จุดเปลี่ยน หรือ จุดจบมวลมนุษยชาติ?
ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมามนุษย์พยายามดิ้นรนต่อสู้กับธรรมชาติ เราสรรค์สร้างสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จนถึงวันนี้ วันที่มนุษย์เราก้าวข้ามขีดจำกัดหลากประการ สร้างสรรค์นวัตกรรมมากมาย แต่สิ่งเหล่านั้นกลับยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้โลกของเราเข้าใกล้คำว่าหายนะมากขึ้นเท่านั้น
เปิดตำราเมืองร้อนกับ 7 เครื่องมือพิชิตร้อน
ประเด็นใหญ่ที่สุดและเป็นที่ตระหนักมากที่สุดขององค์กรต่างๆทั่วโลกในวันนี้คงไม่มีใครไม่พูดถึงคือ วิกฤตการณ์โลกร้อน (Global Warming Crisis)
ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้ทำการเก็บข้อมูลและประเมินสถานการณ์ความเร่งด่วนโดยใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศเพื่อกำหนดเส้นตายสำหรับการเริ่มดำเนินการด้านสภาพอากาศเพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ° C ในปี 2100 จากผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า หากเราไม่มีการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 45% ภายในปี 2030 โลกของเราจะก้าวถึงจุดที่ไม่สามารถเยียวยาได้อีกต่อไป
สัญญาณเตือนจากธรรมชาติทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างในปีนี้ ทวีปยุโรปต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน (heat-wave) ที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง ในขณะที่อัตราการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนั่นคือเหตุไฟป่าในเขตอาร์คติกหรือบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ ความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิตรวมไปถึงมวลมนุษยชาติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่า วิถีชีวิตของมนุษย์กลับยังคงสร้างรอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) สร้างภาระให้กับโลกใบนี้อย่างต่อเนื่อง
สิ่งนี้สร้างให้เกิดจิตนาการถึงเมืองของเราในอนาคตว่ามนุษย์จะต้องมีการเรียนรู้ และปรับตัวอย่างไร ให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในวันที่ธรรมชาติได้เปลี่ยนไปตลอดกาล
วิกฤตการณ์โลกร้อนนี้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของโลกว่าเมืองต่างๆ จะตอบสนองต่อความท้าทายเรื่องความร้อนในเมืองได้อย่างไร เราจะต่อสู้กับวิกฤตการณ์ หรือแม้แต่เรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่ออยู่กับมันได้อย่างไร
หลายประเทศกำลังดำเนินนโยบายแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือประเทศสิงคโปร์ ที่เพิ่งมีการจัดแสดงนิทรรศการ "City of Tomorrow", through a showcase of URA's research focus areas that span the themes of "New Spaces", "Greater Sustainability" and "Science of Cities". ของ URA Centre โดยมีการกำหนดนโยบายร่วมกันจากหลายฝ่าย เพื่อขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และหนึ่งในนวัตกรรมของสิงคโปร์นั้น คือการพัฒนาระบบเทคโนโลยี Energy Grid 2.0 เพื่อใช้ในการพัฒนาความมั่นคงของระบบการผลิตพลังงานทดแทนและระบบทำความเย็น (Cooling Energy Science and Technology Singapore; CoolestSG) ซึ่งได้มีการประเมินผลของระบบว่าสามารถที่จะช่วยลดอุณหภูมิภายนอกอาคารและยังช่วยในการลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้พลังงานสิ้นเปลืองได้ถึง 40%
ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงเท่านั้น สิงคโปร์ยังได้ออกแบบแนวทางในการออกแบบวางผัง (Design Guideline) เพื่อส่งเสริมการลดอุณหภูมิในทุกภาคส่วน ภายใต้ 7 หมวดอันได้แก่
1. Vegetation: การสร้างระบบนิเวศน์ที่เขียวขจีที่ถูกปรับใช้ ไม่ใช่เพียงแต่บนพื้นดิน แต่ยังหมายรวมถึงแนวทางในการออกแบบพื้นที่สีเขียวทางตั้ง ตามนโยบายของ LUSH
2. Urban Geometry: การออกแบบควบคุมมวล รวมถึงทิศทางในการวางผังอาคารทั้งรูปแบบและความสูง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการถ่ายเทของอากาศ
3. Water Bodies and Features: การใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการออกแบบเพื่อให้เกิดการลดอุณหภูมิ และปริมาณความร้อนที่สะสมบนผิวดิน
4. Material and Surfaces: การใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยลดการสะท้อนของแสงแดด ลดการสะสมพลังงานความร้อน ไปจนถึงการออกแบบโทนสีอาคารด้วยสีสว่าง
5. Shading: การสร้างร่มเงา ให้เกิดขึ้นภายนอกอาคาร เพื่อส่งเสริมการขยายพื้นที่การใช้ชีวิตออกสู่นอกอาคาร และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาควบคู่ไปกับการสนับสนุนการเดิน
6. Transport: ส่งเสริมให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ไปพร้อมกับการส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-motorized Transportation) อย่างการเดินเท้าและการปั่นจักรยาน
7 Energy: ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และการใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน
นี่เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางจากการที่นักออกแบบได้พยายามตีโจทย์ของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และต่อสู้กับความท้าทายของภัยพิบัติ
หากถามว่าเมืองในอนาคตจะมีหน้าตาอย่างไร คำตอบนั้นคงจะมีความหลากหลายอย่างมาก มันอาจหมายถึงเมืองที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตสมัยใหม่ ที่พร้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย โดยมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติด้วยทางเลือกหลากรูปแบบ
ท้ายที่สุดแล้ว หากให้เลือกคำจำกัดความของเมืองแห่งอนาคต ปรีชญาได้พูดถึงคำว่า “เมืองที่เตรียมพร้อมต่อการปรับตัว” เธอได้นำคำพูดของ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด Rahul Mehrotra ที่ได้กล่าวว่า “The urbanism is not about the grand vision, it's about the grand adjustment” วิถีชีวิตในเมืองนั้นไม่ใช่การมีวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นเรื่องของการปรับตัวที่ยิ่งใหญ่ต่างหาก
เรื่องโดย : ปรีชญา นวราช
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)