ประมาณ 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับประสบการณ์ใหม่บนท้องถนน จังหวัดเชียงใหม่ นั่นคือการเดินทางด้วยรถยนต์ในระยะทางไม่เกิน 4 กิโลเมตร โดยใช้เวลาทั้งหมดเกือบหนึ่งชั่วโมงครึ่ง!!! ใช่ครับ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเชียงใหม่ไม่ใช่กรุงเทพ เช็คจาก FB ปรากฏว่าโดนกันถ้วนหน้า เพื่อนบางคนติด 2 ชั่วโมง ทุกคนบ่น แชร์ ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น บ้างบอกว่าฝนตก คนที่เคยใช้มอเตอร์ไซค์จึงเอารถยนต์ออกมา เลยเพิ่มปริมาณรถยนต์บนถนน บ้างก็พากันเดาไปต่างๆ นานา เวิร์บทูเดากันเต็ม Facebook เอาเป็นว่าที่ผมเล่าเรื่องนี้ให้ฟังก็เพื่อจะบอกว่า ตราบใดที่เรายังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ เราก็ไม่มีทางเลือกมากนัก จะว่าไปแล้วก็อาจเหลือแค่สองทาง 1.ทนต่อไป 2.เปลี่ยนวิธีการเดินทางโดยมาใช้การปั่นจักรยาน
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาผมถอยรถจักรยานป้ายแดงมาคันนึงยี่ห้อไตเกียวโบ๊วว์...โตเกียวไบค์ :) หลังจากที่ผมไปเที่ยวหาเพื่อนที่เมลเบิร์น ออสเตรเลียเมื่อช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เมลเบิร์นเป็นเมืองที่ออกแบบระบบขนส่งมวลชนไว้ดีม๊ากกกก มีรถรางไฟฟ้า (Tram) วิ่งทั่วเมือง มีรถไฟเชื่อมต่อเพื่อเข้าออกเมือง มีรถเมล์ที่ตรงเวลาแบบเป๊ะเว่อร์! มีย่านที่คนเดินได้สะดวก สิ่งต่างๆเหล่านี้ภาษาวิชาการเขาเรียก TOD (Transit oriented development) ลองไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ แต่เขาก็ยังมีรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และที่สำคัญเมืองเขามีคนขี่จักรยานเยอะมาก เป็นการผสมผสานการเดินทางทุกรูปแบบเข้าด้วยกัน แต่ค่อนข้างบีบให้คนใช้รถยนต์ลำบากพอสมควร โดยเฉพาะการหาที่จอดรถ ดังนั้นประชาชนของเขาต้องออกแบบวิธีการเดินทางให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตน
เพื่อนผมชื่อเดวิด เป็นอาจารย์สอนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ U of Melbourne ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์เขาจะปั่นจักรยานไปทำงาน ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร วันนึงผมขอติดสอยห้อยตามเขาไปด้วยโดยยืมรถจักรยานของลูกสาวเดวิดไป (ผมก็พบความลำบากพอสมควรที่ควบจักรยานที่ไม่พอดีตัว เพราะผมสูง 188 ซม. ซึ่งสูงกว่าลูกสาวเขาเกือบครึ่งเมตร) ด้วยเหตุนี้ผมจึงไปเจอเจ้าโตเกียวไบค์จอดอยู่หน้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เหมือนรักแรกพบ (ไม่นับภรรยาซึ่งเป็นแฟนคนแรกและคนเดียว แล้วก็เปลี่ยนสถานะเป็นภรรยาสิบปีต่อมา)
ผมเกิดแรงบันดาลใจจนบอกกับตัวเองว่า "ปิ๊กบ้านเมื่อใด จะบอกม่อกซักกัน ปั่นไปย๊ะก๋านกุ๊วันบ่ะ" แปลเป็นคำไทยว่า "กลับบ้านเมื่อไหร่จะซื้อสักคัน เอาไว้ปั่นไปทำงานทุกวันเรย" ประมาณนี้ ผมได้เจ้าโตเกียวไบค์สีวิลโล่วว์ รุ่นซิงเกิ้ลสปีด มาควบตอนต้นเดือนสิงหาคมสมใจปรารถนา วันที่เขียนบทความนี้คือต้นเดือนธันวาคม มือใหม่หัดปั่นแบบผมปั่นมาได้ 4 เดือนแล้วครับ ผมพบอุปสรรคสองอย่างตอนปั่นไปกลับระหว่างบ้านและที่ทำงาน ฝน และ ควัน ดังนั้นวันไหนฟ้าครึ้ม พยากรณ์อากาศบอกว่าฝนมาแน่ ผมไม่เอารถจักรยานออก (กลัวเป็นหวัด 555) ส่วนควันไอเสีย ผมหลีกเลี่ยงโดยการหาเส้นทางที่ปั่นบนถนนใหญ่น้อยที่สุด ใช้วิธีเลี่ยงเข้าตรอกซอกซอยแทน ผลดีเกินคาด ผมเจอควันรถน้อยมาก และสิ่งที่ผมพบระหว่างทางบนถนนสายเล็กๆ คือ บ้านไม้เก่าสวยๆ อาคารเก่ายุค 40-50 ปีที่แล้ว ตลอดสองข้างทาง ผมว่าอาคารบ้านเก่าเหล่านี้คือเสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่ บ้านเรือนเหล่านี้มีความน่ารัก งดงาม และมีคุณค่าล้นเหลือ
การที่ได้ปั่นยามเช้าผ่านทัศนียภาพดีๆ อากาศสดชื่น มันส่งผลให้ผมอารมณ์ดีไปทั้งวัน บางคราที่ผมปั่นฝ่าฝูงรถยนต์ที่ติดชะงักเป็นแพอยู่บนถนน ไม่ขยับไปไหน (เพราะไปไม่ได้ 555) ผมรู้สึกว่าผมกำลังหลุดพ้นจากวงจรบางอย่าง ผมสัมผัสได้ว่าทางที่ผมเลือกคือทางแห่งการหลุดพ้น (อูย อะไรจะขนาดนั้น แต่ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆนะ) ล่าสุดเมื่อสองวันก่อน ผมไปตรวจสุขภาพมา ผลคือร่างกายดีมาก (มีเรื่องไขมันที่ต้องดูแลนิดหน่อย สงสัยต้องลดของทอดและของหวานหลังอาหาร) ต่างจากปีที่ผ่านมาพอสมควร
จริงๆแล้วก็คงไม่ใช่เพราะปั่นจักรยานอย่างเดียวหรอก คงเพราะผมเข้ายิมมาได้ 8 เดือนแล้วด้วย แต่มันก็ทำให้ผมรู้สึกดีมาก ผมสุขภาพดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น ปล่อยไอเสียน้อยลง พึ่งพาน้ำมันน้อยลง มีเงินเหลือเยอะขึ้น (เพราะเข้าปั๊มไม่บ่อย) ไม่ต้องรถติดบนถนนและได้เห็นอาคารบ้านเก่าสวยๆทุกวัน อ้อ! ลืมบอกไปอย่าง ร้านอาหารเช้าข้างทางเล็กๆ เก่าๆที่อยู่มานานหลายสิบปี รสชาติอาหารและบรรยากาศดีอย่าบอกใครเชียว ถ้าคุณอยากปั่นจักรยานแบบผม ผมจะกระซิบบอกให้ว่าร้านไหนเด็ด ลองดูสิครับ
บทความแนะนำ
เขียนโดย: ปวรรธน์ ตันตยานุสรณ์
จบการศึกษาจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตร์ รังสิต ปริญญาโทสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นสถาปนิก บจก.นิวัตร อาร์คิเทค มีผลงานที่โดดเด่น อาทิ เซ็นทารา คุ้มพญา รีสอร์ต แอนด์ สปา เชียงใหม่, ยางคำวิลเลจ , คชสีห์ธานี , อีโค่ รีสอร์ต , มารดาดี เฮอริเทจ ริเวอร์ วิลเลจ เป็นต้น สำหรับมุมมองในวิชาชีพสถาปนิกเป็นวิชาชีพที่สร้างฝันของลูกค้าให้เป็นจริงขณะเดียวกันสถาปนิกควรสอดแทรกวัฒนธรรมท้องถิ่น และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าไปในผลงานที่ออกแบบด้วย เพื่อให้งานออกแบบยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน ยกระดับจิตใจให้เกิดความสงบสุข รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป
Contact Info
www.niwatarchitects.com
www.facebook.com/Niwatarchitects