เชื่อหรือไม่ครับ การเดินทางไปทำงานเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 200 ปีที่แล้วนี่เอง โดยก่อนหน้ามนุษย์ทำงานที่บ้านตัวเอง เช่น ประชากรชนบททำเกษตรกรรมที่บ้าน ส่วนประชากรเมืองใช้บ้านและที่ทำงานเป้นที่เดียวกัน เป็นช่างฝีมือที่บ้าน เช่น ยุคกรีกและโรมันก็ทำบ้านเป็นร้านทำขนมปัง โรงตีเหล็ก หรืออย่างโตเกียวในมัยก่อนก็จะใช้บ้านในตอนกลางวันทำงาน กลางคืนก็ใช้นอน เช่นเดียวกับวังของไทยที่ใช้เป็นทั้งที่ทำงานของเจ้าที่ทรงกรมนั้นๆขณะเดียวกันก็เป็นที่อยู่อาศัยของบริวารด้วย เมื่อถึงคราวต้องการติดต่อธุระกับกรมอื่นก็ใช้คนเดินหนังสือไปถึงกัน ทำให้ในสมัยก่อนไม่ค่อยมีคนออกจากบ้านไปทำงาน เว้นแต่ไปตลาดและไปติดต่อธุระในวาระพิเศษซึ่งก็ไม่ได้ไปทุกวัน
จุดเริ่มต้นของการเดินทางไปทำงาน
การเดินทางไปทำงานเกิดขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เนื่องจากที่ทำงานกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยของแรงงานจำนวนมาก เพราะ
ด้วย 2 สาเหตุสำคัญนี้ ทำให้แรงงานไม่สามารถอยู่อาศัยในที่ทำงานได้อีกต่อไป และจำเป็นออกไปอยู่อาศัยในพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งด้านการเงินและบรรยากาศ จึงทำให้ต้องมีการเดินทางไปทำงานประจำวันเกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อรองรับการเดินทางประจำวันอย่างสม่ำเสมอจึงเกิดรถม้า รถลาก รถไฟ รถยนต์ส่วนบุคคล และรถประจำทางเกิดขึ้นนั่นเอง
การเดินทางไปทำงานในยุคแรก
การเดินทางไปทำงานในยุคแรกๆ ไม่ได้ใช้เวลานานอะไรนัก เพราะเมืองยังมีขนาดเล็ก สามารถเดินไปก็ได้หรือถ้าไกลหน่อยก็ใช้ขนส่งมวลชน แต่ต่อมาเมื่อเมืองขยายขึ้นเรื่อยๆ การเดินทางไปทำงานจึงกลายเป็นความทุกข์ทรมานของประชากรเมือง ทั้งเรื่องระยะทางที่ไกลเกินไป ระยะเวลาก็นานเกินไป อีกทั้งความสะดวกสบายก็ลดลงไปตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น
มนุษย์ควรใช้ระยะเวลาเดินทางไปกลับที่ทำงานเท่าไร
ตัวชี้วัดที่ทั่วโลกใช้กันระบุไว้ว่า วันหนึ่งมนุษย์ควรใช้ระยะเวลาในการเดินทางไปกลับที่ทำงานไม่เกิน 1 ชั่วโมง หรือแต่ละเที่ยวไม่เกิน 30 นาที www.irishtimes.com รายงานว่า ค่าเฉลี่ยการเดินทางไปกลับที่ทำงานของมนุษย์ในโลกอยู่ที่ 41.6 นาทีต่อวัน สำหรับประเทศอเมริกามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 54 นาที/วัน โดยตัวเลขนี้คือค่าเฉลี่ย หมายความว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ใช้เวลาน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมากๆ และแน่นอนว่ามีคนอีกกลุ่มที่ต้องเดินทางเป็นเวลานานกว่าค่าเฉลี่ยมากๆ เช่นกัน รวมทั้งยังเป็นการเอาทุกคนที่เดินทางไปกลับที่ทำงานมาเฉลี่ยกันอีกด้วย
มีรายงานการศึกษาระบุว่า ถ้าต้องเดินทางเกิน 45 นาทีต่อเที่ยว หรือ 90 นาทีต่อวัน ประชาชนจะไม่ยอมเดินทาง แต่จะหาทางย้ายที่อยู่อาศัยมาใกล้ที่ทำงานมากขึ้นเพื่อลดเวลาเดินทางประจำวันลงหรือในมุมกลับคือเปลี่ยนงานให้สามารถเดินทางได้ใกล้ขึ้น
การเดินทางไปทำงานของมหานคร
ขนาดของเมืองมีผลต่อระยะเวลาในการเดินทางไปกลับที่ทำงานเป็นอย่างมาก มีรายงานการศึกษาว่า ถ้าเป็นมหานคร การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนบนทางวิ่งเฉพาะจะเร็วกว่ารถยนต์ส่วนตัว ขณะที่เมืองขนาดกลางและขนาดเล็กกลับมีทิศทางที่แตกต่างจากมหานคร คือเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเร็วกว่าขนส่งมวลชน เนื่องจากเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กมีประชากรไม่มากนัก ทำให้ระบบขนส่งมวลชนมีการให้บริการห่างกันมากกว่าเมืองขนาดใหญ่ อีกทั้งการเดินทางบนถนนด้วยรถยนต์ส่วนตัวยังไม่ติดขัดและเสียเวลาเท่ากับเมืองใหญ่ ทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมีความได้เปรียบมากกว่า
ถ้าพิจารณาเฉพาะเมืองใหญ่ทั้งหลาย พบว่าประชาชนในมหานครต่างๆ ในโลกล้วนมีเวลาในการเดินทางไปกลับที่ทำงานที่กินเวลามากทั้งสิ้น เช่น มหานครลอนดอน มีเวลาเดินทางเฉลี่ย 60 นาทีต่อวัน มหานิวยอร์กใช้เวลา 81.6 นาทีต่อวัน
www.thaiembassy.com รายงานว่าประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน ที่น่าสนใจคือเวลาในการเดินทางไปกลับที่ทำงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเกิดจากการจราจรในเมืองติดขัดเพิ่มมากขึ้นทำให้ประชาชนต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่าเดิม และประชาชนเริ่มยอมรับกับการเดินทางที่นานขึ้น เพื่อให้ได้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ต้องการหรือได้ทำงานในหน่วยงานที่ตนเองพึงพอใจ ที่สำคัญปัจจุบันมีเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสร้างความเพลิดเพลินในระหว่างการเดินทางให้ไม่น่าเบื่อ ไม่ว่าจะเป็น การฟังเพลง, เล่นอินเทอร์เน็ตบนมือถือ เป็นต้น
การเดินทางไปทำงานของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
สำหรับประเทศไทย คงเป็นที่ยอมรับกันว่า การเดินทางไปกลับที่ทำงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคงใช้เวลาเกินกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่คนไทยยอมรับได้กับสถานการณ์ดังกล่าวได้ เนื่องจากการจราจรติดขัดติดอันดับต้นๆ ของโลก และข้อจำกัดในการเลือกที่อยู่อาศัยและที่ทำงานที่ไม่ได้มีอิสระในการเลือกมากนัก อีกทั้งโครงสร้างของกรุงเทพมหานครยังมีซอกซอยและถนนขนาดเล็กทำให้ระบบขนส่งมวลชนไม่สามารถเข้าไปบริการได้อยู่ไม่น้อย
ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นที่อยู่อาศัยของแรงงานจำนวนมาก เมื่อที่อยู่อาศัยไม่ได้อยู่ใกล้กับขนส่งมวลชนก็ย่อมเป็นการเพิ่มเวลาในการเดินทางไปกลับที่ทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แนวโน้มในการเลือกที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ได้ให้ความสำคัญกับระยะเวลาและความสะดวกในการเดินทางเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นคอนโดมิเนียมที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ จึงมีจุดขายชัดเจนว่ามีการเดินทางที่สะดวก สามารถเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าได้ในระยะใกล้ หากไกลหน่อยก็ต้องโฆษณาว่ามี shuttle bus บริการลูกบ้าน เพื่อให้รู้สึกว่าเวลาในการเดินทางไปกลับที่ทำงานลดลง ผลที่ตามมาก็คือ คนสนใจ เพราะเชื่อว่าตนเองจะมีเวลาพักผ่อนหรือใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมากขึ้นนั่นเอง
ดังนั้นต้องอยู่ที่คุณเลือกแล้วล่ะครับว่า ต้องการอยู่บ้านใกล้ที่ทำงานเพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง หรือจะยอมเดินทางไกล แต่ได้อยู่อาศัยในที่ที่ต้องการ หากใครที่ยังหาคำตอบให้ตนเองไม่ได้ ลองเข้าไปค้นหาบ้านและคอนโดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อสำรวจราคาและพิกัดที่ต้องการอยู่ได้ที่ Baania.com
เขียนโดย : รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล : [email protected]