ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินข่าวเศรษฐกิจสำคัญของประเทศอเมริกาและยุโรป เรื่องการปิดตัวของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่กันเรื่องๆ ใช่ไหมครับ
เว็บไซด์ businessinsider.com รายงานว่าในปี 2017 มีห้างสรรพสินค้าในสหรัฐอเมริกาปิดตัวไปประมาณ 6,400 แห่ง ต่อเนื่องมาถึงปี 2018 ก็ปิดตัวไปอีกมากกว่า 3,800 แห่ง ซึ่งห้างสรรพสินค้าเหล่านั้นเคยเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อสินค้าของประชาชนจำนวนมาก คนต้องเดินทางมาที่ศูนย์การค้าเป็นกิจวัตรเพื่อซื้อสินค้าเกือบทุกประเภท แต่กลับถูกแทนที่ด้วย e-commerce การซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีต้นทุนการขายที่ถูกกว่า มีสินค้าให้เลือกมากมายจากทั่วโลก สามารถซื้อสินค้าเวลาใดก็ได้ไม่มีเวลาเปิด-ปิดร้านมาจำกัด แถมไม่ต้องเดินทางไปหาซื้อสินค้าให้ลำบากเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางอีกด้วย
การปิดตัวลงของห้างสรรพสินค้าในโลกตะวันตกสะท้อนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนหลุดพ้นจากพันธนาการของการต้องไปจับจ่ายซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้า จากเดิมที่ผู้บริโภคต้องวิ่งไปหาสินค้ากลายเป็นนั่งอยู่ที่บ้านแล้วสินค้าวิ่งมาหาผู้บริโภคแทน แถมยังมีราคาที่ถูกลงและมีรูปแบบสินค้าให้เลือกมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือ ห้างสรรพสินค้าเหล่านั้นกลายเป็นอาคารที่ถูกทิ้งร้าง ไม่มีกิจกรรมใดๆ หลงเหลืออยู่อีกต่อไป
ประเทศไทยก็มีทิศทางแบบเดียวกับโลกตะวันตก ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ระบุว่าตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา e-commerce ของประเทศไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 8-10% มาโดยตลอด ในขณะที่ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าบ่นว่ายอดขายในของร้านค้าต่าง ๆ ในห้างสรรพสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือ ห้างสรรพสินค้าขนาดเล็กชานเมืองซึ่งตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย กลุ่มลูกค้ามีไม่มากนัก และเป็นกลุ่มที่มีรถยนต์ส่วนตัวสามารถเดินทางไปจับจ่ายซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในระยะทางไกลกว่าพื้นที่ชุมชนได้ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึง e-commerce ได้อย่างสะดวก ส่วนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่กลางเมือง ด้วยทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบเป็นศูนย์กลางของเมืองที่ทุกคนสามารถเดินทางมาได้อย่างสะดวก จึงยังคงมีผู้คนมาใช้บริการจำนวนมาก แต่รูปแบบการใช้งานเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก ยอดขายสินค้าให้กับลูกค้าคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่มียอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็เป็นพฤติกรรมเดียวกับคนไทยไปเที่ยวเมืองนอกที่ต้องซื้อสินค้ากลับไปใช้หรือฝากคนที่บ้านนั่นแหละครับ
แต่ที่ขายคนไทยได้เพิ่มขึ้นคือร้านอาหาร จะเห็นได้ว่า ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งขยายโซนร้านอาหารและศูนย์อาหารที่จากเดิมเคยอยู่แค่ชั้นล่างและชั้นใต้ดินขึ้นไปเป็นชั้นบนๆ เพื่อเพิ่มจำนวนร้านอาหาร สวนทางกับร้านขายสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีทั้งขนาดและจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปรากฏการณ์ปรับตัวของห้างสรรพสินค้าในประเทศไทย แสดงให้เห็นการเปลี่ยนบทบาทของห้างสรรพสินค้าที่มีต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย จากเดิมเป็นที่จับจ่ายซื้อสินค้าเป็นหลัก กลายเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจอย่างสมบูรณ์ ห้างสรรพสินค้าลดพื้นที่ขายสินค้าลง เพิ่มลานกิจกรรมเพื่อเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ของครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน บางแห่งอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้ด้วย บางแห่งมีลู่วิ่งในร่ม เป็นจุดจอดแล้วจรสำหรับผู้โดยสารขนส่งมวลชน เพิ่มร้านอาหารซึ่งเป็นสินค้าที่ทุกคนต้องกินต้องใช้เป็นประจำทุกวัน ห้างสรรพสินค้าจึงเปลี่ยนบทบาทไปสู่การเป็นพื้นที่กิจกรรมของเมือง ที่มีรายได้จากการขายหรือให้เช่าพื้นที่สำหรับจัด Event ต่าง ๆ เป็นที่เปิดตัวสินค้า โฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า เป็นที่ให้คนมาทดลองใช้สินค้า เพิ่มสัดส่วนรายได้จากกิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ
เมื่อห้างสรรพสินค้าไม่ได้ขายสินค้าในรูปแบบเดิม แต่กลายเป็นพื้นที่กิจกรรมของคนเมือง แล้วไปมีรายได้จากการสนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้น ห้างสรรพสินค้าจึงเปลี่ยนบทบาทของตัวเองไปสู่การเป็นเจ้าของพื้นที่ให้เช่า แต่ก็ไม่ได้ให้เช่าไปเฉย ๆ เก็บค่าเช่าแล้วปล่อยให้คนเช่าพื้นที่ไปหาทางโฆษณาสินค้าของตัวเองกันเอาเอง แต่การเช่านั้นผูกพันกับการพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางเพื่อกิจกรรมเมือง เจ้าของห้างสรรพสินค้าต้องออกแบบพื้นที่ส่วนกลาง ลานกิจกรรม คิดรูปแบบกิจกรรมที่ถูกดึงดูดเข้ามา ทั้งเพื่อการขายพื้นที่ส่วนกลางให้กับผู้จัดกิจกรรมต่างๆ และดึงประชาชนเข้ามาสู่ร้านค้าที่เช่าพื้นที่ไปจากห้างสรรพสินค้า แต่ก็ยังไม่จบแค่นั้น ห้างสรรพสินค้าก็ยังคิดจะขายสินค้าอยู่นะ ไม่ได้เลิกขายไปเลย หลักฐานอย่างชัดเจนคือ การที่กลุ่มเซ็นทรัลยอมจ่ายเงิน 6,000 ล้านบาทเพื่อซื้อกิจการของ Grab Thailand เพื่อเพิ่มช่องทางในการขายและขนส่งสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัล แสดงว่าผู้ประกอบการยังคิดจะขายสินค้าและบริการในรูปแบบของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เช่นกัน
การเติบโตของ e-commerce สะเทือนวงการค้าปลีกของห้างสรรพสินค้าเป็นอย่างมาก ในโลกตะวันตกห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่ล้มหายตายจากกันไป เนื่องจากอยู่บริเวณชานเมือง ถ้าไม่มีคนซื้อแล้วก็ปรับเปลี่ยนพื้นทีไปทำอย่างอื่นไม่ได้เพราะทำเลไม่เอื้ออำนวย แต่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของไทยอยู่กลางเมือง จึงมีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นพื้นที่กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของคนเมือง แล้วใช้กิจกรรมนั้นดึงดูดลูกค้ามาสู่ร้านค้าต่าง ๆ ในห้างสรรพสินค้า แต่ร้านค้านั้นต้องเปลี่ยนตัวเองไปเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ อีกทั้งยังปรับตัวเองด้วยการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์และส่งสินค้าแบบด่วนมาเสริมอีกด้วย แต่จะทำให้ห้างสรรพสินค้ากลับมารุ่งเรืองแบบเมื่อหลายสิบปีก่อนอีกหรือไม่ โปรดติดตาม
เขียนโดย : รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล : [email protected]