Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ไขข้อข้องใจใครบ้างต้องยื่น ตม.30

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลายคนยังไม่รู้ว่า ตม.30 หรือชื่อย่อในภาษาอังกฤษ tm30 นั้นคืออะไร ต้องปฏิบัติตามอย่างไร และถ้าไม่ปฏิบติตามจะมีความผิดหรือไม่ เพราะว่าในปัจจุบันก่อนช่วงที่เกิดสถานการณ์โรค Covid – 19 ระบาดนั้น มีชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยด้วยหลากหลายจุดประสงค์ ดังนั้นเราจะมาทำความรู้จักว่า ตม.30 คืออะไร สำคัญอย่างไร รวมถึงวิธีการยื่น ตม.30 ด้วย ลองไปอ่านในบทความนี้กันเลยครับ

ตม.30 คืออะไร

จริงๆแล้ว ตม.30 คือชื่อของแบบฟอร์มที่ใช้แจ้งต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่าได้ทำการให้ชาวต่างชาติซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เข้าพักอาศัยในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงแรมที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงแรมฯและเกสเฮ้าส์ แมนชั่น อพาร์ตเม้นท์ สถานประกอบการหรือบ้านเช่าทั่วๆไป ซึ่งผู้ประกอบการ หรือผู้ให้เช่าต้องแจ้งต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายใน 24 ชั่วโมง ตามพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38

ตม.30-คือ

ทำไมต้องยื่น ตม.30

ในความเป็นจริงนั้นเรื่องการยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว แต่ในสมัยอดีตยังไม่มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด แต่ในปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้ประกอบการ หรือเจ้าของสถานที่พักซึ่งไม่ได้ยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 นั้นเป็นไปอย่างเข้มงวด เพราะมีความกังวลเรื่องสถานการณ์ก่อการร้าย รวมไปถึงการยับยั้งอาชญากรที่ทำหารหลบหนีข้ามประเทศ ตามความร่วมมือของประเทศไทยกับ Interpol นั่นเอง 
ซึ่งแบบฟอร์ม ตม.30 นอกจากจะช่วยให้ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรู้ว่าชาวต่างชาติที่เดินเข้ามายังประเทศไทยนั้นพักอยู่ไหนแล้ว ยังช่วยในเรื่องการเก็บข้อมูลการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติในประเทศไทย และช่วยให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสามารถจัดการไม่ให้ชาวต่างชาติเหล่านั้นอาศัยอยู่ในประเทศเกินกำหนด และไม่ให้ทำงานในประเทศอย่างผิดกฎหมายอีกด้วย 

ทำไมต้องยื่นตม.30

ตม.30 ยื่นได้ช่องทางไหนบ้าง 

การยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนั้นในปัจจุบันสามารถยื่นได้หลายช่องทาง ซึ่งถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของกิจการ หรือผู้ให้ชาวต่างชาติเช่าที่พักได้มากขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน 

ยื่นด้วยตัวเอง

การยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 ด้วยตัวเองนั้นสามารถไปยื่นได้ที่ช่องบริการแจ้งที่พักอาศัย (ตม.30) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันและเวลาราชการ โดยสามารถนำเอกสารมาแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นนำเอกสารมาแจ้งก็ได้ 
ส่วนเอกสารที่จะใช้ในการยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 นั้นประกอบด้วย เอกสาร 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรกคือเอกสารสำหรับกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ของเจ้าของบ้าน รวมไปถึงสถานที่ตั้งของสถานที่ซึ่งมีคนต่างชาติเข้ามาพักอาศัย เอกสารส่วนที่ 2 คือ บัญชีรายชื่อคนต่างชาติที่เข้ามาพักอาศัยในสถานที่นั้นๆ 
สำหรับการกรอกแบบฟอร์ม ตม.30 ในกรณีที่มายื่นด้วยตัวเองนั้นต้องกรอกเอกสารให้ชัดเจน และถูกต้องโดยยึดจากหนังสือเดินทางเป็นหลัก ซึ่งข้อมูลที่ต้องกรอกได้แก่ ชื่อ ชื่อกลาง ชื่อสกุลของชาวต่างชาติ เลขที่หนังสือเดินทาง เลขที่บัตรขาเข้า(บัตรตม.6) วันที่เดินทางเข้าประเทศ และวันที่เข้าพักในสถานที่นั้นๆ การกรอกเอกสารใช้การพิมพ์ หรือการเขียน ถ้าเป็นการเขียนต้องใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่เท่านั้น 

แจ้งทางไปรษณีย์

การส่งแบบฟอร์ม ตม.30 ทางไปรษณีย์นั้นต้องส่งในรูปแบบของไปรษณีย์ลงทะเบียนเท่านั้น  โดยใช้เอกสาร และกรอกรายละเอียดต่างๆ เหมือนกับการไปยื่นด้วยตัวเอง แต่ต้องสอดซองจดหมายขนาด 6.5 x 9 นิ้ว พร้อมติดแสตมป์ 10 บาท จ่าหน้าซองถึงผู้แจ้ง เพื่อที่ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะส่งใบรับแจ้งของเจ้าหน้าที่คืนไปให้ 
การส่งแบบฟอร์ม ตม.30 ทางไปรษณีย์นั้นต้องส่งไปที่ งานแจ้งที่พักอาศัยบุคคลต่างด้าว กองกำกับการ 2 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 7 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

แจ้งทางออนไลน์

การส่งแบบฟอร์ม ตม.30 ทางอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน และระบบการแจ้งตม.30 ก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแจ้งทางอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถทำได้ที่ www.immigration.go.th ในหน้าต่าง การแจ้งที่พักอาศัย หรือทางแอพพลิเคชั่น Section 38 ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS App Store และ Andriod Play Store 
ในส่วนการส่งแบบฟอร์ม ตม.30 ทางอินเตอร์เน็ตนั้นมีขั้นตอนที่ไม่ยาก เพียงแค่ทำกรอกข้อมูลให้ครบ และดำเนินการตามขั้นตอนของระบบ ซึ่งมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ เริ่มต้นด้วยการเข้าไปที่ https://www.immigration.go.th/content/service หลังจากนั้นเราก็คลิกไปที่ ‘Notifications of Residence for Foreigners’ (การแจ้งที่พักอาศัย) 
จากนั้นให้ทำการลงทะเบียนสำหรับผู้ที่ไม่เคยเข้ามาใช้งาน ส่วนถ้าเคยใช้งานแล้วให้เข้าสู่ระบบ ซึ่งการลงทะเบียนจะเป็นการกรอกข้อมูลต่างๆ ของผู้แจ้ง รายละเอียดของที่พัก รวมไปถึงประเภทของกิจการ ซึ่งต้องกรอกให้ครบถ้วนตามที่ทางระบบกำหนด จากนั้นต้อง Upload ภาพของสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน เมื่อทำตามขั้นตอนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ทางระบบจะส่ง E-mail กลับมาสำหรับ Username กับ Password เพื่อเข้าใช้งานในครั้งแรก 
เมื่อสามารถเข้าสู่ระบบได้แล้วก็เริ่มกรอกแบบฟอร์ม ตม.30 ให้เรียบร้อยตามที่ระบบได้กำหนดไว้ เพียงเท่านี้การยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย แต่ต้องอย่าลืมบันทึกหน้าจอ หรือพิมพ์เอกสารเก็บไว้เพื่อให้ชาวต่างชาติใช้ในการต่อวีซ่าด้วย 

ช่องทาง

ถ้าไม่ยื่น ตม.30 มีโทษอะไรบ้าง 

ตามพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38 ระบุไว้ว่าถ้าผู้ประกอบการไม่ยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 ภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่มีการให้คนต่างชาติเข้าพัก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้จัดการโรงแรมต้องระวางโทษปรับ 2,000 – 10,000 บาท ไม่มีโทษจำคุก ซึ่งการยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 นั้นห้ามลืมเด็ดขาด เพราะเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบอย่างเข้มงวด 
การยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 นั้นผู้ให้ที่พักต้องยื่นแบบฟอร์มนี้สำหรับชาวต่างชาติทุกคนที่เข้ามาพัก หรือในกรณีที่ชาวต่างชาตินั้นได้เดินทางออกไปยังสถานที่อื่นๆ โดยมีการบอกคืนห้องพัก แต่ได้กลับเข้ามาพักยังที่เดิมอีกก็ต้องยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 ใหม่ทุกครั้ง 
การยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 เพียงครั้งเดียวจะมีในกรณีที่ชาวต่างชาตินั้นพักอยู่เพียงที่เดียวอย่างต่อเนื่องโดยไม่ออกไปพักที่อื่นเลย เพราะเมื่อมีการเข้าพักในสถานที่อื่น สถานที่นั้นจะเป็นผู้ยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 ใหม่ให้เอง   

ความผิดถ้าไม่ยื่นตม.30

การยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 หรือแบบฟอร์ม tm30 ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ และห้ามละเลยโดยเด็ดขาด ซึ่งการยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 ในปัจจุบันสามารถทำได้ตามรายละเอียดในบทความนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และรวดเร็วมากกว่าเมื่อก่อน แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ยื่นแบบฟอร์ม ตม.30 อาจจะเนื่องด้วยความไม่เข้าใจในข้อกฎหมาย หรือขาดความรับผิดชอบก็ตาม ซึ่งการละเลยนั้นมีความผิดตามกฎหมาย และจะทำให้ถูกดำเนินคดีในที่สุด

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร