กระแสการพัฒนาเมืองได้เปลี่ยนแปลงได้ตามวิถึชีวิตของพลเมืองในแต่ละยุคแต่ละสมัย ด้วยเหตุทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ จากชุมชนเมืองสมัยโบราณที่เป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นปกครองและข้าราชบริพารเพียงอย่างเดียว ส่วนประชาชนส่วนอื่น ๆ ยังทำไร่ทำนานอยูในพื้นที่ชนบท จะเข้าเมืองเป็นครั้งคราวในยามที่มาขายผลิตผลทางเกษตรหรือถูกเกณฑ์มารับใช้ชนชั้นปกครองตามกฎหมาย ปัญหาเมืองในยุคนั้นก็จะเป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยจากข้าศึกศัตรู เมื่อเมืองพัฒนามาสู่การเป็นเมืองของพลเมืองจริง ๆ เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบธุรกิจของคนทุกชนชั้น จึงมีพลเมืองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางของวิถีชีวิตเมืองในยุคปัจจุบัน เมืองของพลเมืองในยุคแรกเกิดจากประชากรชนบทอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นประชากรเมืองเพิ่มขึ้นมาก ปัญหาที่มาตามมาก็คือ เรื่องสุขอนามัยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติต่างๆ อันเกิดจากการมีผู้คนมากระจุกตัวกันอย่างหนาแน่น เช่น การจัดการของเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดโรคระบาด ความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ใหญ่เนื่องจากอาคารไม่ได้มีมาตรฐานการป้องกันไฟที่ได้มาตรฐาน ส่วนเมืองในปัจจุบันก็มีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดและมลภาวะทางอากาศ เป็นต้น
เมืองจะกลายเป็นที่อยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของโลก
จากการศึกษาวิวัฒนาการของเมือง จะเห็นว่าชุมชนเมืองในแต่ละยุคสมัย มีปัญหาแตกต่างกันไป ซึ่งผู้มีหน้าที่ในการบริหารจัดการเมืองก็ได้พยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด เช่น มีระบบการระบายน้ำเสียและจัดการของเสียที่ได้มาตรฐาน มีกฎหมายควบคุมอาคารที่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันสาธารณภัยและมีหน่วยงานดับเพลิงเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มีการบริหารจัดการจราจรเพื่อลดปัญหาการติดขัด แต่เมืองในอนาคตที่ประชากรเมืองจะกลายเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของโลก มีคนอยู่ในเมืองมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด เนื่องจากเมืองมีแรงดึงดูดด้านฐานเศรษฐกิจด้านการค้าและบริการ การบริหารการปกครองและสาธารณูปการทั้งหลายตั้งอยู่ในเขตเมือง
ปัญหาเมืองในอนาคต
เมื่อวิถีชีวิตในเมืองเปลี่ยนไป ปัญหาของเมืองก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน RICHARD FLORIDA ได้คาดการณ์ปัญหาเมืองในอนาคตในบทความเรื่อง RANKING CITIES BY THE NEW URBAN CRISIS เผยแพร่ทางเว็บไซด์ WWW.CITYLAB.COM เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 โดยระบุว่า ปัญหาหลักหรือวิกฤติการณ์ของเมืองในอนาคตมี 3 ประการ ได้แก่
1.ความเหลื่อมล้ำทางสังคม
2.การแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ
3.ความสามารถในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
ถ้าสังเกตให้ดีทั้ง 3 ล้วนเป็นประเด็นด้านเศรษฐกิจ และมีผลต่อเนื่องไปยังสังคมและกายภาพเมือง อีกทั้งบทความดังกล่าวได้ระบุว่า วิกฤติการณทั้ง 3 ข้อนี้ มีแนวโน้มจะมีความรุนแรงในเมืองขนาดใหญ่มากกว่าในเมืองขนาดกลางและขนาดเล็
ปัญหาของกรุงเทพฯ และปริมณฑล
หันมามองกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของบ้านเราซึ่งก็เป็นเมืองระดับมหานคร แน่นอนว่าจะต้องเจอปัญหาแบบเดียวกันนี้ ไม่หนีจากสามข้อนี้แน่นอน ในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการบริหารการปกครองของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นในมหานครแห่งนี้ มีฐานเศรษฐกิจเป็นการค้าการบริการและการผลิตมูลค่าสูง เราอาจจะมองว่าฐานเศรษฐกิจ ในมหานครก่อให้เกิดรายได้ต่อหัวของประชากรสูงมาก แต่ในความเป็นจริงก็นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมหานครต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงมาทำงานที่มีผลตอบแทนสูงตามมา การแข่งขันทางการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตก็มีมากขึ้นตามไปด้วย และมีคนบางกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ทั้งด้านโอกาสทางการศึกษาและเศรษฐกิจ กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับแรงกดดันเป็นอย่างมากกับการดำรงชีวิตในมหานคร
ในระยะยาวคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มเป็นชนกลุ่มน้อยและด้อยโอกาสในมหานครได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาในอนาคต รวมทั้งยังต่อเนื่องไปยังปัญหาเรื่องการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่า กลุ่มทุนใหญ่จะมีอิทธิพลและรวบหน่วยธุรกิจหลักไว้กับตัวเอง อีกทั้งยังมีแนวโน้มไปสู่การผูกขาดมากยิ่งขึ้น พลเมืองจะเหลือทางเลือกอยู่สองทางระหว่างเข้าเป็นพรรคพวกกับหน่วยธุรกิจใหญ่ที่ได้ส่วนแบ่งของความมั่งคั่ง หรืออยู่เป็นเอกเทศโดยไม่เข้าร่วมกับหน่วยธุรกิจใหญ่แล้วต่อสู้อยู่อย่างยากลำบากด้วยตนเอง
กลุ่มผู้มีรายได้น้อยต้องอาศัยในมหานครที่ค่าครองชีพสูง
ที่สำคัญไม่ใช่ทุกคนในมหานครจะมีรายได้สูง แต่จะต้องมีประชากรส่วนหนึ่งของเมืองที่ทำอาชีพบริการพื้นฐานด้วยค่าจ้างขั้นต่ำด้วย เช่น พนักงานทำความสะอาด คนขับรถประจำทาง พนักงานขายสินค้าต่าง ๆ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้ต้องอยู่อาศัยในมหานครที่มีค่าครองชีพสูง ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถจ่ายค่าเช่าหรือซื้อที่พักอาศัยที่เหมาะสม และไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีราคาสูงได้ตามมาตรฐานการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน
เป็นเหตุให้คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องเลือกที่อยู่อาศัยราคาถูกที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งงาน เสียเวลาเดินทางไกล มีต้นทุนการเดินทางและใช้สอยในชีวิตประจำวันที่สูงจนไม่สามารถมีเงินเก็บออมสำหรับการลงทุนและใช้สอยในเวลาที่เกษียณอายุแล้วหรือในยามฉุกเฉิน
สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติการณ์ในฮ่องกงตอนนี้
วิกฤติการณ์ทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นกำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการจลาจลในฮ่องกงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็มีต้นทางของปัญหามาจากวิกฤติการณ์ 3 ประการนี้ ทำให้กลุ่มนักศึกษาและผู้มีรายได้น้อยลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลให้มาช่วยเหลือพวกเขาให้อยู่ในมหานครได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
แก้ไขด้วยที่อยู่อาศัยจากสวัสดิการรัฐ
แล้วมหานครอื่นๆ ในโลกมีวิธีแก้วิกฤตการณ์เมืองทั้ง 3 ประการนี้อย่างไรบ้าง เครื่องมือหลักที่ถูกนำมาใช้คือ การใช้กลไกของรัฐมาช่วยเหลือให้ประชากรเมืองที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยจากสวัสดิการของรัฐ ที่มุ่งประเด็นเรื่องที่อยู่อาศัยก็เพราะเป็นปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชน และเป็นปัจจัยสี่ที่มีราคาแพงที่สุด ทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและมีความมั่นคงในการอยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสม ที่อยู่อาศัยจากสวัสดิการของรัฐจะมีราคาถูกกว่าโครงการอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน อีกทั้งยังต้องขยายกลุ่มเป้าหมายไปถึงผู้มีรายได้ปานกลางด้วย เนื่องจากราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยในมหานครมีราคาแพงมาก แม้แต่ผู้มีรายได้ปานกลางก็ยังไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคงเป็นของตนเองได้
แก้ได้ด้วยที่อยู่อาศัยแบบผสมผสาน
นอกจากนี้ยังมีแนวทางสร้างโครงการพัฒนาเมืองแบบผสมผสาน ให้กิจกรรมต่าง ๆ รวมตัวอยู่ด้วยกันเพื่อความสะดวกในการเชื่อมโยงระหว่างกัน และที่สำคัญคือการมีที่อยู่อาศัยแบบผสมผสาน เพื่อให้ประชาชนทุกระดับรายได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตามปกติด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชั้นได้อีกด้วย แต่ก็ไม่จำเป็นว่าที่อยู่อาศัยจากสวัสดิการของรัฐ จะต้องดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐเท่านั้น รัฐบาลหลายประเทศได้เปิดโอกาสให้เอกชนด้านอสังหาริมทรัพย์เข้ามาร่วมเป็นผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในราคาที่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางสามารถจ่ายค่าเช่าหรือซื้อเป็นของตัวเองได้ โดยเอกชนผู้เข้าร่วมพัฒนาโครงการ จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การแก้ปัญหาวิกฤติการณ์เมืองจึงต้องการความร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เมืองเป็นบ้านสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม
หากใครต้องการตามหาที่อยู่อาศัยในเมืองที่สอดคล้องกับรายได้สามารถค้นหาได้ที่ Baania.com
เขียนโดย : รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล : [email protected]