มหานครต่าง ๆ ในโลกล้วนแต่มีปัญหาการจราจรติดขัดเป็นปัญหาหนักอกของพลเมืองอยู่ทุกเมือง แนวทางในการแก้ปัญหาที่ทุกมหานครนำมาใช้ คือ การสร้างระบบขนส่งมวลชนบนทางวิ่งเฉพาะหรือรถไฟฟ้า เนื่องจากเป็นยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพในการขนส่งบุคคลมากกว่ารถยนต์ส่วนตัวเป็นอย่างมาก เป็นการเดินทางแบบกลุ่มจึงมีต้นทุนต่อหัวผู้โดยสารถูกกว่ารถยนต์ส่วนตัว และมีทางวิ่งเป็นของตัวเองทำให้เดินทางได้โดยไม่ต้องไปแย่งพื้นที่ถนนปกติที่รถติดมากอยู่แล้ว มหานครต่าง ๆ จึงได้สร้างรถไฟฟ้าทั้งบนดิน ลอยฟ้าและใต้ดินกันอย่างมากมาย แต่ละเมืองมีหลายสายทาง มีความยาวหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อให้ตอบสนองความต้องการในการเดินทางของพลเมืองอย่างทั่วถึงที่สุด
แต่รถไฟฟ้าหลายสิบสายทางในมหานครเหล่านั้นไม่ได้สร้างครั้งเดียวเสร็จพร้อมกันทั้งหมด แต่ค่อย ๆ สร้างตามลำดับความสำคัญและความจำเป็น อีกทั้งแต่ละสายทางยังมีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ตามทิศทางและแนวเส้นทางที่ผ่าน ตามหลักวิชาจราจร เขาแยกประเภทสายทางของระบบขนส่งมวลชนไว้ 4 ประเภท ได้แก่
1. สายรัศมีผ่านกลางเมือง (Radial Line) มีแนวสายทางจากด้านหนึ่งของพื้นที่เมืองผ่านกลางเมืองไปยังอีกด้านหนึ่งของพื้นที่เมือง เป็นสายที่ผ่านศูนย์กลางทางธุรกิจของมหานครมากที่สุด จึงมีผู้โดยสารมากที่สุดและถูกสร้างเป็นลำดับแรกก่อนเสมอ เทียบกับ กทม.และปริมณฑลก็คือ รถไฟฟ้า BTS ช่วงแรก จากอ่อนนุชผ่านสยามถึงหมอชิต
2. สายวงแหวน (Ring Line) มีแนวสายทางเป็นวงแหวนล้อมรอบพื้นที่กลางเมือง โดยตัดกับปลายทางของ Radial Line เพื่อให้บริการผู้โดยสารจากด้านหนึ่งของเมืองไปยังอีกด้านหนึ่งของเมืองโดยไม่ต้องผ่านพื้นที่ที่มีการสัญจรหนาแน่นสูงกลางเมือง จึงถูกสร้างเป็นลำดับที่สองและมีปริมาณผู้โดยสารประมาณครึ่งหนึ่งของ Radial Line เช่นเดียวกับรถ MRT และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่วิ่งเป็นวงกลมล้อมรอบพื้นที่ด้านในของ กทม.
3. สายต่อขยายจากสายรัศมี (Extended Radial Line) เป็นการต่อสายรัศมีออกไปยังพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางและหนาแน่นน้อยบริเวณชานเมือง เชื่อมโยงกลางเมืองกับพื้นที่ชานเมืองได้โดยตรง และมาเปลี่ยนทิศทางที่จุดตัดกับ Ring Line ได้ด้วย จึงถูกสร้างเป็นลำดับที่สามและมีปริมาณผู้โดยสารเพียงประมาณ 10-20 % ของ Radial Line เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนเหนือที่เปิดให้บริการไปแล้ว
4. สายบริการจุดสำคัญเป็นพิเศษ (Tangent Line) เป็นสายทางที่ไม่ใช่สามประเภทด้านบน ไม่ได้ผ่านกลางเมือง ไม่ใช่สายรัศมีและไม่ใช่สายวงแหวน แต่วิ่งผ่านจุดสำคัญนอกเมืองที่มีความต้องการเดินทางจำนวนมาก เช่น ผ่านสนามกีฬาหลักของประเทศ ผ่านศูนย์การประชุมระดับนานาชาติ เป็นต้น สายทางประเภทนี้จึงถูกสร้างเป็นลำดับสุดท้าย ตามความต้องการพิเศษในพื้นที่ที่มีกิจกรรมจำเพาะเจาะจง ปริมาณผู้โดยสารไม่มากนักในวันปกติ แต่จะเพิ่มขึ้นมากเมื่อมีกิจกรรมพิเศษ เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี) ผ่านศูนย์ราชการระดับประเทศและอิมแพ็คเมืองทองธานี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ผ่านถนนลาดพร้าวทั้งเส้น บางกะปิ และพัฒนาการ
สี่ประเภทสายทางตามหลักการนี้มีลำดับในการก่อสร้างแตกต่างกัน แน่นอนว่าลำดับแรกต้องสร้าง Radial Line ให้ครบหกแฉกสามสายทาง ครอบคลุมพื้นที่ด้านในของมหานครที่มีกิจกรรมหนาแน่นและมีปัญหาการจราจรติดขัดมากที่สุด ลำดับที่สองจึงสร้าง Ring Line เพื่อเชื่อมปลายสาย Radial Line เข้าด้วยกันลดการเดินทางผ่านกลางเมืองลง แล้วลำดับที่สามจึงสร้าง Extended Radial Line เพื่อขยายบริการไปสู่พื้นที่อยู่อาศัยชานเมืองได้โดยตรง ไม่ต้องนั่งรถเมล์ รถตู้ รถยนต์ส่วนตัวมาต่อกับรถไฟฟ้าอีกต่อไป และในขั้นสุดท้ายก็สร้าง Tangent Line ชานเมืองกับชานเมืองในส่วนที่ผ่านพื้นที่สำคัญเฉพาะบางแห่ง
หันมาดูประเทศไทย โครงการระบบขนส่งมวลชนบนทางวิ่งเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ารถไฟฟ้าได้รับการกำหนดมานานมากแล้ว มีการคาดหวังว่าจะสร้างเสร็จครบถ้วนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่ก็สร้างได้แค่ 1.5 สาย เมื่อ 2 ปีก่อนก็คาดการณ์ใหม่ว่าจะเสร็จสมบูรณ์ปี 2565 แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเสร็จทันตามกำหนดได้เลย พอลองมาดูแนวสายทางของรถไฟฟ้า 10 สาย ที่ได้วางแนวสายไว้จะเห็นว่าเราก็ได้ใช้หลักวิชาการด้านผังเมืองและจราจรมาวางเช่นกัน
• Radial Line และ Extended Radial Line มี 6 สาย ได้แก่ รถไฟสายสีแดง (รังสิต-มหาชัย) และ Airport Rail Link, รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-บางปู), สายสีเขียวอ่อน (ยศเส-บางหว้า), สายสีม่วง (บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ) และสายสีส้ม (จรัญสนิทวงศ์-มีนบุรี)
• Ring Line มี 1 สาย คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ-พุทธมณฑลสาย 4)
• Tangent Line มี 3 สาย ได้แก่ สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง), สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก)
จากแนวสายทางของรถไฟฟ้า 10 สาย นำมาวิเคราะห์ด้วยหลักการวางผังเมืองและจราจร ด้วยการอ่านบทบาทของแนวสายทางและจุดตัดของรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ พบว่า
• บริเวณที่มีศักยภาพสูงสุดในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ จะเป็นจุดที่ Radial Line ตัดกัน ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ สามเสน ผ่านฟ้า ออกมาทางตะวันออกตามถนนศรีอยุธยา เพชรบุรี และพระรามที่ 1 ไปจนถึงราชปรารภและสยาม
• พื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจรองลงมา จะอยู่ด้านในของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินซึ่งเป็น Ring Line ได้แก่ พระรามที่ 4 รัชดาภิเษก และจรัญสนิทวงศ์
• พื้นที่ศูนย์กลางรองของภาคมหานครจะอยู่บริเวณจุดตัดระหว่าง Radial Line กับ Ring Line ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นย่านการใช้ที่ดินแบบผสมผสานระหว่างแหล่งงานกับที่อยู่อาศัย ได้แก่ บางซื่อ ห้าแยกลาดพร้าว ศูนยวัฒนธรรม เพชรบุรี-มักกะสัน อโศก สีลม-ศาลาแดง หัวลำโพง วังบูรพา และบางขุนนนท์ จะเห็นได้ว่า รัฐก็เข้าใจหลักการนี้เช่นกัน จึงได้มีโครงการของรัฐที่จะสร้างศูนย์กลางรองกำหนดในแผนแม่บทไว้แล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์มักกะสัน ศูนย์พหลโยธิน และศูนย์ตากสิน
• พื้นที่อยู่อาศัยชานเมือง แนวสายทางที่เป็น Extended Radial Line ตามแผนแม่บทรถไฟฟ้า 10 สาย ให้ความสำคัญกับ 4 พื้นที่บริเวณปลายสายทาง ได้แก่
ด้านตะวันออก (สายสีส้มและ Airport Rail Link ไปยังบางกะปิ ศรีนครินทร์)
ด้านตะวันตก (สายสีน้ำเงินและแดงอ่อน ไปยังศาลายา พุทธมณฑล)
ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ (รถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ไปยังรังสิต ลำลูกกา)
ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ (รถไฟฟ้าสายสีม่วงไปยังแคราย บางใหญ่)
ทั้งนี้ย่านรังสิต ลำลูกกา ศรีนครินทร์ และบางกะปิเป็นพื้นที่ชานเมืองที่ได้รับการพัฒนามาก่อนเป็นเวลานาน จึงมีแนวโน้มเพิ่มความหนาแน่น เปลี่ยนจากที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยเป็นหนาแน่นปานกลาง ส่วนย่านศาลายา พุทธมณฑล บางใหญ่ เป็นพื้นที่เปิดใหม่ จึงยังมีที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยเป็นหลัก
จากการวิเคราะห์รถไฟฟ้า 10 สายที่จะมีผลต่อการพัฒนาเมืองใน กทม. และปริมณฑล เห็นได้ว่า รถไฟฟ้าจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้นักพัฒนาที่ดินย้อนกลับมาลงทุนปรับปรุงพื้นที่ด้านในของ กทม. มากขึ้น ทั้งการพัฒนาโครงการเดี่ยวและกลุ่มโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ช่วยให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่คุ้มค่ามากขึ้น มีการรื้ออาคารเดิมที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพทางเศรษฐกิจมาสร้างเป็นอาคารใหม่ในพื้นที่กลางเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยชานเมืองตามแนวสายทางของรถไฟฟ้าแบบ Extended Radial Line เพื่อเป็นจุดขายว่า สามารถเดินทางเข้าเมืองด้วยรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ดังนั้น อนาคตของ กทม.และปริมณฑลจึงถูกชี้วัดด้วยความพร้อมของรถไฟฟ้า ซึ่งก็ต้องรอความชัดเจนว่าจะเริ่มสร้างและเปิดให้ใช้งานกันได้เมื่อไหร่ต่อไป
เขียนโดย : รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย