การบริโภคครัวเรือนยังอ่อนแอ สัญญาณล่าสุดจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยภาพการระมัดระวังในการใช้จ่ายของครัวเรือนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาในหมวดอาหารสดและพลังงาน) ยังชะลอลง ขณะที่ผลสำรวจล่าสุดของศูนย์วิจัยกสิกรไทยสะท้อนภาพให้เห็นว่ามีครัวเรือนจำนวนมากขึ้นที่กังวลต่อค่าครองชีพ ซึ่งมีดัชนีลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เนื่องจากรายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรยังซบเซา และยังมีรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเปิดภาคการศึกษา
ประเด็นสำคัญจากผลสำรวจคือ ครัวเรือนเริ่มมีความกังวลต่อภาวะการออมเงิน และรายได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายสำหรับการอุปโภคบริโภค ซึ่งทิศทางดังกล่าวสะท้อนมายังดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าซึ่งคาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อไปอีก
ผู้กู้ควรประเมินความสามารถของตนเองอย่างไรผู้กู้เมื่อมีการวางแผนการเลือกซื้อบ้านที่ได้ทำเล บ้านที่เหมาะสมกับความชอบในสไตล์ของตนเองแล้ว คราวนี้ก็ต้องมาประเมินความสามารถทางการเงินของตนเองด้วยดังนี้
* มีเงินออมเพื่อชำระเงินดาวน์ 10-20% ของราคาบ้าน ซึ่งควรเริ่มสะสมเงินออมโดยอาจฝากเงินเป็นงวดๆ ประจำเดือนที่จะได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติ รวมทั้งได้รับยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากถ้าเข้าเกณฑ์เงินฝากสะสมระยะไม่น้อยกว่า 24 เดือน และไม่เกิน 600,000 บาท (ฝากเดือนละไม่เกิน 25,000 บาท)
* ประมาณการการผ่อนชำระรายเดือน โดยควรมีรายได้มากกว่าอัตราผ่อนชำระ 3 เท่า หรือมีเงินผ่อนชำระ 1 ใน 3 ของรายได้สุทธิรวมต่อเดือน (ประมาณ 33-40%)
* สำรองเงินเผื่อค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์บ้าน เช่น
- ค่าโอนกรรมสิทธิ์ 2% ของราคาประเมินของที่ดิน (ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงความรับผิดชอบ)
- ค่าธรรมเนียมจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้
- ค่าเบี้ยประกันภัย ประกันชีวิต (ถ้าเลือกซื้อ)
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโอน เช่น ค่ามิเตอร์น้ำประปา ค่ามิเตอร์ไฟฟ้า
- ค่าใช้จ่ายตกแต่งเพิ่มเติม (ถ้าต้องการ สามารถขอกู้จากธนาคารเพิ่มได้)
สิ่งที่ธนาคารต้องการเห็นในการขอสินเชื่อ
เอกสารแสดงรายได้ เพื่อสามารถวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้คืน ได้แก่ การเดินบัญชีเงินเข้าและออกสม่ำเสมอและต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน การดำรงยอดเงินฝากคงเหลือ แสดงหลักฐานการออมและความสามารถในการชำระหนี้คืนที่สอดคล้องกับรายได้
ประวัติการเงินและข้อมูลเครดิตบูโร
- รักษาประวัติทางการเงินที่ดีโดยไม่ควรมียอดค้างชำระหนี้ใดๆ ซึ่งธนาคารสามารถตรวจสอบได้จากเครดิตบูโร ย้อนหลัง 3 ปี หากมีปัญหาในเครดิตบูโร ควรดำเนินการชำระหนี้ให้เรียบร้อย
- รักษาระดับภาระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ เพราะธนาคารสามารถตรวจสอบภาระหนี้ได้จากการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร ผู้กู้ควรเตรียมการปรับภาระหนี้ให้เป็นไปตามเกณฑ์ก่อนขอกู้เงินด้วย
ผู้เขียน : มีชัย คงแสงชัย
ผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทย
อดีตผู้จัดการสายสินเชื่อบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์
ปัจจุบันเป็นกรรมการและเหรัญญิก สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย