ใครๆ ก็รักผู้กู้สินเชื่อบ้านมาตรการต่างๆ ที่ออกมาในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาช่างเอื้ออำนวยให้กับผู้ประกอบการสร้างบ้านขายพอใจที่จะได้รับผลดีจากการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนธนาคารผู้ให้กู้ก็จะได้รับผลต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนย่อมมีประโยชน์โดยตรงกับผู้กู้สินเชื่อบ้าน แต่จะมีผลประโยชน์อย่างไร เรามาดูกันซิว่ามีมาตรการใดบ้าง เพราะมีระยะเวลาของมาตรการเหล่านี้ที่มีกำหนดเวลา เราอาจเสียสิทธิไปก็ได้ หากไม่ใช้สิทธิเกินเวลาไป
มาตรการล่อใจคนซื้อบ้าน (ปรับเงื่อนไขเงินกู้ ลดค่าโอน-จำนอง ลดหย่อนภาษี) รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำให้รัฐเสียรายได้จากมาตรการลดค่าธรรมเนียม ลดหย่อนภาษีไปบ้าง แต่ผลที่ได้จะทำให้ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยได้รับประโยชน์โดยตรง นอกจากนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆ (Value Chain) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอื่นจำนวนมาก เช่น ธุรกิจก่อสร้าง สถาปนิก ตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน ฯลฯ
* เพิ่มวงเงินกู้ซื้อบ้านโดยปรับเงื่อนไขการกู้ พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
มาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการขอสินเชื่อบ้าน โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยพิจารณาสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 33% เป็น 40-50% ของรายได้สุทธิต่อเดือน นั่นทำให้ผู้มีรายได้ 30,000 บาทสามารถกู้เงินได้ถึง 3 ล้านบาท จากเดิมกู้ได้เพียง 1.8 ล้านบาท และคิดอัตราดอกเบี้ย ปีแรก 3.5% ปีที่สอง 4.25% และปีต่อไปจนครบสัญญา MRR-0.75-1.0% โดยมีวงเงินให้กู้รวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีผู้สนใจกู้มากจนต้องขยายวงเงินเพิ่ม รวมทั้งธนาคารออมสินก็มาให้กู้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยด้วย
เนื่องจากการปรับลดเงื่อนไขดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงต่อหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น เหมือนกับเป็น Subprime ธนาคารจึงขอแยกวงเงินสำหรับการนี้ต่างหาก โดยไม่นับรวมกับหนี้เสียปกติในการวัดเกณฑ์ประสิทธิภาพของธนาคาร
* ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนองเป็นเวลา 6 เดือน
ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ในกรณีการโอนเหลือ 0.01% และลดค่าจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากเดิม 1% เหลือ 0.01% ของมูลค่าที่จำนองแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งจะมีผลเพียง 6 เดือน คือถึงวันที่ 30 เมษายน 2559
* หักลดหย่อนภาษีเงินได้ กรณีซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท
สำหรับผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยจริงเป็นครั้งแรก และเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นเกินกว่า 5 ปี มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อเนื่องกัน 5 ปีภาษี โดยต้องซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 31 ธันวาคม 2559
ทั้งนี้หากนำมาเฉลี่ยเป็นรายปีของมูลค่าบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท จะลดหย่อนได้ถึง 600,000 บาทหรือปีละ 120,000 บาท
* มาตรการลดหย่อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมปกติ
ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมกับสถาบันการกู้ยืมภายในประเทศที่ได้จำนองอสังหาริมทรัพย์ไว้ หักลดหย่อนวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เหมือนปกติ ซึ่งแยกต่างหากจากมาตรการลดหย่อนภาษีข้างต้น เท่ากับได้รวมถึง 2 เท่าจากเดิม
ผลสรุป
คงต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดว่ามาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้จริงหรือไม่เพียงใด หรือถ้าไม่สามารถทำได้จริงจะทำให้รัฐขาดทุนเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นเพิ่มหนี้ครัวเรือน เพิ่มภาระให้กับประชาชนมากขึ้นต่อไปหรือเปล่า
ผู้เขียน : มีชัย คงแสงชัย
ผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทย
อดีตผู้จัดการสายสินเชื่อบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์
ปัจจุบันเป็นกรรมการและเหรัญญิก สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย