ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 เพื่อที่จะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน แต่กลับพบว่าธุรกิจหลายส่วนเริ่มมีความกังวลถึงผลกระทบหลายๆ ด้านที่จะเกิดขึ้น เพราะจะเป็นการรวมเป็นตลาดเดียวอย่างเสรีในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, บรูไน, อินโดนิเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, พม่า, เวียดนาม, ลาว และไทย ทั้งการเคลื่อนย้ายการลงทุน การค้า การบริการ แรงงาน ฯลฯ ที่จะหลั่งไหลเข้าสู่แต่ละประเทศได้อย่างเสรี
โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ของการลงทุนที่นักลงทุนทั้งไทยและเทศล้วนจับจ้อง เรามาดูกันว่านักลงทุนท้องถิ่นอย่าง “วิเชียร เชิดชูตระกูลทอง” ประธานกรรมการ บริษัท ภราดรบ้านและที่ดิน จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจรับฝากและซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก (ERA) มองผลกระทบของการเปิด AEC มีมุมมองด้านโอกาสที่จะมีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นอย่างไร
เป้าหมายของการรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน คือเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (Single Market and Production Base) โดยให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานฝีมือ ตรงนี้เรามองเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการขยายการส่งออกและโอกาสทางการค้าและการบริการในสาขาที่ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเช่น การท่องเที่ยว โรงแรมและภัตตาคารสุขภาพ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังจะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังอาเซียน ซึ่งจะเพิ่มอำนาจการต่อรองของอาเซียนในเวทีการค้าโลก และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอาเซียนโดยรวม จึงเป็นความท้าทายและโอกาสใหม่ของประเทศไทย ที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะมีการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มในภูมิภาค (Regional Value Chain) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และการขยายตลาดอาเซียนที่มีประชากรกว่า 590 ล้านคน
วิเชียร กล่าวต่อว่า ถ้ามองเชิงผลกระทบภาคธุรกิจ พบว่า บางส่วนยังไม่ได้มีการเตรียมตัวหรือเตรียมตั้งรับกับการเปิดตลาด AEC ประเทศที่มีระบบการศึกษาดีๆ ก็อาจจะมาเปิดโรงเรียนในบ้านเรา ซึ่งในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตอนนี้เริ่มมีกระแสการเคลื่อนย้ายการลงทุน-เงินทุนเข้ามาในพื้นที่เชียงใหม่เป็นระยะ โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ได้เข้ามาซื้อกิจการอสังหาริมทรัพย์หลายๆ ส่วน เช่นโรงแรมและคอนโดมิเนียม เริ่มมีการเปลี่ยนมือในขณะที่ AEC ยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ และเชื่อว่าหากถึงเวลาที่ตลาด AEC เปิดอย่างเต็มรูปแบบจะมีทุนหลั่งไหลมาสู่เชียงใหม่-ลำพูนอีกมาก
“สำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่นเอง ลำพังแค่เจอทุนส่วนกลางของไทยที่รุกคืบอย่างหนักในตอนนี้ก็รับมือแทบไม่ไหว ซึ่งหากประเทศในอาเซียนเข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น ท้องถิ่นเองจะอยู่ลำบากมากหากไม่มีการเตรียมตั้งรับหรือปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้”
วิเชียรยังมองถึงผลกระทบว่ามีอีกหลายส่วนที่จะหลั่งไหลมาจากอาเซียน 10 ประเทศ ทั้งในเรื่องของเงินทุนที่มากกว่า ความเป็นมืออาชีพ เทคโนโลยีการจัดการ คนที่มีความได้เปรียบในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งแนวโน้มในอนาคตทุนในอาเซียนจะเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และอาจกลืนกินท้องถิ่นไปเรื่อยๆ ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีการปรับตัวก็จะสู้หรือแข่งขันกับทุนรายใหญ่ๆ ไม่ได้แน่นอน
ดังนั้นการปรับตัวของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นเองจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ดีไซน์ใหม่ๆ มานำเสนอต่อตลาด เช่น การสร้างคอนโดมิเนียมที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม (Green Condominium) สู้เรื่องทุนไม่ได้ก็ต้องเน้นความแตกต่าง ตอบโจทย์ตลาดที่อยู่อาศัยที่ผู้บริโภคเน้นใส่ใจโลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกด้านหนึ่งเราก็ต้องมองโอกาสที่จะไปลงทุนในประเทศอาเซียนด้วย ซึ่งตลาดพม่ามีโอกาสและศักยภาพสูง และในที่สุดหากกลุ่มทุนจากอาเซียนรุกคืบมาเรื่อยๆ ในอนาคต ผู้ประกอบการท้องถิ่นเองนอกจากการตั้งรับแล้วก็อาจเปิดช่องร่วมทุนเพื่อเสริมจุดแข็งและลบจุดอ่อน
“AEC จะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของเชียงใหม่-ลำพูนโตแบบก้าวกระโดด ทั้งบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม โรงแรม โรงเรียนและสถานศึกษา แต่เป็นการก้าวกระโดดที่มีทั้งโอกาสและวิกฤติอยู่ในตัวเอง”