวเรือนเดี่ยวในบ้านหลังเดียวน้อย แต่มีการอยู่อาศัยแบบกลุ่มมากถึงครึ่งหนึ่งของที่อยู่อาศัยทั้งหมด
ประเทศไทย
หันมาดูประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานไว้ในสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2553 ว่า ประเทศไทยมีที่อยู่อาศัยแบบบ้านเดี่ยวถึง 77.3% ทาวน์เฮ้าส์และบ้านแฝดอีก 7.3% รวมแล้วมีที่อยู่อาศัยแบบครัวเรือนเดี่ยวในอาคารหลังเดียวถึง 84.6% ส่วนที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัยแบบกลุ่มอีก 15.4% แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีบ้านเดี่ยวเพียง 45.7% ทาวน์เฮ้าส์และบ้านแฝด 25.3% ที่น่าสนใจคือมีที่อยู่อาศัยประเภทตึกแถว ห้องแถว และเรือนแถวถึง 25.6% สะท้อนถึงการอยู่อาศัยในรูปแบบที่ต้องการพื้นที่ดินขนาดเล็กในเขตเมืองที่สามารถรองรับทั้งการอยู่อาศัยและพาณิชยกรรมได้ในตัวเอง
สรุป
จากการพิจารณาสัดส่วนที่อยู่อาศัยแต่ละประเทศสรุปได้ว่า ภาพรวมของทั้งประเทศแสดงถึงการอยู่อาศัยแบบครัวเรือนเดี่ยวในอาคารหลังเดียวเป็นหลัก โดยมีบ้านเดี่ยวเป็นประเภทที่อยู่อาศัยที่มีสัดส่วนมากที่สุด เพราะมีความเป็นส่วนตัวสูง มีพื้นที่โล่งกว้าง และมีพื้นที่สีเขียวอยู่ในแปลงที่ดินของตนเอง จึงเหมาะสมต่อการพักอาศัย พักผ่อนหย่อนใจ และเลี้ยงดูบุตรหลานให้เติบโตมาในพื้นที่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่สำหรับมหานครต่างๆ พบว่าที่อยู่อาศัยแบบกลุ่ม หลายครัวเรือนอยู่ในอาคารหลังเดียวกันมีสัดส่วนสูง เนื่องจากมีประชากรกระจุกตัวอยู่อย่างหนาแน่นส่งผลให้ขาดแคลนทรัพยากรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย และยังต้องนำที่ดินบางส่วนไปใช้เพื่อพาณิชยกรรมและการบริการต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนด้วย ทำให้เกิดความแออัดและคุณภาพชีวิตอาจไม่ได้มาตรฐาน จึงควรมีการจัดสรรพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น มีสวนสาธารณะ มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจรวม เพื่อชดเชยองค์ประกอบที่เคยเป็นพื้นที่ส่วนตัวในบ้านเดี่ยว แต่ถูกตัดทอนไปเมื่อเปลี่ยนรูปแบบที่อยู่อาศัยเป็นแบบรวมกลุ่ม ดังนั้นพื้นที่เมืองจึงต้องการการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในรูปแบบที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นสูง และต้องนำพื้นที่ดินที่มีน้อยอยู่แล้วไปใช้สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าและผลตอบแทนสูงกว่าการอยู่อาศัยแทนนั่นเอง
สัดส่วนที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆของแต่ละเมือง / ประเทศ
เขียนโดย : รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล : [email protected]