HBG ฉบับส่งท้ายปีมะเส็งทีมงานได้รับเกียรติจาก คุณวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พ่อเมืองคนใหม่ของเวียงพิงค์ ที่เตรียมเดินหน้าสานต่อแผนและนโยบายการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ และยังเตรียมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้านการท่องเที่ยว การค้าการลงทุนและเมกะโปรเจ็กต์ ทั้งเรื่องรถไฟความเร็วสูง สนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ในฐานะพ่อเมืองเชียงใหม่มีการวางแผนและเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไรบ้าง
ท่านผู้ว่าฯ มีการสานต่อนโยบายและมีแผนการดำเนินงานในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่อย่างไร
จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ “นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง” (City of Life and Prosperity) หรือเมืองที่ให้ความสุขและชีวิตที่คุ้มค่าแก่การอยู่อาศัยและผู้มาเยือนในฐานะเมืองที่น่าอยู่และน่าท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมกับประตูการค้าการลงทุนสู่สากล เนื่องจากเชียงใหม่มีศักยภาพโดดเด่นในด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ล้านนา จนได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นนครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม รวมถึงนิตยสาร Travel + Leisure ประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับที่ 2 ของโลก
แผนการพัฒนาจังหวัดในอนาคตจะต้องรักษาจุดแข็งข้างต้นและต่อยอดศักยภาพที่มีอยู่เพื่อการสร้างรายได้ การรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจะต้องตอบสนองและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ ซึ่งมีกรอบและทิศทางในด้านการพัฒนา ทั้งในด้านขีดความสามารถด้านการแข่งขัน การลดความเหลื่อมล้ำ การเจริญเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปรับสมดุลและระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยกำหนดให้มีการพัฒนาใน 5 ด้าน คือ
ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและชุมชนอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนในระยะยาว จังหวัดจึงต้องให้ความสำคัญต่อการจัดพื้นที่เมืองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและให้ชุมชนสามารถจัดการฐานทรัพยากรของตนเองได้อย่างยั่งยืน
เมกะโปรเจ็กต์ด้านระบบคมนาคมที่จะเกิดขึ้น คาดว่าจะมีประโยชน์ต่อจังหวัดเชียงใหม่อย่างไร
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศภายใต้วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นการพลิกโฉมการพัฒนาประเทศครั้งสำคัญ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดเชียงใหม่ เช่น การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ถือเป็นการเชื่อมต่อจังหวัดเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองสำคัญอันดับ 1 ของประเทศไทย ก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน ได้แก่ เป็นการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาคและการลดระยะเวลาในการเดินทาง เพิ่มรูปแบบทางเลือกในการเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางระหว่างจังหวัด เป็นการเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาเมือง กระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟโดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบสถานี โดยมีการวางแผนควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์ที่ดินและออกแบบชุมชนเมือง เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจอื่นๆ รอบสถานี
ส่วนการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูล หากเกิดขึ้นจริงก็จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคและประเทศ (Aviation Hub) ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวการค้าการลงทุนและทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองระดับนานาชาติในที่สุด เมื่อพิจารณาการเชื่อมโยงกับสิ่งที่เชียงใหม่มีอยู่แล้ว เช่น เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีกับศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จะเป็นการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริการของจังหวัดเชียงใหม่ให้เข้มแข็งมากขึ้น
ไม่เฉพาะเชียงใหม่เท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ จังหวัดข้างเคียง อาทิ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน ก็จะได้รับประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากแต่ละจังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเชื่อมโยงกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่จะเกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่า และคาดว่าในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ชาวเชียงใหม่จะได้เห็นเมกะโปรเจ็กต์เหล่านี้อย่างแน่นอน
คุณวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
จังหวัดเชียงใหม่เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในด้านใดบ้าง
จังหวัดเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นอย่างมาก มีเป้าหมายเพื่อการเสริมสร้างขีดความสามารถของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สามารถขยายช่องทางและเพิ่มมูลค่าการค้า กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ให้มากขึ้น ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและบริการข้อมูลประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานในการสร้างความรู้ความเข้าใจและขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้มีการเตรียมความพร้อมบุคลากรภาครัฐในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ดังนี้
ท่านผู้ว่าฯ มีความในเรื่องอสังหาฯ อย่างไร หลัง พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่บังคับใช้
เชื่อว่าจะเป็นผลดีในการจัดการประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ให้เกิดความเป็นระเบียบ และเป็นแนวทางในการพัฒนาในอนาคตของเมืองให้สอดรับกับการเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชีย ที่สำคัญคือการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม โดยมาตรการทางด้านผังเมืองฉบับนี้ได้เน้นในส่วนของการจัดแบ่งพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ทั้งในด้านโบราณสถาน พื้นที่อนุรักษ์ทางศิลปกรรม หรือพื้นที่ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรรม
เนื่องจากเชียงใหม่กำลังมีการขยายตัวในการพัฒนาหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการค้าและการบริการของภาคเหนือที่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและด้านการค้าและบริการ ส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก ประกอบกับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กำลังมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น ดังนั้นทิศทางในการพัฒนาพื้นที่จึงเป็นการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ พื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่อนุรักษ์เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย พื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่บริการและการท่องเที่ยว ให้มีส่วนส่งเสริมเกื้อกูลกันอย่างสมดุล รวมถึงการวางแผนจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติให้มีการใช้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้การวางผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่จะต้องกำหนดพื้นที่การพัฒนาโดยเน้นการพิจารณาในภาพรวมของพื้นที่เป็นสำคัญ ทั้งการอนุรักษ์ทางสถาปัตยกรรม การใช้ประโยชน์ที่ดิน การเชื่อมโยงโครงข่ายบริการพื้นฐานทั้งระบบถนน ทางรถไฟ ทางอากาศ รวมถึงสาธารณูปโภคด้านต่างๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนการขยายตัวด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและการบริการในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง
จังหวัดเชียงใหม่ตระหนักถึงเหตุผลและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่มาโดยตลอด ดังนั้นจึงเห็นสมควรที่จะแก้ไขหรือปรับปรุงกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2555 ซึ่งประกาศใช้บังคับแล้ว ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องและตอบสนองความต้องการในการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งในปัจจุบันและรองรับการพัฒนาในอนาคตให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนตลอดไป
ภาครัฐมีนโยบายในการสนับสนุนหรือข้อแนะนำสำหรับธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างไรบ้าง
ด้วยศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สภาพภูมิประเทศ การคมนาคมและการขนส่ง เป็นปัจจัยที่ทำให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจุดหมายในการอยู่อาศัย เป็นบ้านพักตากอากาศของคนไทยและต่างชาติ จนกลายเป็นอุปสงค์ของคนจำนวนมาก จึงทำให้สถานการณ์แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ของเชียงใหม่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องของการซื้อขายที่ดิน บ้านจัดสรรและอาคารชุด
จากข้อมูลการขออนุญาตจัดสรรที่ดินในช่วงปี พ.ศ.2555 (ตุลาคม 2554-กันยายน 2555) จำนวน 72 โครงการ ช่วงปี 2556 (ตุลาคม 2555-กันยายน 2556) มีการขออนุญาตจัดสรรที่ดิน จำนวน 67 โครงการ ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 457 โครงการ ทั้งนี้พื้นที่ที่มีการขยายตัวของบ้านจัดสรร อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ดอยสะเก็ด สันทราย และสันกำแพง
ด้านอาคารชุดนับว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการขอจดทะเบียนอาคารชุด ในปี 2555 (ตุลาคม2554-กันยายน 2555) จำนวน 9 โครงการ ช่วงปี 2556 (ตุลาคม 2555-กันยายน 2556) มีจำนวน 17 โครงการ ปัจจุบันมีการขอจดทะเบียนอาคารชุดทั้งหมด 143 โครงการ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสารภี อำเภอสันทราย อำเภอแม่ริม และอำเภอหางดง
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นได้ชัดถึงการขยายตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นเรื่องปกติที่อุปทานของผู้ประกอบการจะสร้างเพื่อให้เป็นไปตามอุปสงค์ของประชาชน แต่การเติบโตต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบนโยบายให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดเชียงใหม่และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกปฏิบัติและไม่มีการผ่อนปรนใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งมีนโยบายขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการบ้านจัดสรรและอาคารชุดในการติดตั้งกล้อง CCTV ในโครงการ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยและลดการก่ออาชญากรรมหรือสามารถติดตามคนร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เชียงใหม่เมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศ ศูนย์รวมด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการคมนาคม หลากหลายรูปแบบทำให้ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย นอกจากการพัฒนาเมืองให้มีความเจริญเติบโตทัดเทียมนานาประเทศ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพพร้อมกับการพัฒนาและรักษาเมืองให้น่าอยู่คงความงดงามของศิลปวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของเชียงใหม่ให้ยั่งยืน เพื่อให้เชียงใหม่ก้าวสู่ความเป็นสากลอย่างสง่างาม...ตลอดไป