Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

วิธีปลูกผักในกระถาง สำหรับพื้นที่จำกัดทำได้ไม่ยาก

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การปลูกผักในกระถาง สำหรับพื้นที่จำกัดไม่ใช่เรื่องยาก เหมาะกับคนที่อยู่หรืออพาร์เมนท์ที่อยากจะเพาะปลูก แต่มีพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยมากนัก จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของการปลูกผักวิธีนี้คือสามารถดูแลได้ง่าย และเคลื่อนย้ายได้สะดวก ในบทความนี้จะขอนำข้อมูลในการปลูกผักในกระถางเพื่อเป็นแนวทางให้กับทุกท่าน เริ่มตั้งแต่การเลือกชนิดของพืชผักไปจนวิธีดูแลรักษาที่เหมาะสมอีกด้วย

1. พื้นที่

เริ่มจากสำรวจพื้นที่ของเราว่า มีที่ว่างพอมากน้อยแค่ไหนที่จะใช้สำหรับวางกระถางเพาะปลูก เช่น บริเวณหน้าบ้าน ข้างบ้าน  หลังบ้าน หรือภายในบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าในพื้นที่ไหนเหมาะที่จะปลูกพืชผักชนิดใด หากเป็นคนที่เพิ่งเริ่มปลูกครั้งแรกควรศึกษาให้ดีก่อน หากเมื่อพร้อมแล้วเตรียมพื้นที่ไว้สำหรับวางกระถางและเตรียมดินสำหรับปลูกต่อไป

พื้นที่

2. เตรียมดิน

หลักการเลือกดินที่ใช้ปลูกผักคือ ต้องเป็นดินที่มีความละเอียด ระบายน้ำสะดวก และมีการไหลเวียนของอากาศ ซึ่งจะช่วยทำให้พืชเจริญเติบโตงอกงามได้ดี เริ่มจากเตรียมดินมาพักตากแดดไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ และเมื่อครบกำหนดให้รดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้ดินแตกร่วน 

นำดินที่ร่วนแล้วมาผสมกับปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกในอัตราที่พอเหมาะสำหรับผักแต่ละชนิด แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน หรือจะใช้สูตรมาตรฐานโดยใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก 1 ส่วนต่อดิน 1 ส่วน และควรมีแกลบดำผสมตามอีก 1 ส่วน อาจมีขุยมะพร้าวด้วยอีก 1 ส่วนเพื่อความลงตัว 

เมื่อผสมกันได้เข้าที่แล้วให้ดินนำลงกระถางเพื่อทำการปลูกในขั้นตอนต่อไป ในปัจจุบันมีดินผสมแบบสำเร็จพร้อมใช้ได้เลย ทำให้คุณสะดวกขึ้นมาก เหมาะกับมือใหม่ที่เริ่มปลูกผักเป็นอย่างดี

เตรียมดิน

3. กระถาง

มีปัจจัยหลายอย่างในการเลือกกระถางที่ใช้ปลูกผัก ทั้งเลือกเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่ของเรา หรือเลือกด้วยความชอบส่วนตัว แต่ไม่ว่าอย่างไรกระถางควรจะมีความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร และต้องคำนึงถึงน้ำหนักด้วยว่าจะสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกหรือไม่ เพื่อการจัดวางและปรับเปลี่ยนตำแหน่งของกระถางได้หากจำเป็น

การเลือกกระถางสำหรับผักแต่ละชนิดก็มีความสำคัญเช่นกัน หากคุณจะปลูกผักที่มีผลและรากยาว ควรใช้กระถางที่มีความลึกเป็นพิเศษไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เป็นต้น แต่หากเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์จากใบและดอกก็สามารถเลือกใช้กระถางที่มีความตื้นได้ แต่ให้มีปากกว้างเล็กน้อยเพื่อเพิ่มเนื้อที่ขยายพุ่มใบหรือดอกของพืช

กระถางที่นิยมใช้ส่วนมากมีอยู่สองชนิดด้วยกันคือ แบบกระถางพลาสติกซึ่งมีข้อดีคือ น้ำหนักเบา กักเก็บน้ำได้ดี เคลื่อนย้ายสะดวก และกระถางดินเผาที่มีการระบายอากาศได้ดี มีความชุ่มน้ำ แต่ค่อนข้างมีน้ำหนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่และความชอบของผู้ปลูก

กระถาง

4. ผัก

การเลือกพืชผักที่จะปลูกมีความสำคัญมาก โดยเราควรเลือกให้ถูกต้องเหมาะสมกับพื้นที่ที่มี เพราะหากเลือกผักที่ไม่เหมาะหรือมีความพิเศษซึ่งยากต่อการปลูกในกระถางก็ย่อมจะส่งผลให้การปลูกค่อนข้างลำบาก หรือได้ผลไม่ตรงตามเป้าที่คาดไว้ ดังนั้นควรมีการคัดเลือกที่ดี และศึกษาเกี่ยวกับผักที่เราสนใจมาพอสมควรแล้วก่อนลงมือปลูก

ทั้งนี้คุณสามารถเลือกผักตามความชอบในการบริโภคก็ได้ เช่น หากชอบรับประทานพืชมีใบ ลองเลือกปลูก ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกาด ขึ้นฉาย หรือผักชี เป็นต้น แต่หากชอบพืชที่มีรากหรือหัว ก็ลองปลูก หัวมัน เผือก ต้นหอม แครอท หรือหัวไชเท้า แทน

ผัก

5. เมล็ดพันธุ์

ก่อนเริ่มการเพาะปลูก เราต้องเลือกเฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์โดยคัดแยกเมล็ดที่เสียและสิ่งเจือปนคัดทิ้งไป จากนั้นให้ทำความสะอาดเมล็ดก่อนการนำไปเพาะปลูกทุกครั้ง หากให้ดีควรมีการแช่ในน้ำอุ่นที่อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียสประมาณ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย เพื่อเป็นการกระตุ้นเมล็ดพันธุ์ และเป็นการฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดอีกด้วย นอกจากนี้อาจจะแช่น้ำยาเพื่อกันโรคระบาดที่มากับอากาศ หรือคลุกเคล้ากับสารเคมีเพื่อป้องกันโรคที่จะตามมาหลังปลูก ก็จะเป็นการป้องกันเบื้องต้นได้ดีในระดับหนึ่ง

เมล็ดพันธุ์

6. หยอดเมล็ด

การหยอดเมล็ดนิยมใช้ในการปลูกพืชจำพวกตระกูลถั่วหรือแตง เช่น แตงกวา แตงโม ฟักทอง มะระ น้ำเต้า บวบ ถั่วฝักยาว ถั่วแระ ถั่วแขก หรือถั่วลิสง เป็นต้น ผักเหล่านี้จะมีอัตราในการงอกสูงเติบโตเร็ว โดยมีวิธีการดังนี้คือ เตรียมกระถางที่จะนำมาใช้เป็นภาชนะในการปลูก ขุดดินให้หลุมพอดีกับขนาดกระถาง แล้วหยอดเมล็ดพันธุ์ลงในปริมาณหลุมละ 3-5 เมล็ด กลบดินโดยใช้มือตบเล็กน้อย และรดน้ำพอให้ชุ่ม ระวังอย่าหยอดเมล็ดมากเกินไป เพราะจะทำผักที่งอกขึ้นมามีการเบียดเสียดหนาแน่น ควรหยอดให้พอเหมาะพอดีกับพื้นที่กระถางที่ใส่ด้วย

หยอดเมล็ด

7. เพาะต้นกล้า

เตรียมความพร้อมโดยคำนึงถึงสถานที่ในการเพาะปลูกเป็นอันดับแรก โดยพื้นที่วางกระถางควรจะมีแสงแดดส่องถึงเพื่อให้ผักมีการเจริญเติบโตที่ดี อากาศถ่ายเทได้สะดวก จากนั้นให้เตรียมเมล็ดพันธุ์ที่คัดสรรมาแล้ว และกระถางที่จะนำมาใช้เพาะต้นกล้า 

ขั้นตอนถัดไปให้ใส่กาบมะพร้าวสับละเอียดรองไว้ใต้ภาชนะที่เราเตรียมไว้ จากนั้นใส่ดินที่ผสมปุ๋ยมาแล้วเกลี่ยให้ทั่ว โรยเมล็ดลงไป ใช้ดินกลบบาง ๆ เพื่อให้คลุมเมล็ด นำกระดาษหนังสือพิมพ์มาคลุมทับไว้อีกทีแล้วรดน้ำ เพราะกระดาษหนังสือพิมพ์จะช่วยทำให้หน้าดินเพาะมีความชุ่มชื้นแล้วนำไปวางในพื้นที่ร่ม แสงส่องถึง รดน้ำช่วงเช้าเย็น รอให้ต้นกล้างอกขึ้นมา

เพาะต้นกล้า

8. ปักชำ

ผักหลายชนิดมีการขยายพันธุ์เพาะปลูกโดยการปักชำ โดยแบ่งออกเป็น 3 ชนิดดังนี้

  • ผักที่มีรากติดกับลำต้น เช่น ผักชี ขึ้นฉ่าย ตะไคร้ ผักบุ้งเป็นต้น นำรากส่วนที่เหลือจากการประกอบอาหารมาแช่น้ำ แล้วนำไปวางไว้กลางแดดเพื่อให้มีการแตกใบอ่อนออกมาจากนั้นก็สามารถนำไปปลูกได้เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
  • ผักที่นำลำต้นหรือกิ่งก้านไปปักชำได้ เช่น ต้นกะเพรา ใบโหระพา ต้นแมงลัก โดยจะใช้กิ่งอ่อนหรือลำต้นที่เราเด็ดใบออกไปแล้วนำกิ่งที่เหลือ ที่มียอดหรือใบอยู่เล็กน้อยติดก้านหรือลำต้น นำเอาก้านไปปักชำในดินที่เตรียมไว้ก็จะช่วยให้รากงอกและสามารถขยายพันธุ์เป็นต้นขึ้นมาได้อีก
  • ผักที่นำยอดไปปักชำเพื่อขยายพันธุ์ได้เลย ได้แก่ ผักปลัง อ่อมแซบ สะระแหน่ ผักแพว ที่สามารถนำยอดอ่อนส่วนปลาย เด็ดให้เหลือติดกิ่งมาสักประมาณ 1 เซนติเมตรเป็นอย่างน้อย แล้วนำไปปักชำในภาชนะที่เตรียมไว้เท่านี้ก็จะสามารถเป็นการขยายพันธุ์โดยการปักชำได้เช่นกัน

เคล็ดลับเพิ่มเติมคือ หากนำไปปักชำในวิธีข้างต้นควรจะเลือกการชำในตอนช่วงเย็นจะดีมาก แล้วนำมาพักในที่ร่มให้ผักได้ปรับสภาพฟื้นตัวเสียก่อน แล้วค่อยนำออกแดด และถ้าหากการปักชำด้วยกิ่งหรือก้านมีใบติดมาเยอะควรเด็ดใบออกบ้างเพื่อลดการคายน้ำ เท่านี้ก็สามารถนำผักไปปักชำให้เกิดการขยายพันธุ์เพาะปลูกได้แล้ว

ปักชำ

9. รดน้ำ

การรดน้ำควรมีการทำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็นเนื่องจากอากาศไม่ร้อนเกินไป ในช่วงเช้าเวลาที่เหมาะสมควรเป็นช่วงเวลา 6.00-8.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่แดดยังอ่อนไม่แรงทำให้ต้นไม้ได้รับน้ำและอากาศในอุณหภูมิที่พอเหมาะพอดี 

ในตอนเย็นควรจะเป็นช่วงหลังพระอาทิตย์ตกเดินในช่วง 16.00-18.00 น. เพราะช่วงนี้น้ำในดินที่รดน้ำในช่วงเช้าจะมีการระเหยออกไปบางส่วนแล้ว และควรดูแลรดน้ำในปริมาณที่พอเหมาะพอดีไม่เยอะและไม่น้อยเกินไปสำหรับความต้องการของพืชผัก ข้อสำคัญคือไม่ควรที่จะรดน้ำในตอนแดดแรงเพราะจะทำให้ผักเสียหายและตายได้

รดน้ำ

10. ปุ๋ย

นอกจากน้ำและดินที่สมบูรณ์ในการเพาะปลูกแล้ว เราควรใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มสารอาหารให้กับพืชของเราด้วย ยิ่งการปลูกในกระถางด้วยแล้วจำเป็นอย่างมากที่จะต้องนำสารอาหารจากปุ๋ยเหล่านี้มาบำรุงทดแทนปุ๋ยในธรรมชาติที่พืชในกระถางไม่สามารถหาได้ โดยปุ๋ยมีให้เลือกใช้หลายชนิด เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยสำเร็จที่สามารถหาซื้อได้จากท้องตลาดทั่วไปได้อย่างสะดวก ซึ่งก็สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มธาตุอาหารสำหรับการเจริญเติบโตได้อย่างปรกติและได้ผลผลิตตามที่ควร

ปุ๋ย

11. ปลูกภายในบ้าน

อย่างที่กล่าวมาแล้ว เราควรคำนึงถึงพื้นที่ที่เรามีเสียก่อนว่ามีมากน้อยแค่ไหน การปลูกผักภายในบ้านยังเป็นทางเลือกนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายปลูกไว้ทานเองแล้ว ยังปลูกเพื่อตกแต่งทำเป็นสวนครัว เพื่อเพิ่มความสวยงามภายในบ้านอีกด้วย

ปลูกภายในบ้าน

12. เคล็ดลับ

หากต้องการให้ผักในกระถางของเราเติบโตงอกงามและให้ผลผลิตที่ดี เราควรจะใส่ใจกับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • ดิน: เป็นปัจจัยหลักสำคัญก็ว่าได้ ในการจะทำให้ผลผลิตของเราเติบโตได้ดี ควรเลือกใช้ดินที่ดีมีคุณภาพ มีความสมบูรณ์พร้อม มีความอุ้มน้ำได้ดี มีแร่ธาตุที่ช่วยในการเร่งการเจริญของพืชผักได้อย่างเหมาะสม
  • น้ำ: ช่วยให้ดึงเอาแร่ธาตุภายในดินออกมาใช้ประโยชน์เพื่อก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของพืชผักได้ดี และช่วยให้ดูดซึมความชุ่มชื้นในดิน เพื่อให้รากดูดสารอาหารไปหล่อเลี้ยงในส่วนต่าง ๆ ไปจนถึงส่วนยอดเพื่อให้ผักเติบโต
  • ปุ๋ย: เป็นสารอาหารที่พืชผักได้รับเสริมเข้ามานอกเหนือที่ได้จากดินและน้ำซึ่งไม่เพียงพอสำหรับที่ผักจะนำไปสังเคราะห์เป็นอาหารมาหล่อเลี้ยงตัวเอง ดังนั้นการใส่ปุ๋ยจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น จึงจำเป็นอย่างมากต้องบำรุงด้วยปุ๋ยควบคู่กันไปด้วยพร้อมกัน
  • อากาศ: ช่วยในเรื่องของก๊าชธรรมชาติที่พืชผักต้องการเช่น ก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจนเปรียบได้กับการหายใจของพืช โดยหากเราทำให้ดินมีความร่วนซุย อากาศจะถ่ายเทได้สะดวกช่วยให้เราได้ผลผลิตที่ดี
  • อุณหภูมิ: มีส่วนในการเจริญงอกงามของพืชผักเช่นกัน พืชบางชนิดมีความต้องการไม่เหมือนกัน บ้างชอบอุณหภูมิร้อน บ้างชอบอุณหภูมิที่เย็น ข้อนี้เราควรศึกษาเพื่อให้เข้าใจผักแต่ละชนิดให้ดี
  • แสงแดด: แสงสว่างจะช่วยให้พืชผักมีการสังเคราะห์แสงที่ดี ช่วยในการสร้างอาหารเพื่อการเจริญเติบโตที่ดี หากแสงน้อยพืชจะมีการจะส่งผลให้พืชผักมีความไม่สมบูรณ์ลำต้นแคระแกร็น แต่มีในบางชนิดที่ชอบแสงจัดแต่บางชนิดก็ชอบแสงแดดอ่อน ๆ ซึ่งเราต้องศึกษาหมั่นดูแลทำความเข้าใจเช่นกัน

เคล็ดลับ

การปลูกผักในกระถาง เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่พื้นที่จำกัด เหมาะกับคนเมืองที่มีพื้นที่สวนเล็กๆ ด้านหน้าหรือด้านหลังบ้าน การปลูกผักวิธีนี้ทำได้ไม่ยาก และสามารถเลือกปลูกได้หลายชนิด โดยเฉพาะผักสวนครัวที่เรานำมาประกอบอาหารเป็นการลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย ดังนั้นหากท่านนำบทความนี้ไปปรับใช้รับรองว่าท่านจะมีพื้นที่ขนาดใดก็สามารถปลูกผักในกระถางไว้อย่างที่ตั้งใจทำได้อย่างแน่นอน

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร