การขายฝากจัดว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการหาเงินที่ใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการบริหารเงินได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการขายฝากนั้นเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถได้เงินก้อนใหญ่มาอย่างรวดเร็ว แต่รู้หรือไม่ว่าการขายฝากนั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่ควรศึกษาให้เข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปทำการขายฝาก เพราะถ้ายังไม่มีความเข้าใจดีพออาจทำให้เสียเปรียบได้ ดังนั้นเรามาดู 7 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการขายฝากกัน
การขายฝากถือว่าเป็นการกู้เงินในรูปแบบหนึ่งโดยที่มีการเอาสินทรัพย์ไปวางไว้เป็นเครื่องค้ำประกัน โดยสินทรัพย์ที่สามารถนำไปใช้กับการขายฝากนั้นสามารถใช้สินทรัพย์ที่มีค่าได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ทอง เครื่องประดับ รถยนต์ นาฬิกา รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ อย่างเช่น ที่ดิน บ้าน ห้องพักในคอนโดมิเนียม เป็นต้น
ลักษณะเฉพาะของการขายฝากคือสินทรัพย์ที่นำมาขายฝากจะตกเป็นของผู้รับชายฝากทันทีจนกว่าจะมีการไถ่ถอนคืนตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งการขายฝากนั้นจะมีระยะเวลาที่กำหนดแน่นอนในการชดใช้หนี้คือไม่ต่ำกว่า 1 ปี และไม่เกิน 10 ปี โดยผู้รับขายฝากจะไม่สามารถคิดดอกเบี้ยได้เกิน 15% ปี หรือ 1.25% ต่อเดือน
การขายฝากกับการจำนองนั้นถึงแม้จะเป็นการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปเป็นสิ่งค้ำประกันในการกู้เงินเหมือนกันก็ตาม แต่การกู้ทั้งสองประเภทต่างกันที่รายละเอียดมากพอสมควร ซึ่งการขายฝากกับการจำนองนั้นมีข้อแตกต่างกันดังนี้
การจำนอง จะเป็นการนำอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษไปใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงินเท่านั้น ไม่สามารถนำสินทรัพย์อื่นๆ ไปเป็นหลักประกันได้ และเมื่อเริ่มต้นสัญญาจำนองสิทธิในการครอบครองจะไม่ตกเป็นของผู้รับจำนองง ยังคงเป็นของผู้ยื่นจำนองอยู่ สิทธิของสินทรัพย์จะเป็นของผู้จำนองได้ต่อเมื่อผู้ยื่นจำนองไม่สามารถชดใช้หนี้ได้ตามที่สัญญากำหนด และผู้รับจำนองต้องไปดำเนินเรื่องตามกฎหมายจึงจะได้สินทรัพย์นั้นมาครองอย่างสมบูรณ์
การขายฝาก เป็นการนำสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีค่าไปใช้เป็นหลักประกันในการขอกู้เงิน ซึ่งเป็นได้ทั้งอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ โดยการขายฝากนั้นสินทรัพย์จะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับขายฝากไปจนกว่าผู้นำมาขายฝากมาไถ่ถอนคืน หรือครบสัญญาการขายฝากแล้วไม่มีผู้มาไถ่ถอนคืนสินทรัพย์นั้นจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับขายฝากโดยสมบูรณ์ทันที
สัญญาการขายฝากนั้นจะเป็นสัญญาระยะสั้นที่แตกต่างกับสัญญาจำนองที่เป็นสัญญาระยะยาวอาจจะนานถึง 25 ปี แต่ส่วนของการขายฝากนั้นถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์อย่างเช่น ที่ดิน จะมีระยะเวลาของสัญญาในการขายฝากอยู่ที่ไม่เกิน 10 ปี ส่วนถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์อย่างเช่น ทองคำ จะมีระยะเวลาอยู่ที่ไม่เกิน 3 ปี แต่สามารถทำสัญญาขยายเวลาไถ่ถอนได้
การขายฝากนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการกู้เงินโดยใช้สินทรัพย์มาค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งการขายฝากนั้นก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ลองมาดูกันว่าข้อดี และข้อเสีย ของการขายฝากนั้นมีอะไรกันบ้าง
ข้อดีของการขายฝากนั้นจะได้รับวงเงินที่สูง และได้อย่างรวดเร็ว และสามารถไถ่ถอนออกได้ ซึ่งการไถ่ถอนทรัพย์ที่นำไปขายฝากไว้ ถ้าไม่สามารถไถ่ถอนได้ในระยะเวลาที่กำหนดสามารถขยายระยะเวลาของสัญญาได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข และการทำข้อตกลงกับผู้ที่รับขายฝากไว้
นอกจากนี้การขายฝากในกรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษจะต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย ทำให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่เป็นสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ที่มีมูลค่ามากกว่า 500 บาทขึ้นไป ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน และเมื่อมีการวางมัดจำ หรือมีการชำระหนี้บางส่วนไปแล้ว การขายฝากนั้นจะมีผลทางกฎหมายทันที
ในส่วนของผู้ที่รับขายฝากนั้นเมื่อผู้นำมาขายฝากไม่สามารถไถ่ถอนสินทรัพย์คืนได้ในระยะเวลาที่กำหนด สินทรัพย์นั้นๆ จะตกเป็นของผู้รับขายฝากโดยทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปฟ้องร้อง
ข้อเสียของการขายฝากที่ผู้ต้องการฝากนั้นควรยอมรับให้ได้คือมีค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สูงกว่าการกู้เงินรูปแบบอื่น เนื่องจากเป็นการให้กู้เงินอย่างรวดเร็วนั่นเอง โดยภาระของค่าธรรมเนียมทั้งหมดจะตกอยู่กับผู้ที่นำทรัพย์มาขายฝากนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นค่าจดทะเบียน ภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าอากร รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการขายฝากแต่ละปีที่จะมีการเรียกเก็บในอัตราที่ค่อนข้างแพง เมื่อนำมารวมกับดอกเบี้ย 15% ต่อปีแล้วนั้นจะเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
เหตุที่ค่าบริการต่างๆ ที่ผู้รับฝากนั้นคือในอัตราสูง เพราะว่าส่วนมากผู้รับขายฝากนั้นมีความประสงค์ต่อทรัพย์ซึ่งถูกนำมาขายฝากอยู่แล้ว เนื่องจากรับขายฝากมาในราคาที่เป็นราคาประเมิน แต่ถ้าผู้นำมาขายฝากไม่สามารถไถ่ถอนได้ตามที่สัญญากำหนดก็จะสามารถนำไปขายได้ในราคาที่สูงกว่าราคาประเมินนั่นเอง
ดอกเบี้ยในการขายกำหนดตามกฎหมายไว้ว่าไม่เกิน 15% ต่อปี โดยไม่นับรวมค่าบริการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการขายฝาก ซึ่งผู้นำสินทรัพย์มาขายฝากต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งสามารถคำนวณได้ดังนี้ ถ้านำทรัพย์สินมาขายฝากโดยมียอดเงินที่ 100,000 บาท มีระยะเวลาในสัญญาให้ไถ่ถอนภายใน 10 ปี ดอกเบี้ย 15% ต่อปี ค่าบริการอื่นๆ อย่างเช่นค่าดูแลทรัพย์สิน หรือค่าบริหารจัดการปีละ 1,200 บาท
ถ้าคิดตามนี้ยอดเงิน 100,000 บาท ผู้นำสินทรัพย์มาขายฝากจะต้องจ่ายดอกเบี้ยถึง 93,601 บาทตามระยะเวลาของสัญญา 10 ปี รวมกับค่าบริหารจัดการอีก 12,000 บาท ทำให้เมื่อครบสัญญาผู้นำสินทรัพย์มาขายฝากต้องจ่ายถึง 205,601 บาท หรือเดือนละประมาณ 1,714 นั่นเอง โดยการขายฝากส่วนมากผู้รับขายฝากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่ค่อยมีการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
การขายฝากอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ยังสามารถสร้างประโยชน์ หรือทำให้มีรายได้งอกเงยขึ้นมาได้นั้น ผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่อสังหาริมทรัพย์นั้นอยู่ระหว่างการขายฝากจะยังคงตกเป็นของผู้น้ำอสังหาริมทรัพย์นั้นมาขายฝาก ไม่ได้ตกเป็นของผู้รับขายฝากแต่อย่างใด
ยกตัวอย่างเช่น นาย A นำที่ดินซึ่งมีกิจการบ้านเช่ามาขายฝากไว้กับนาย B ค่าเช่าบ้านที่เกิดขึ้นนั้นจะยังคงตกเป็นของนาย A เหมือนเดิม โดยที่นาย B ไม่สามารถเข้ามายุ่งเกี่ยวได้ เมื่อนาย A นำเงินมาไถ่ถอนตามระยะเวลาที่กำหนดที่ดินนั้นก็ตกเป็นของนาย A โดยสมบูรณ์เหมือนเดิม ส่วนนาย B จะได้แค่ดอกเบี้ย
ถ้าเป็นบ้านพักอาศัย นาย A นำบ้านพักอาศัยไปขายฝากไว้กับนาย B ซึ่งกรรมสิทธิ์ของบ้านจะตกเป็นของนาย B ทันที แต่นาย A ยังสามารถพักอาศัยต่อไป และเมื่อครบกำหนดสามารถไถ่ถอนกลับมาได้บ้านก็กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย A เหมือนเดิม แต่ถ้านาย A ไม่สามารถไถ่ถอนได้ตามระยะเวลาที่กำหนด กรรมสิทธิ์ในบ้านจะตกเป็นของนาย B โดยสมบูรณ์ นาย B สามารถให้นาย A ย้ายออกได้ทันที หรือจะเปลี่ยนให้นาย A กลายเป็นผู้เช่าบ้านโดยจ่ายค่าเช่าให้นาย B ก็ได้
การขายฝากนั้นมีข้อห้ามบางประการที่ส่วนมากจะเป็นในส่วนของความรับผิดชอบในทรัพย์ที่นำมาขายฝากของผู้รับขายฝากนั่นเอง ซึ่งข้อห้ามในการขายฝากคือห้ามผู้รับฝากขายสินทรัพย์ที่นำมาขายฝากนั้นให้แก่ผู้ใดภายในระยะเวลาที่สัญญาการขายฝากนั้นยังคงมีผลอยู่ สรุปคือผู้รับขายฝากจะสามารถขายทรัพย์สินที่รับขายฝากไว้ได้จนกว่าจะครบสัญญาขายฝาก แล้วผู้นำมาขายฝากไม่สามารถมาไถ่ถอนออกไปได้นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น นาย A นำสร้อยทองที่มีมูลค่า 200,000 บาท มาขายฝากไว้กับนาย B เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท มีระยะเวลาในสัญญาขายฝาก 5 ปี และมีข้อตกลงกันไว้ว่าระหว่างการขายฝากห้ามจำหน่ายให้กับผู้ใด แต่นาย B กลับนำสร้อยทองนั้นไปขายต่อให้กับนาย C โดยที่นาย C ไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการขายฝาก ทำให้นาย A ไม่สามารถมาไถ่ถอนทรัพย์นั้นคืนได้
ในกรณีนี้นาย B ต้องชดใช้ให้นาย A เพิ่มเติม 100,000 บาท ตามมูลค่าจริงของทรัพย์สินโดยหักเงินที่ได้จากการขายฝากออกไป คือมูลค่าทรัพย์สิน 200,000 บาท ได้รับเงินไปแล้ว 100,000 บาทจากการขายฝาก ต้องได้ค่าชดเชยเพิ่มเติมอีก 100,000 บาท จึงจะครบมูลค่าจริงของทรัพย์สินที่ 200,000 บาทนั่นเอง
รายละเอียดของการขายฝากนั้นมีความใกล้เคียงกับรายละเอียดในสัญญาจำนองอยู่มาก โดยเฉพาะในเรื่องเอกสารต่างๆ ของคู่สัญญาทั้งสองฝั่ง แต่สัญญาทั้งสองประเภทนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้างดังนี้
รายละเอียดในทรัพย์ การขายฝากนั้นเป็นการใช้สินทรัพย์ที่มูลค่าทุกประเภทมาค้ำประกันการกู้เงินทำให้รายละเอียดของสินทรัพย์ที่ต้องใส่ลงไปในสัญญานั้นมีความแตกต่างกับการจำนอง เพราะว่าการจำนองนั้นส่วนมากจะเป็นเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการใส่รายละเอียดของสินทรัพย์ลงในสัญญานั้นต้องใส่ให้ละเอียด
ยกตัวอย่างเช่นการนำสร้อยคอทองคำมาขายฝาก ต้องระบุลงไปให้ชัดเจนว่าสร้อยคอทองคำนั้นมีน้ำหนักกี่บาท มีลักษณะอย่างไร มีความยาวเท่าไหร่ มูลค่าจริงตามราคาประเมินเท่าไหร่ รับขายฝากในราคาเท่าไหร่ เช่น สร้อยคอทองคำน้ำหนัก 5 บาท มีลักษณะเป็นลายโซ่ มีความยาว 30 เซนติเมตร ราคาประเมินอยู่ที่ 100,000 บาท รับขายฝากในราคา 70,000 บาท เป็นต้น
ส่วนการขายฝากที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ นั้นมีรายละเอียดเหมือนการจำนองทุกประการ คือต้องมีรายละเอียดในที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์นั้นให้ชัดเจน และการขายฝากอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษนั้นต้องทำสัญญากันต่อหน้าเจ้าพนักงานเท่านั้น และมีการลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าพนังงานอย่างครบถ้วน สัญญาการขายฝากอสังหาริมทรัพย์นั้นจึงจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์
ระยะเวลาในสัญญา เรื่องความแตกต่างของระยะเวลาในสัญญาการขายฝาก กับการจำนองนั้นค่อนข้างชัดเจน เพราะว่าสัญญาขายฝากในการทำสัญญาครั้งแรกนั้นสำหรับอสังหาริมทรัพย์จะมีระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี แต่สัญญาจำนองสามารถมีระยะเวลาของสัญญาที่ยาวกว่านั้นได้ ส่วนสัญญาขายฝากของสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ก็แล้วแต่จะตกลงกันโดยส่วนมากจะไม่ต่ำกว่า 1 ปี และไม่เกิน 10 ปีสำหรับการทำสัญญาครั้งแรก
การตกลงทำการขายฝากนั้นควรตรึกตรอง และตัดสินใจให้ดีก่อน เนื่องจากการขายฝากนั้นแม้จะได้เงินเร็ว และอาจจะได้เป็นเงินจำนวนมากตามที่ต้องการ แต่ต้องอย่าลืมว่าค่าใช้จ่ายในการขายฝาก รวมไปถึงดอกเบี้ยนั้นสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการกู้เงินประเภทอื่นๆ มากพอสมควร และยังมีช่องทางที่ผู้รับขายฝากจะเล่นไม่ซื่อได้อีกมาก ดังนั้นควรศึกษาเรื่องการขายฝากให้เข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจขายฝาก