ที่ดินที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยต้องมีเอกสารสิทธิ์ หรือเอกสารที่แสดงความเป็นเจ้าของ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโฉนดที่ดิน น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. เพื่อยืนยันสิทธิครอบครอง หรือเรียกว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ สทก. คือเอกสารอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นผู้มีสิทธิทำกินชั่วคราว
ในขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่อีกหลายแห่งที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่สามารถซื้อขายได้ ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องซื้อขายเพื่อครอบครองที่ดินประเภทนี้ เราควรศึกษาข้อมูล สัญญาซื้อขายที่ดินไม่มีโฉนด กับเรื่องที่ควรรู้ก่อนซื้อขายที่ดิน หาความรู้ให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ
ปัจจุบันมีที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือแสดงสิทธิ์อยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก อาจจะมาจากสาเหตุจากการตกสำรวจ หรืออาจจะอยู่ในระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการ และรวมถึงที่ดินที่ได้มาภายหลังการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ในการออกโฉนดที่ดินให้ได้ ทำให้ต้องรอขั้นตอนจากทางราชการ หรือเกิดจากการได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่ออกโฉนดที่ดินให้ไม่ได้ โดยออกเอกสารสิทธิ์อื่น ๆ ให้ใช้แทน ไม่ว่าจะกรณีใด ๆ ก็ต่างส่งผลให้ที่ดินที่เราอยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์ไม่มีโฉนดครอบครอง
เมื่อเรามีที่ดินอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าจะได้มาจากการได้รับสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือการซื้อขาย สิ่งแรกที่ต้องนึกถึงและดำเนินการทันทีก็คือ การยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน ซึ่งหากเป็นสิทธิครอบครองด้วยการทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อน จะมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น น.ส.4 โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง หรือหนังสือแสดงสิทธิครอบครองที่ดิน ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้น ๆ แต่ไม่ได้ระบุว่าบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน เช่น น.ส.3 ใบจอง สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการยื่นขอออกโฉนดโดยเร็ว ซึ่งต้องเตรียมการดังนี้
ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยื่นขอโฉนดได้หรือไม่ เช่น มีใบ ส.ค.1 ใบจอง ใบเหยียบย่ำ น.ค.3 ก.ส.น.5
ที่ดินไม่มีโฉนด ต้องตรวจสอบให้ดีว่ามีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองแบบใด หรือเป็นที่ดินไร้เอกสารสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกกันว่าที่ดินมือเปล่า เพราะหากที่ดินที่จะซื้อขาย ไม่มีความชัดเจนเรื่องเอกสารสิทธิ์ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่มาก เพราะแม้กระทั่งที่ดินที่มีโฉนดอยู่แล้ว ก็ยังต้องตรวจสอบให้ดีว่าโฉนดได้มาโดยถูกต้องหรือไม่เช่นกัน เพราะที่ดินนั้นอาจจะเป็นเขตอุทยาน เขตป่าสงวน เขตสาธารณประโยชน์ เขตปฏิรูป หรือเขตธรรมชาติที่บุคคลทั่วไปไม่มีสิทธิ์ครอบครองเป็นเจ้าของ
แต่การทำสัญญาซื้อขายที่ดินไม่มีโฉนดก็สามารถทำได้โดยการซื้อขายกันเอง ที่ไม่ได้มีกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่เป็นการทำสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 เป็นการสละเจตนาครอบครอง โอนเปลี่ยนมือ ทำหนังสือโอนขาย ชำระราคา ส่งมอบการครอบครอง เปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษีในใบเสียภาษีเป็นชื่อผู้ซื้อแทน แต่ก็เป็นเพียงสัญญาที่ใช้ยืนยันกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเท่านั้น ไม่สามารถใช้สัญญาซื้อขายที่ว่านี้ เป็นเอกสารยืนยันกับทางราชการได้
แม้ว่าจะมีการตกลงทำสัญญาซื้อขาย โดยผู้ขายมีเจตนาสละสิทธิ์ในการครอบครอง ให้ผู้ซื้อเข้าปกครองเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน แต่ก็ต้องมีข้อควรระวังก่อนซื้อขายที่ดิน ดังนี้
การทำสัญญาซื้อขายที่ดินไม่มีโฉนด ควรระบุเงื่อนไขให้ชัดเจน เช่น ผู้ขายประสงค์ขายที่ดินที่ตั้งอยู่ ณ ที่ใด หมู่บ้านใด ตำบลใด จำนวนเนื้อที่กี่ไร่ กี่งาน กี่ตารางวา และที่ดินแต่ละทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ติดกับเขตที่ดินของใครบ้างมีขนาดที่ดินเท่าไหร่ ควรระบุไว้ให้ชัดเจน
เพื่อรับรองว่าที่ดินที่ขายตามสัญญาซื้อขาย ปลอดภาระผูกพันหรือการรอนสิทธิไม่ว่ากรณีใด ภายหลังทำสัญญาซื้อขายที่ดินแล้ว ผู้ขายสัญญาว่าจะไม่ทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ที่ดินที่ขายนั้นเสื่อมประโยชน์ หรือเสื่อมราคาลง ถ้าผู้ขายไม่ปฏิบัติตามสัญญา จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกับผู้ซื้อ ผู้ขายยอมรับผิดและยินยอมชดใช้ค่าเสียหาย อันเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายแก่ผู้ซื้อ
เช่น ผู้ที่สามารถเป็นพยานได้ หรือเป็นเจ้าของที่ดินทุกคน ที่มีเขตที่ดินติดกันก็จะเป็นการดี
ก่อนทำสัญญาให้วัดเนื้อที่ทั้งหมดตามที่ตกลงกันในหนังสือสัญญาซื้อขาย ถ่ายรูปหลักฐานการส่งมอบ การโอนเงิน สลิป หรือใบสำคัญ โอนเงินผ่านธนาคารเก็บไว้ แจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงได้รับรู้
สัญญาซื้อขายที่ดินไม่มีโฉนด เป็นเพียงการเปลี่ยนผู้ถือครองที่ดิน เพื่อเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่นั้น ๆ ในลักษณะของการทำเกษตรกรรมหรืออื่น ๆ นอกจากการทำสัญญาแล้ว ผู้ถือครองควรจะต้องแสดงออกในการครอบครองที่ดินอย่างเป็นรูปธรรมด้วย เช่น ปักเขตแดน ทำรั้วกั้น ปลูกบ้าน ขอเลขที่บ้าน ขอไฟฟ้า ขอประปา เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการแสดงให้เห็นถึงสิทธิครอบครองที่ดินได้เป็นอย่างดี