มาแล้วครับกับภาคต่อของซีรีย์ Baania Insights ตลาดแรงงานในเมือง ep2 โดยที่บทความแรกของเราได้ปูทางการทำความเข้าใจว่า เขตเมืองอยู่ตรงไหนในมิติตลาดแรงงาน (โดยทำการแบ่งขั้นของเมืองจากชานเมืองสู่กลางเมืองเป็น Bangkok Zone 1 ถึง 4 ตามลำดับ) มาคราวนี้ถึงวาระที่จะพูดถึงคำถามว่า "ในเมืองมีใครทำงานกันบ้าง?"
จากคำถามที่ว่า แต่ละย่านพื้นที่ของกรุงเทพมหานครมีการจ้างงานประเภทใด? ซึ่งแน่นอนว่าแรงงานในเมืองเป็นแรงงานที่มีคุณภาพมากกว่า เมื่อสังเกตสัดส่วนแรงงานในพื้นที่ชั้นเมืองแต่ละระดับ จำแนกตามระดับวุฒิการศึกษาต่างๆ เราจะพบว่าสัดส่วนของผู้จบปริญญาตรีในแต่ละพื้นที่ไม่แตกต่างกันมาก คืออยู่ในช่วง 74-78% ของแรงงานในชั้นเมือง Bangkok Zone 1 ถึง 4 (เฉพาะกลุ่มผู้ที่เป็นฝากประวัติงาน "เรซูแม่" บนเว็บไซต์หางานออนไลน์) อัตราส่วนนี้แปลได้ว่า การกระจายตัวของแรงงานมีฝีมือในแต่ละพื้นที่ของกรุงเทพมหานครนั้นไม่แตกต่างกันมาก
เมื่อขยายการวิเคราะห์ถึงสาขาวุฒิการศึกษาของผู้ทำงาน ในพื้นที่ชั้นเมืองต่างๆ ของกรุงเทพมหานครพบว่า ผู้ที่จบสาขาวิทยาศาสตร์และศิลปะ จะทำงานในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครมากกว่าการทำงานในย่านกลางเมือง แตกต่างกับผู้จบสาขาสังคมศาสตร์ และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ที่ทำงานในย่านกลางเมืองสูงกว่าพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพมหานคร และในส่วนของแรงงานสาขาธุรกิจนั้นไม่มีสัดส่วนที่แตกต่างกันในย่านพื้นที่ต่างๆ
การจำแนกประเภทของงานในข้อมูลประวัติงานออนไลน์ ตามหลักเกณฑ์ของ The International Standard Classification of Occupations Code 2008 (ISCO-08) คือการแบ่งงานตามทักษะจากมากไปน้อย พบว่า สามารถจำแนกกลุ่มประเภทงานที่มีสัดส่วนสูงในเขตกลางเมือง และต่ำในเขตนอกเมือง ได้แก่ กลุ่มงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านธุรกิจ การบริหารงาน เทคโนโลยี กฎหมาย และด้านสังคมศาสตร์ และกลุ่มงานด้านเทคนิคระดับกลาง ในทางกลับกันกลุ่มงานบางประเภทจะมีสัดส่วนการกระจุกตัวอยู่นอกเมืองที่มากกว่า ได้แก่ กลุ่มงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ การสอน และสุขภาพ กลุ่มงานพนักงานสนับสนุนงานทั่วไป และกลุ่มงานฝีมือ ขณะที่บางกลุ่มงานจะมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอในแต่ละระดับเมืองนั่นคือ กลุ่มงานขายและงานบริการ
หมายเหตุ ตัวเลขหน้าอาชีพคือรหัสโค้ด (ISCO-08) ซึ่งหากบางรหัสอาชีพที่มีข้อมูลอยู่น้อยจะถูกข้าม ไม่ถูกนำมานำเสนอนะครับ
เมื่อพิจารณาเฉพาะพื้นที่เมืองระดับสูง หรือ Bangkok Zone 4 พบว่า ในแต่ละย่านมีโครงสร้างความหนาแน่นของประเภทงานที่โดดเด่นชัดเจนแตกต่างกัน ดังนี้
จากองค์ความรู้ทางสถาปัตย์กรรมเมือง ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ รูปแบบจัดตั้งกิจการในพื้นที่ และส่วนผสมของการจัดสรรพื้นที่ในย่านเพื่อกิจกรรมบางประการ จะเป็นตัวสร้างความแตกต่างของผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ เราจะไม่สามารถเข้าใจเมืองได้ หากเราไม่มีแว่นขยาย (การวิเคราะห์) ที่ดีและไม่มีแผนที่ของเมือง (ข้อมูล) ที่ละเอียดพอ แต่ด้วยเทคโนโลยียุคปัจจุบัน การทำความเข้าใจถึงสถานการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเด็นต่างๆ เริ่มเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น (แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะง่ายแล้ว) ด้วยข้อมูลที่มีมากขึ้นนั้นเอง Baania Insights จึงพยายามนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ที่ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้เพื่อรอให้เราไปค้นเจอ...สุดท้ายทีมงานขอเป็นกำลังใจให้น้องที่กำลังจบการศึกษาในช่วงนี้ได้งานที่ตรงใจกันนะครับ อาจจะลองใช้ข้อมูลข้างต้นในการตัดสินใจเรื่องงานก็ได้ครับ และหากอยากร่วมเป็นทีมเดียวกับเรา มี DNA ความสนุกตื่นเต้นในการแหวกว่ายในสระน้ำแห่งข้อมูล (แปลมาจาก Data Lake แหละครับผม) กดเลยครับ
ชุดบทความตลาดแรงงานกับเมือง ยังมีภาคต่ออีกนะครับ ผมไม่ยอมให้จบกันไปง่ายๆแน่ๆ.... ขอแอบสปอย ep 3 นิดหน่อยว่า เป็นการสร้างแบบจำลองเพื่อตอบสองคำถามคือ "แต่ละย่านให้เงินเดือนกันเท่าไหร่?" และ "คนที่ทำงานในแต่ละย่านส่วนใหญ่เงินเดือนเพิ่มกันปีละกี่เปอร์เซ็นต์" คุณผู้อ่านละครับทำงานในย่านไหน.....
Cottineau, C., Finance, O., & Hatna, E. (2016). Defining Urban Agglomerations to Detect Agglomeration Economies (arXiv:1601.05664).
Jumpol Goonto. (2017). Intra-Urban Wage Premium and Influence of Urban Characteristics in Bangkok: Evidence from Job Board website. Master degree thesis of faculty of Economics, Chulalongkorn University, Bangkok.
Lekfuangfu N.W., Nakavachara V. and Sawaengsuksant P. (2016). Two sides of the same coin: Glancing at labour market mismatch with user-generated internet data. PIER discussion paper No.53.