สังคมมนุษย์ในสมัยโบราณ คนเกือบทั้งหมดนับเป็นประชากรชนบทที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ยิ่งมีพื้นที่ใหญ่ก็สามารถเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชอาหารและทำปศุสัตว์ได้ดี ชนบทจึงเป็นแหล่งปัจจัยสี่ที่มีทรัพยากรรองรับชีวิตของมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ส่วนพื้นที่เมืองมีประชากรอยู่เพียงเล็กน้อย เพราะเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ ที่ชนบทแต่ละแห่งไม่สามารถผลิตเองได้ ซึ่งคนชนบทจะเข้ามาในเมืองเป็นครั้งคราวเพื่อหาสินค้าบางอย่างกลับไปใช้สอยในพื้นที่ชนบทเท่านั้น
สังคมมนุษย์แยกขาดระหว่างคนส่วนใหญ่ในชนบทกับคนส่วนน้อยที่อยู่ในเมืองมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทำให้การผลิตที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกย้ายจากพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมมาสู่อุตสาหกรรมและการค้าการบริการในเขตเมือง เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้ามาสู่เมืองอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีประชากรเมืองมากกว่าประชากรชนบทแล้ว
ในอดีตเราแบ่งพื้นที่ระหว่างเมืองกับชนบทได้ง่าย ด้วยองค์ประกอบทางกายภาพที่เรียกว่า “กำแพงเมือง” (อาจเป็นกำแพงหรือองค์ประกอบอื่นๆ ที่ระบุขอบเขตเมืองอย่างชัดเจน เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หรือหน้าผา) โดยพื้นที่เมืองคือ พื้นที่ที่อยู่ในกำแพงเมือง และนอกกำแพงเมืองก็เป็นพื้นที่ชนบท
คนเมืองและกิจกรรมการผลิตแบบเมืองก็จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเขตกำแพงเมืองเท่านั้น รวมทั้งยังมีถนนหนทาง บ้านเรือน และโครงสร้างพื้นฐานรองรับวิถีชีวิตแบบเมืองด้วย สำหรับการขยายพื้นที่เมืองทำได้ด้วยการขยายกำแพงเมือง เช่น กรุงรัตนโกสินทร์ที่ขยายพื้นที่เมืองด้วยการขุดคลองรอบเมืองถึงสามครั้ง เมื่อพ้นจากกำแพงเมืองก็เป็นพื้นที่เพาะปลูกหรือพื้นที่รกร้าง
แต่เมืองในปัจจุบันไม่ได้มีกำแพงเมืองอีกต่อไปแล้ว โดยเปลี่ยนวิธีการกำหนดขอบเขตเมืองด้วยประโยชน์ใช้สอยแทนการกำหนดด้วยกายภาพแบบในอดีต
วิถีชีวิตแบบเมือง
ก่อนที่จะรู้ว่าพื้นที่เมืองอยู่ตรงไหน ต้องเข้าใจก่อนว่าวิถีชีวิตแบบเมืองเป็นอย่างไร ซึ่งมีองค์ประกอบอยู่ 2 ประการ
1. มนุษย์เมืองมีอาชีพแบบเฉพาะทาง (Specialization) หรือแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) ใครเก่งทำอะไรก็ทำอาชีพนั้นไปอย่างเดียวไม่ต้องทำอย่างอื่นที่ไม่เก่ง แล้วใช้กลไกทางเศรษฐกิจของเมืองคือการเป็นพื้นที่ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมาช่วยให้คนเมืองสามารถมีองค์ประกอบต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตครบถ้วน โดยผ่านการแลกเปลี่ยนจากคนอื่น ๆ ที่เชี่ยวชาญด้านอื่นมากกว่าตนเอง ด้วยกลไกดังกล่าวทำให้มนุษย์เมืองมีสินค้าและบริการได้ครบถ้วนโดยไม่ต้องทำเองทั้งหมด อีกทั้งยังมีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง เพราะทำจากผู้เชี่ยวชาญ ต่างจากมนุษย์ชนบทที่ต้องทำเองทุกอย่าง เป็นทั้งชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ช่างฝีมือ แรงงานอุตสาหกรรมพื้นบ้าน ครู หมอ ฯลฯ ในตัวคนเดียว
2. มีโครงสร้างพื้นฐานแบบเมือง เมื่อมนุษย์มากระจุกตัวรวมกันอยู่ในพื้นที่เมือง ทำให้ความจำเป็นในการพึ่งธรรมชาติโดยตรงลดลงสามารถอยู่ เพราะมีการจัดการให้มีถนนหนทาง แสงสว่าง น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค การป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ การจัดการของเสีย และการรักษาโรคอย่างมีคุณภาพและเพียงพอต่อการใช้งานของพลเมือง สิ่งเหล่านี้พัฒนาจนกลายเป็นระบบคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่ได้มาตรฐาน ต่างวิถีชีวิตชนบทที่ยังสัญจรบนคูนาคันดิน ใช้แสงเทียนส่องสว่างในกระท่อม ใช้น้ำอุปโภคบริโภคจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้โดยตรง มีของเสียต่างๆ น้อยจนสามารถย่อยสลายเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องจัดการ
พื้นที่เมือง
เมื่อเข้าใจหลักการของวิถีชีวิตแบบเมืองว่า ต้องการโครงสร้างพื้นฐานแบบเมืองแล้ว ก็สามารถสรุปได้ว่าพื้นที่เมืองคือพื้นที่ที่ได้รับบริการด้วยโครงสร้างพื้นฐานแบบเมืองอย่างครบถ้วน
สิ่งเหล่านี้สามารถรองรับการอยู่อาศัยและกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดพื้นที่เมืองจึงผูกพันกับการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานแบบเมืองอย่างแยกกันไม่ได้ และนี่คือเหตุสำคัญที่ต้องมี “ผังเมืองรวม” เพื่อเป็นผังแม่บทให้เจ้าของที่ดินและผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ดำเนินกิจการของตนเองไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ
นอกจากการกำหนดพื้นที่เมืองด้วยขอบเขตการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานแบบเมืองแล้ว ยังมีการกำหนดรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารเมืองอีกด้วย เรียกว่า “เทศบาล” (Municipality) ที่มีขอบเขตหน้าที่ โครงสร้างบุคลากรและงบประมาณที่สอดคล้องกับการบริหารจัดการเมือง และยกโครงสร้างพื้นฐานหลายประการให้ไปอยู่ในการกำกับดูแลของเทศบาล เพื่อให้มีอิสระและสามารถตอบสนองความต้องการจำเพาะของเมืองนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีพันธกิจในการจัดการพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม จึงมีโครงสร้างบุคลากรและงบประมาณที่ไม่สามารถจัดการพื้นที่แบบเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หันมาดูการกำหนดพื้นที่เมืองในประเทศไทย จะพบความไม่สอดคล้องกันในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในหลายพื้นที่ เกิดพื้นที่แบบเมืองโดยเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรในเขตที่ยังไม่มีระบบประปาครอบคลุมไปถึง ไม่มีระบบป้องกันน้ำท่วมที่มั่นคงสำหรับพื้นที่เมือง หลายแห่งอยู่นอกเขตเทศบาลทำให้ไม่มีองค์กรที่มีความพร้อมในการจัดการพื้นที่แบบเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการน้ำเสียและขยะมูลฝอย ถ้าจะเลือกซื้อบ้านหรืออาคารก็ควรดูสิ่งเหล่านี้เพิ่มเติมด้วยนะครับว่า พื้นที่นั้นมีองค์ประกอบของการเป็นพื้นที่เมืองอย่างครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลังที่ไม่ได้รับบริการแบบเมืองอย่างที่คาดหวังไว้
เขียนโดย : รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล : [email protected]