ปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนกำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิตอล ในขณะที่การออกแบบที่อยู่อาศัยและการตกแต่งบ้านกลับย้อนกลับไปสู่เทรนด์ Eco Design หรือ Sustainable Design ที่เน้นการถนอมไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่างๆ หรือการออกแบบที่เน้นการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ไม่ทางการมองเห็นก็เป็นการดึงหรือแทรกตัวพื้นที่ใช้สอยเข้าไปกับพื้นที่สีเขียว ผืนน้ำ และการเปิดให้แสงธรรมชาติลอดเข้ามาในบ้านให้มากที่สุด มารู้จักกับการออกแบบในรูปแบบ Back to Nature กันครับ
บรรยากาศโดยรวม
การใช้วัสดุก่อสร้างและปิดผิวแสดงเนื้อแท้ของอิฐ หิน ปูน ไม้ แบบที่ว่ามีการแปรรูปไม่มากหรือไม่มีการทาสีเคลือบปกปิดผิวจริงของวัสดุ ยกเว้นประโยชน์ใช้สอยในแง่ของการกันสนิม ยืดอายุการใช้งาน หรือการใช้วัสดุทดแทนในบริเวณที่ต้องการบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นไม้ ระแนงไม้ เป็นต้น
บรรยากาศภายในห้องนอน
บ้านในสไตล์โมเดิร์นจึงมักลดทอนความหรูหราฟุ่มเฟือยและรูปทรงที่ซับซ้อน เหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐาน มีความเป็นผนังทึบเท่าที่จำเป็น หลังคามีหน้าที่ป้องกันความร้อนจากแดดและน้ำฝน ส่วนช่องเปิดโล่งขนาดใหญ่ นอกจากทำให้แสงลอดเข้ามาได้มากพอแล้ว ยังเปิดมุมมองไปยังส่วนที่ต้องการได้เต็มตา
บรรยากาศโดยรวม
ความร่วมสมัยในการออกแบบและตกแต่งบ้านในปัจุบัน จึงเป็นการผนวกวิถียุคดิจิตอลเข้ากับการอยู่อย่างธรรมชาติ ไม่ใช่การตกแต่งหรูหรา แต่คำนึงถึงความจำเป็นพื้นฐาน ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ปล่อยให้ทุกองค์ประกอบของอาคารทำหน้าที่ที่ควรจะเป็นมากกว่าการประดับประดา ความสวยงามของการออกแบบจึงเป็นการจัดการกับที่ว่างทั้งภายนอกและภายใน ที่มักเชื่อมด้วยพื้นที่กึ่งภายนอกกึ่งภายในซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้บ้านหายใจได้ ไม่ต้องพึ่งพาระบบปรับอากาศกันตลอดเวลา
บรรยากาศโดยรวม
สุดท้ายผู้คนก็เริ่มหันมานิยมวิถีการอยู่อาศัยแบบพอเพียง ใช้แต่ของจำเป็น เหมือนๆ กับการใช้สามาร์ทโฟนที่มีเครื่องเดียวก็ทำอะไรให้เราได้มากมาย ไม่ต้องพกสมุดบันทึก คอมพิวเตอร์ กล้อง ทีวี วิทยุ นาฬิกา หรืออื่นๆ อีกมากมาย แถมจะซื้อของก็นั่งอยู่ที่บ้านได้ไม่ต้องเสียเวลาและเปลืองพลังงานออกไปจับจ่าย นั่นล่ะค่ะที่มาของแนวคิดการออกแบบร่วมสมัยในยุคนี้ที่ว่า “Less is More” ดังนั้นตกแต่งบ้านแบบ Back to Nature คราวนี้คนรุ่นใหม่อย่างเราๆ อย่าตกเทรนด์ อยู่กับธรรมชาติอย่างพอเพียงกันนะคะ
ภาพ : Wison Tungthunya & W Workspace (https://wisont.wordpress.com/2015/03/09/residence-c-by-boon-design/)
ผู้เขียน : มัลลิกา บุณฑริก
อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
สถาปนิกที่หลงไหลการถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้และประสบการณ์ในชีวิต
มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรม และภาพลักษณ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน