Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

อัพเดตไทม์ไลน์มอเตอร์เวย์ 7 สาย เชื่อมกทม.-ภูมิภาค

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

กรมทางหลวงอัพเดตแผน 5 ปี ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 7 เส้นทาง เชื่อมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล สู่ภูมิภาค

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง ผังเมือง-เมกกะโปรเจ็กต์ : พลิกโฉมกทม. จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า กรมทางหลวงมีแผนพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ ในระยะ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579 รวมทั้งสิ้น 21 สายทาง ระยะทาง 6,611 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนรวม 2.1 ล้านล้านบาท 

แผนงานดังกล่าวจะเป็นการก่อสร้างทางหลวงพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภาค เชื่อมการเดินทางระหว่างเมืองหลักและพื้นที่สำคัญรวมถึงด่านการค้าชายแดน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เชื่อมโยงกับโครงข่ายคมนาคมขนส่งอื่นๆเพื่อให้เกิดการขนส่งหลายรูปแบบและที่สำคัญเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

โครงข่ายมอเตอร์เวย์ตามแผน 20 ปีจะครอบคลุมการเดินทางทั่วประเทศ โดยภาคเหนือจะไปถึงจังหวัดเชียงราย ภาคใต้ถึงด่านสะเดา สุไหงโกลก ภาคตะวันตกติดชายแดนแม่สอด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนติดหนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร อีสานตอนล่างถึงด่านช่องเม็ก ช่องจอม และลงไปถึงด่านอรัญประเทศ

ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลกรมทางหลวงวางแนวคิดในการออกแบบโครงข่ายทางหลวงพิเศษเอาไว้ 3 แนวคิด ได้แก่ 1.เป็นเส้นทางที่แก้ไขปัญหาการจราจร และการเดินทางภายในพื้นที่ เคลื่อนย้ายคนออกจากตัวเมืองให้รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น 2. เป็นเส้นทางที่ขนส่งคนออกสู่หัวเมืองหลักและแหล่งอุตสาหกรรมในภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว และ 3. เป็นเส้นทางที่ช่วยลดความแออัดของเมืองโดยการใช้เส้นทางบายพาส

“ตามแผน 20 ปี เฉพาะโครงการที่เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯและปริมณฑลมีประมาณ 12-13 โครงการ เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะกง-สระบุรีทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายลําลูกกา-สระบุรี รวมถึงถนนวงแหวนรอบที่ 3 เป็นต้น

ขณะที่แผนในระยะ 5 ปี การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษเชื่อมเมืองหรือมอเตอร์เวย์ส่วนใหญ่จะอยู่ในโซนทิศเหนือและทิศตะวันตกของพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของเมือง ที่เริ่มเปลี่ยนมาทางตะวันตก หลังจากฝั่งตะวันออกของกทม.และปริมณฑลเริ่มมีการพัฒนาที่หนาแน่น ได้แก่ 

1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-โคราช ปัจจุบันก่อสร้างไปแล้ว 60-70% 2. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ก่อสร้างไปแล้ว 20% เนื่องจากยังติดปัญหาการเข้าพื้นที่

โครงการที่ 3 คือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว เป็นโครงการที่เชื่อมต่อเส้นทางจากการทางพิเศษที่มีโครงการเชื่อมต่อทางด่วนจากดาวคะนองมาลงที่วงแหวนกาญจนาภิเษก โดยในส่วนของกรมทางหลวงจะรับผิดชอบต่อตั้งแต่ต่างระดับบางขุนเทียนไปจนถึงบ้านแพ้วระยะทาง 25 กิโลเมตร บนถนนพระราม 2  รูปแบบโครงการเป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจรไป-กลับ มูลค่าการลงทุน 30,800 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้าง 10 กิโลเมตรแรกในปี 2562 ส่วนที่เหลืออีก 15 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือ PPP

โครงการที่ 4 ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ ซึ่งเป็นโครงการที่เชื่อมต่อจากโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บางใหญ่-กาญจนบุรี รูปแบบโครงการจะเริ่มต้นที่อำเภอนครชัยศรีแยกมาจากเส้นทางบางใหญ่-บ้านโป่ง ขนาด 4 ช่องจราจรเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ ระยะทาง 109 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 79,000 ล้านบาท จุดเริ่มต้นจุดที่ 1 เชื่อมต่อกับทางพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี และจุดที่ 2 เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 338 จุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับท่ายางจังหวัดเพชรบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติรูปแบบ PPP คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปลายปี 2563

โครงการที่ 5 ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายรังสิต-บางปะอิน ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อขยายจากโครงการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลเวย์ และออกไปเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา รูปแบบโครงการจะเป็นทางยกระดับตามแนวถนนพหลโยธิน ขนาด 6 ช่องจราจรไป-กลับ จุดเริ่มต้นอยู่ปลายทางโครงการดอนเมืองโทลเวย์บริเวณรังสิตสิ้นสุดที่บริเวณแยกต่างระดับบางปะอิน ระยะทาง 18 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,400 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปรูปแบบ PPP ในไตรมาส 3 ปี 2562 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปี 2564

โครงการที่ 6 ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายวงแหวนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันตก-บางปะอิน รูปแบบโครงการจะเป็นทางยกระดับบางส่วนและทางเสมอระดับ เริ่มจากทางต่างระดับบางขุนเทียน ตามถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันตกไปถึงบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอินวิ่ง ระยะทาง 70 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 78,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุน คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ประมาณปี 2565

โครงการที่ 7 ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายเส้นศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ เป็นโครงการแก้ปัญหาการจราจรของถนนมอเตอร์เวย์สาย 7 ช่วงต้น ก่อสร้างเป็นทางยกระดับ 3 ช่องจราจรแยกซ้ายขวาเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางพิเศษรองรับการเดินทางเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิ และการเดินทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ภาคตะวันออก ระยะทาง 18 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 37,500 ล้านบาท จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณจุดสิ้นสุดทางด่วนบริเวณทางต่างระดับถนนศรีนครินทร์ วิ่งตามทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณกิโลเมตรที่ 18 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร