หนึ่งในกิจกรรมสมัยเรียน คือ การร่วมวงโยธวาทิตของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย พอเริ่มเรียนชั้นมัธยมผมก็สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำได้ว่า ครูให้หัดเป่าคลาลิเนต เพราะเป็นเครื่องดนตรีขนาดเล็กที่เหมาะกับเด็กตัวเล็กอย่างผม แต่ผมก็ไม่ได้เปลี่ยนเครื่องดนตรี แม้ว่าจะเจริญเติบใหญ่ในเวลาต่อมา ผมยังคงฝึกหัดเครื่องดนตรีชนิดเดิมจนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาช่วงเวลาหลายปีของการเล่นดนตรี ช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับชีวิตผมมากมาย ตั้งแต่การฝึกซ้อมดนตรีหลังเลิกเรียนเกือบทุกวัน เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเป็นการฝึกความอดทน การเรียนรู้วิธีการเป่าและการอ่านโน้ตดนตรี เป็นการเสริมทักษะเกี่ยวกับดนตรี การเป็นสมาชิกในวงโยธวาทิต ที่มีพี่ เพื่อน และน้อง อีกหลายคน ยังทำให้รู้จักผู้คน และเรียนรู้ผู้คน ยิ่งแต่ละคนต่างเล่นเครื่องดนตรีต่างกัน มีการฝึกซ้อมทั้งแบบเดี่ยว แบบกลุ่ม และพร้อมกันทุกคน ทำให้เข้าใจในเรื่องความสามัคคี ในการซ้อมและการแสดงจริงนั้น ทุกคนต้องเล่นดนตรีพร้อมกันบ้าง สลับกันบ้าง ตามโน้ตเพลง ยังมีการเล่นและการหยุดเล่น การส่งเสียงดังและเบาตามที่ครูผู้สอนชี้นำ ล้วนทำให้รู้จักการปฏิบัติตามระเบียบหรือตามผู้นำ นอกจากนี้วงโยธวาทิต ยังมีหน้าที่นำขบวนนักเรียนในพิธีกรรมต่างๆ นักดนตรีทุกคนนอกจากเล่นดนตรีแล้ว ยังต้องเดินแถวนำอย่างเข้มแข็ง พร้อมเพรียง และตามจังหวะดนตรี ทำให้รู้จักการเป็นผู้นำหรือผู้ตาม ทุกวันนี้ หากเจอะเจอลูกศิษย์ที่ไม่รู้จักระเบียบวินัย ไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตนเอง หรือไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่คนอื่น ก็จะรู้เลยว่า ลูกศิษย์ไม่เคยฝึกหัดเล่นดนตรีในวงโยธวาทิตอีกทั้งรู้ว่า ทุกวันนี้ ลูกศิษย์ส่วนใหญ่อยากเป็นแต่นักร้องนำ พร้อมที่จะแสดงเดี่ยว เท่านั้น (ฮา)
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20