การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วยโซล่าเซลล์ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เพราะเป็นพลังงานสีเขียว (Green Energy) หรือพลังงานทางเลือก (Renewable energy) ต่อไปเมื่อเชื้อเพลิงในโลกหมดลง เราอาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานเหล่านี้แทน
ปัจจุบันในประเทศไทยก็เริ่มมีการตื่นตัวกับเทคโนโลยีนี้เช่นกัน โดยส่วนหนึ่งเพราะต้องการประหยัดค่าใช้ไฟฟ้า หรือต้องการลงทุนเพื่อขายไฟให้กับทางรัฐ ทำให้หลายคนสนใจเกี่ยวกับระบบโซล่าเซลล์มากขึ้น แต่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์หรือการทำงานของพลังงานทางเลือกแบบนี้มากนัก Bannia.com ขออาสาไขทุกคำตอบ ให้คุณตัดสินใจว่าควรจะมีแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ที่บ้านแล้วหรือยัง?
โซล่าเซลล์ (Solar Cell) ทำมาจากสารซิลิคอนที่ผ่านกระบวนการแปรรูปแล้วเติมสารฟอสฟอรัส จากนั้นรีดออกมาเป็นแผ่นเรียบๆ และต่อเข้ากับแผงวงจรไฟฟ้า โดยในปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบของโซล่าเซลล์ให้มีลักษณะหน้าตาที่หลากหลาย แต่ในบ้านเราน่าจะคุ้นเคยกับแผงเรียบๆ สีดำๆ มากกว่า
สำหรับข้อดีของการใช้โซล่าเซลล์มีหลายอย่าง โดยเฉพาะในแง่ของสิ่งแวดล้อม เพราะแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด เป็นพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือ ฟรี ซึ่งให้เราช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟ้าได้ในระยะยาว สามารถควบคุมต้นทุนค่าไฟได้เท่ากันทุกเดือน ต่างจากการซื้อไฟจากรัฐที่มีการปรับขึ้นลงราคาอยู่ตลอด
หลักการทำงานของระบบโซล่าเซลล์นั้น เมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบกับแผงโซล่าเซลล์ แสงจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าชนิดกระแสตรง 12 หรือ 24 โวลต์ ซึ่งใช้ได้กับอุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสตรงเท่านั้น เช่น อุปกรณ์ให้แสงสว่างหรือปั้มน้ำบางรุ่น โดยการนำไฟฟ้ากระแสตรงไปใช้นั้น พลังงานจะต้องผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า "เครื่องประจุกระแส" (Charger หรือ Solar Charge หรือ Charge Controller) ก่อน แล้วจึงนำไฟฟ้านั้นไปเก็บไว้ใน "แบตเตอรี่" (Battery) ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าให้เมื่อมีการใช้งาน หรือเก็บสะสมไว้ใช้เมื่อแสงอาทิตย์หมด
หากเราต้องการใช้ไฟฟ้าที่ได้จากโซล่าเซลล์กับอุปกรณ์ส่วนใหญ่ในบ้าน เราต้องแปลงไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์ให้เป็นกระแสสลับ 220 โวลต์เสียก่อน โดยผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า "อินเวอร์เตอร์" (Inverter) แล้วจึงสามารถนำไฟฟ้าไปใช้งานได้ครับ
มาถึงคำถามที่หลายๆ คนยังสงสัยคือ เรื่องของความคุ้มค่า ผู้ให้บริการติดตั้งโซล่าเซลล์อย่าง PureWatt ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า แผงโซล่าเซลล์จะมีอายุการใช้งานได้ถึง 25 ปี ซึ่งถ้าเทียบจากการประหยัดค่าใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน จะคืนทุนได้ภายในเวลา 7-8 ปี หลังจากนั้นเราก็จะได้ใช้ไฟฟรีไปตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์
อย่างไรก็ตามการลงทุนเริ่มต้นนั้นยังมีใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ตัวอย่างเช่น หากต้องการติดตั้งระบบที่กำลังต่ำสุด 5 กิโลวัตต์ (เหมาะสำหรับบ้านเดี่ยวที่ใช้ไฟไม่มาก) จะใช้งบประมาณรวมถึงค่าบริการอยู่ที่ 250,000 บาทเลยทีเดียว ทั้งนี้หากเป็นระบบโซล่าเซลล์บางระบบที่ไม่มีอุปกรณ์บางอย่างหรือมีการซื้ออุปกรณ์มาติดตั้งเอง ก็จะลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะอยู่เหมือนกันครับ
ปัจจุบันโซล่าเซลล์เป็นเทคโนโลยีซึ่งเหมาะกับบ้านที่เห็นความสำคัญของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทางเลือก บ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จึงต้องใช้พลังงานอื่นทดแทน หรือบ้านที่ต้องการลงทุนในการขายไฟคืนให้การไฟฟ้า แต่อาจจะยังไม่เหมาะกับบ้านทั่วไปสักเท่าใดนัก ด้วยเหตุที่ยังใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง แต่สำหรับผู้ประกอบการที่มีที่ทำงาน หรือโรงงานที่ใช้ไฟฟ้ามาก เทคโนโลยีนี้อาจจะคุ้มต่าต่อการลงทุนในระยะยาว ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องของการควบคุมต้นทุนแล้ว ยังเสริมภาพลักษณ์องค์กรในด้านความทันสมัย และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ที่มาและภาพประกอบจาก:
http://solarcellthailand96.com
https://www.dadjar.solar
บทความที่เกี่ยวข้อง