SMART SPACES คือใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าในขนาดพื้นที่จำกัด ทุกวันนี้มองไปรอบๆ ตัวเห็นแท่งคอนกรีตที่เรียกว่าคอนโดมิเนียมขึ้นมาบดบังทัศนียภาพ นั่งมองท้องฟ้าบนที่สูงๆ มองไปเห็นเป็นแนวสูงๆ ตํ่าๆ เป็นเส้นขอบฟ้าของเมือง ก็ให้นึกสงสัยว่าอะไรทำให้คนย้ายขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนนั้น ยิ่งฟังข่าวแผ่นดินไหวแล้วไหวอีกก็ออกจะหวั่นใจว่า กฎหมายควบคุมการออกแบบก่อสร้างอาคารบ้านเรานั้นทันสมัยพอที่จะรองรับแรงสั่นสะเทือนแรงๆ หรือยัง ก็ยุคนี้อะไรไม่เคยมีไม่เคยเห็นก็เกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะเรื่องของภัยทางธรรมชาติ อาจเป็นเพราะภาวะโลกร้อนที่รุมเร้าโลกเราอยู่นี่เอง ที่ทำให้เกิดสิ่งไม่พึงประสงค์ที่คาดเดาไม่ได้ต่างๆ นานา
แต่อย่างไรเสียวันหนึ่งเราก็อาจจะต้องเป็นเจ้าของอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมเข้าสักวัน ยังไงก็ลองมาคิดเล่นๆ กันว่าต้องเตรียมการอยู่อาศัยอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตดีๆมากกว่าความชอบในรูปแบบสวยงามเท่านั้น ไม่ว่าจะอยู่เป็นบ้านหลังแรกหรือใช้เป็นบ้านหลังที่สองก็ตาม
Make More with Less
สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจสำหรับการซื้อคอนโดมิเนียมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือขนาดพื้นที่ใช้สอยที่มักจะเล็กกว่าการอยู่ในบ้านที่เราคุ้นเคยมา แถมยังเป็นชั้นเดียวที่ทุกกิจกรรมถูกนำมาต่อกันในทางราบ แม้จะมีแบบที่เป็นชั้นลอย สองชั้น แต่ก็คงจะแพงเกินกำลังใครหลายๆ คน ทั้งยังมีเรื่องแบบแปลนของห้องที่เราเดินเข้าออกสำรวจดูหลายๆ โครงการเพื่อหาแบบถูกใจ ก็ดูคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเหมือนกันไปหมดจนไม่รู้จะเปรียบเทียบกันอย่างไร ยังไม่นับเรื่องช่องเปิดที่มากบ้างน้อยบ้างคล้ายๆ กัน และที่แน่ๆ คือเปิดให้ลมเข้าได้แต่หาทางลมออกไม่เจอ
ที่บรรยายมาทั้งหมดนี่ไม่ได้บอกว่าคอนโดมิเนียมไม่น่าอยู่ แต่นี่คือเรื่องที่ทุกคนที่เลือกซื้อคอนโดมิเนียมต้องยอมรับในข้อจำกัดเหล่านี้ รวมทั้งการเป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนกลางร่วมในอาคารเดียวกันเหมือนครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งลักษณะการอยู่อาศัยในแนวตั้งที่กล่าวมา สถาปนิกสามารถออกแบบแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับพื้นที่ใช้สอยและคุณภาพของที่ว่างในอาคาร เพื่อการอยู่อาศัยอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานได้ในที่สุดอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดของการใช้พื้นที่ที่กล่าวมา ทำให้มีสิ่งต้องคำนึงถึงในการตกแต่งภายในเพื่อให้เหมาะกับกิจกรรมการอยู่อาศัยอยู่หลายประการ เช่น ห้องมีพื้นที่จำกัดต้องออกแบบให้เกิดที่ว่างโล่งมากที่สุด โดยใช้วิธีการจัดวางตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ชิดผนัง มีเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวน้อยชิ้นเท่าที่จำเป็นต้องใช้ การใช้กระจกเงา หรือแม้แต่การออกแบบที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามกิจกรรม (Multifunction Design) รวมถึงการเลือกสีและลวดลายขององค์ประกอบประเภทผ้า อย่างผ้าม่าน ผ้าหุ้มเบาะ ผ้าคลุมเตียง ที่ใช้สีสว่างกับพื้นที่ขนาดใหญ่ๆ การออกแบบการถ่ายเทของอากาศภายในห้องด้วยวิธีการกั้นผนังให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น หรือออกแบบช่องเปิดปิดระหว่างพื้นที่ใช้งานที่ต่อเนื่องกันให้ได้กว้างที่สุด เป็นต้น
Make More with Less
ลองเตรียมตัวเตรียมใจรับการอยู่อาศัยแนวตั้งแบบ SMART SPACES ที่เชื่อว่าเราคงมีคำตอบของตัวเองสักวันหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเพราะบ้านอยู่ไกลจากที่ทำงาน หรือย้ายงานไปอยู่ต่างเมืองต้องมีบ้านเพิ่มอีกหลัง เพิ่งแต่งงานแยกบ้านจากพ่อแม่ ซื้อไว้เป็นสินทรัพย์เผื่อให้เป็นมรดกลูกหลาน หรือซื้อไว้เพื่อปล่อยเช่าเป็นการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นเหตุผล เราก็สามารถสร้างพื้นที่อยู่อาศัยตามวิถีชีวิตของเราให้น่าอยู่ตามที่เป็นตัวเราอย่างมีคุณภาพได้ ขอเพียงใส่ใจในรายละเอียด หาข้อมูล และวางแผนการตกแต่งให้เหมาะกับกิจกรรมชีวิตของเราเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรพื้นที่เก๋ไก๋จะเล็กจะใหญ่ก็บ้านของเราล่ะค่ะ
ผู้เขียน : มัลลิกา บุณฑริก
อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
สถาปนิกที่หลงไหลการถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้และประสบการณ์ในชีวิต
มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรม และภาพลักษณ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน