เมื่อตัดสินใจที่จะมีบ้านใหม่ อาจเป็นเพราะเริ่มมีครอบครัวใหม่ ข้าวใหม่ปลามัน หรือต้องการเปลี่ยนบ้านใหม่ เพราะบ้านเก่าเล็กไปบ้างเก่าไปบ้างหรือเป็นเพราะย้ายที่อยู่ใหม่ก็ต้องการบ้านใหม่ หรือมีบ้านอยู่แล้วต้องการขยายปรับปรุงบ้านใหม่ เหล่านี้แน่นอนว่าผู้ซื้อหรือผู้สร้างบ้านย่อมศึกษาทำเล ประเภทบ้าน ราคา สิ่งแวดล้อมที่ต้องการให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ตัวเอง สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก็คือเตรียมเงินที่ได้ออมไว้ส่วนหนึ่งสำหรับเป็นเงินมัดจำ เงินดาวน์ เงินส่วนเพิ่มสำหรับการสร้างบ้านที่ไม่ให้ “บาน” มิฉะนั้นก็ต้อง “บ้า” ไปเลย ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นส่วนใหญ่ก็ต้องไปขอกู้กับสถาบันการเงินต่างๆ
จะกู้ที่ไหนดี
สถาบันการเงินที่ให้กู้มีหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีหลายแห่ง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน นอกจากนั้นยังมีสหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัทอสังหาริมทรัพย์ การเคหะแห่งชาติ หรือบริษัทนายจ้างของตนเอง เป็นต้น แต่การที่จะเลือกสถาบันการเงินที่ให้กู้เพื่อซื้อบ้านก็ควรต้องศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เหมาะกับความต้องการของผู้กู้แต่ที่ไม่แนะนำก็คือกู้กับอาบัง หรือใช้บัตรเครดิตรูดปื้ด เพราะดอกเบี้ยก็จะทำให้ก้นบานเป็นแน่
เงื่อนไขสินเชื่อที่เหมาะกับตัวเอง
ในการเลือกสถาบันการเงินสำหรับกู้สินเชื่อบ้านประเด็นที่สำคัญคือสถาบันแห่งนั้นเป็นสถาบันที่ให้กู้เป็นอาชีพหรือไม่ หรือเป็นเพียงเฉพาะกิจ เพราะการกู้ซื้อบ้านต้องใช้เวลาในการผ่อนชำระที่ยาวนาน 25-30 ปี และในการผ่อนชำระนั้นไม่ควรมีการสะดุดใดๆ หรือถูกเรียกคืนเงิน ระหว่างผ่อนชำระสถาบันการเงินที่ให้บริการเป็นอาชีพจะให้เงินกู้ผ่อนชำระคืนในระยะยาว
ดอกเบี้ยต่ำดูอย่างไร
ถ้าต้องการดอกเบี้ยต่ำและไม่ต้องการให้มีภาระกับการผ่อนมาก ก็ควรจะเลือกอัตราดอกเบี้ยคงที่กับสถาบันที่ให้กู้อัตราดอกเบี้ยคงที่นานๆ เช่น 5 ปี เพราะในระหว่างนั้นจะไม่มีการปรับอัตราผ่อน และหลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยที่คิดเป็นเท่าไร ส่วนใหญ่จะอิงกับ MLR ลูกค้าชั้นดี หรือ MRR ลูกค้าชั้นดีรายย่อย ซึ่งอย่างหลังจะมีอัตราสูงกว่าเล็กน้อย การอิงกับอัตราดังกล่าวจะต้องดูว่าบวกหรือลบเท่าไรจากอัตราอ้างอิง ถ้าคำนวณแล้วสูงกว่าอีกสถาบันหนึ่งก็เป็นข้อพิจารณาเลือกใช้บริการ
กู้ได้มากน้อยดูตรงไหน
การคำนวณวงเงินให้กู้ สถาบันการเงินจะมีการประเมินราคาบ้านโดยบริษัทประเมินราคา ซึ่งส่วนใหญ่ธนาคารพาณิชย์จะมีบริษัทในเครือเป็นผู้ประเมิน ซึ่งการประเมินราคาหลักประกันถ้าเป็นโครงการที่สร้างโดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำจะอิงกับราคาซื้อขายบ้านเป็นหลัก ดังนั้นวงเงินให้กู้ตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าเป็นบ้านแนวราบคือ บ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์ สูงสุดไม่เกิน 95% ของราคาประเมิน และเป็นบ้านแนวดิ่ง หมายถึง คอนโด สูงสุดไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน ฉะนั้นถ้าผู้กู้มีเงินออมมากหน่อยก็ไม่ต้องกังวลเรื่องวงเงินกู้มากเท่ากับผู้มีเงินออมจำกัดที่จำต้องเลือกสถาบันที่ให้วงเงินกู้มากกว่า