ช่วงนี้ฝนตกรถติดครับ เวลารถหยุดนานๆ ผมมักจะมองหาสิ่งรอบตัวดูเพลินๆ อย่างเช่น ดูรถที่ติดอยู่รอบๆ ตัวเรา เดี๋ยวนี้รุ่นไหนคนใช้เยอะ ดูตึกรามบ้านช่องร้านค้ารอบด้านว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ใครกำลังสร้างอะไรใหม่ ดูป้ายโฆษณาว่าช่วงนี้เค้าขายอะไรกันบ้าง หรือมีป้ายโฆษณาบ้านที่ไหน อะไร เท่าไรบ้าง ก็เลยเป็นที่มาของบทความนี้ครับ
กรุงเทพมีป้ายโฆษณาเยอะจริงครับ มองไปทางไหนก็มีแต่ป้าย ด้วยความอยากรู้ว่าเรามีป้ายโฆษณาเยอะแค่ไหนเลยลองหาข้อมูลดู ก็พบว่าการติดตั้งป้ายต้องมีภาษีป้ายครับ ซึ่งผู้จัดเก็บคือสำนักงานเขตนั่นเอง โดยวิธีคำนวนภาษีนั้นคิดตามขนาดป้าย (ทุกๆ 500 ตาราง ซม.) และอัตราขึ้นอยู่กับว่าป้ายเป็นภาษาอะไรครับ หากภาษาไทยล้วนก็ 3 บาทต่อ 500 ตาราง ซม. ต่อปี หากมีภาษาต่างประเทศผสมก็ 20 บาท และหากเป็นภาษาต่างประเทศล้วนก็ 40 บาทครับ
จากสถิติของกองรายได้ สำนักการคลัง กรุงเทพมหานครในปี 2559 มีผู้จ่ายภาษีป้ายรวม 110,456 ราย รวม 856 ล้านบาท เทียบได้กับพื้นที่ป้ายมากกว่า 2.14 ล้านตารางเมื่อคำนวนด้วยอัตรา 20 บาท ต่อ 500 ตาราง ซม. (ประมาณสนามฟุตบอล 300 สนาม) ซึ่งหากนำรายได้มาเฉลี่ยกับจำนวนผู้จ่ายภาษีป้าย ก็จะตกประมาณ 7,750 บาทหรือ 19 ตารางเมตรต่อรายนั่นเอง
ในความเป็นจริงแล้ว หากเรามีร้านค้าและติดป้ายหน้าร้าน เราก็ต้องจ่ายภาษีป้ายเช่นกัน ดังนั้นตัวเลขสถิติผู้จ่ายภาษีนี้ นอกเหนือจากป้ายโฆษณาแล้ว ยังรวมป้ายร้านค้าอีกด้วย แต่เนื่องจากป้ายร้านมักมีขนาดเล็ก จึงเป็นเพียงส่วนน้อยของรายได้ทั้งหมด ทำให้เราสามารถใช้ภาษีป้ายเป็นตัวชี้วัดของปริมาณป้ายโฆษณาในแต่ละเขตได้ครับ
กรุงเทพมหานครแบ่งเป็น 50 เขต แต่ 5 เขตที่จ่ายภาษีป้ายมากที่ได้แก่ จตุจักร ราชเทวี ปทุมวัน คลองเตย และห้วยขวาง ซึ่งรายได้รวมจากทั้ง 5 เขตนี้ คิดเป็นสัดส่วน 29.3% ของรายได้ทั้งหมดและ 12.7% ของผู้จ่ายทั้งหมด เทียบเท่ากับพื้นที่ป้ายประมาณ 626,000 ตารางเมตร หรือสนามฟุตบอลเกือบ 90 สนามเลยครับ แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับพื้นที่ของแต่ละเขตแล้ว ที่อยู่ใจกลางเมืองอย่างราชเทวีจะมีความหนาแน่นมากกว่า ทำให้จตุจักร คลองเตยและห้วยขวางถูกแทนที่ด้วยบางรัก ป้อมปราบศัตรูพ่าย และสัมพันธวงศ์ครับ
ระหว่างปี 2558 ถึง 2559 ภาษีป้ายของกรุงเทพมีการปรับตัวขึ้น 7% ในขณะที่ 5 เขตน่าสนใจที่มีการเพิ่มของภาษีป้ายอย่างรวดเร็ว คือลาดกระบัง ดินแดง บางนา วังทองหลาง และลาดพร้าวครับ ซึ่งมีอัตราการเพิ่มของภาษีป้ายสูงสุด 26% ครับ ในกรุงเทพ ป้ายโฆษณามักเป็นป้ายขายอสังหาริมทรัพย์ หรือป้ายโฆษณาบ้าน ป้าโฆษณาคอนโด ดังนั้นภาษีป้ายที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นตัวชี้วัดของจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดตัวในแต่ละเขตก็ได้ครับ
เขียนโดย: ดร. คณิสร์ แสงโชติ
นักวิชาการผู้หลงใหลใน Big data และ Chief Economist ของ Baania.com
ดร. คณิสร์ ได้รับปริญญาเอกสาขา Finance จาก Kellogg School of Management ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย