Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

สิทธิเก็บกิน คืออะไร

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

สิทธิเก็บกิน เป็นหลักสิทธิทางกฎหมายอสังหาริมทรัพย์ ที่จะมีผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ตามมาตรา 1417  ถึง  มาตรา 1428 เมื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้จดทะเบียนมอบกรรมสิทธิ์สิทธิเก็บกินให้กับทายาทตามกฎหมายหรือผู้ใดผู้หนึ่งในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งหรือตลอดชีวิตของผู้ได้รับสิทธิ โดยผู้ที่ได้รับมอบสิทธิเก็บกิน จะมีสิทธิในการครอบครองเพื่อการทำมาหากิน อยู่อาศัย หรือเก็บผลประโยชน์จากที่ดินในรูปแบบต่าง ๆ ตามกฎหมาย เช่น การให้เช่าที่ดิน เป็นต้น

สิทธิเก็บกิน  มีแนวทางปฏิบัติตามคำสั่งที่  2/2501 ลงวันที่ 27  กุมภาพันธ์ 2501  เรื่อง  การจดทะเบียนประเภทสิทธิเก็บกิน โดยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการทำนิติกรรมสัญญา โดยทำเป็นหนังสือจดทะเบียนที่มีอายุความตามกรอบของระยะเวลาช่วงหนึ่ง ๆ ที่ระบุเอาไว้ในหนังสือหรือตลอดชีวิตของผู้ได้รับสิทธิต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งเมื่ออายุความของหนังสือสิทธิเก็บกินสิ้นสุดลง ผู้ได้รับมอบสิทธิเก็บกินจะต้องสิ่งมอบทรัพย์สินที่เป็นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์คือแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ และผู้ที่จะมอบสิทธิเก็บกินให้กับใครนั้น ผู้นั้นจะต้องเป็นเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามกฏหมายด้วย

1. ข้อดีของการจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน

ผู้ได้รับสิทธิเก็บกิน หรือ “ผู้ทรงสิทธิ” สามารถทำการปล่อยให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ ได้ เมื่อมีการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินแล้ว โดยสิทธิในการให้เช่าจะตกไปยังผู้ทรงสิทธิเก็บกินที่ระบุในหนังสือจดทะเบียน ดังนั้น การทำสัญญาเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ผู้เช่าจะต้องกระทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนการเช่ากับผู้ได้สิทธิเก็บกิน หรือ “ผู้ทรงสิทธิ” เท่านั้น โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินแต่อย่างใด

นอกจากนี้ การจดสิทธิเก็บกิจ ยังเอื้อประโยชน์ต่อการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ ซึ่งตามกฎหมายนั้นชาวต่างชาติจะถือครองที่ดินได้ก็ต่อเมื่อได้รับที่ดินหรือสังหาริมทรัพย์นั้นมาทางมรดก โดยจะถือครองได้ไม่เกิน 1 ไร่ หรือจะต้องมีการลงทุนเกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไป  ซึ่งหากชาวต่างชาติได้รับสิทธิเก็บกินก็จะได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ตามสิทธิเก็บกินนั้นได้ตลอดชีวิต

ข้อดี

2. ข้อเสียของการจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน

แม้ว่าผู้มีสิทธิเก็บกิน จะได้รับสิทธิในการปล่อยให้เช่า หรือเก็บผลประโยชน์จากที่ดิน แต่จะไม่สามารถทำการจัดจำหน่ายหรือซื้อขายที่ดินในผืนที่ได้รับมอบสิทธิได้ โดยสิทธิดังกล่าวนี้จะยังคงเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือที่ดินแต่เพียงผู้เดียว อีกทั้งผู้ได้รับสิทธิเก็บกินไม่สามารถที่จะทำพินัยกรรมยกที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับสิทธินั้นเป็นมรดกแก่ทายาทของตนได้ หากผู้ทรงสิทธิถึงแก่ความตายแล้ว สิทธิเก็บกินที่ได้รับก็จะถือเป็นโมฆะ และสิทธิครอบครองทั้งหมดในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นจะกลับคืนไปสู่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือทายาทของเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามเดิม

อนึ่ง ในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย อันเป็นสาเหตุที่ทำให้สิทธิเก็บกินในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ ต้องสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1418 ให้ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจดบันทึกถ้อยคำเจ้าของที่ดินตามแบบพิมพ์  ท.ด. 16  ถึงสาเหตุที่ทำให้สิทธิเก็บกินนั้นต้องสิ้นสุดลงไป โดยยื่นสำเนามรณบัตร หรือ คำสั่งศาล หรือ พยานหลักฐานอื่น ๆ ที่เชื่อถือได้ พร้อมรับรองว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินนั้น ๆ ได้เสียชีวิตหรือตายจริง  จึงสามารถจดทะเบียนเลิกสิทธิเก็บกินได้

ข้อเสีย

3. การจำแนกประเภทของการจดสิทธิเก็บกิน

การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินมีด้วยกันอยู่หลายประเภท หากแบ่งตามขอบเขตของอำนาจในสิทธิเก็บกิน จะมีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภท ดังนี้
1. สิทธิเก็บกิน หมายถึง การที่ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์หนึ่ง ๆ จะต้องตกอยู่ในขอบเขตการบังคับสิทธิเก็บกินทั้งหมด
2. สิทธิเก็บกินเฉพาะส่วน หมายถึง การที่เจ้าของร่วมคนใดคนหนึ่งในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์หนึ่ง ๆ ก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นเพียงเฉพาะบางส่วนหรือเฉพาะในส่วนของคนที่ก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินนั้นทั้งหมด
3. ปลอดสิทธิเก็บกิน หมายถึง  การที่ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์หนึ่ง ๆ ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว  ซึ่งต่อมาได้มีการแบ่งแยกที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นออกไป โดยคู่กรณีที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกได้ทำการตกลงกันให้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่แยกออกไปหรือในส่วนที่คงเหลือไม่มีสิทธิเก็บกินติดไปด้วย
4. ครอบสิทธิเก็บกิน  หมายถึง  การที่ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์หนึ่ง ๆ ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว  ซึ่งต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นออกไป โดยคู่กรณีที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกได้ทำการตกลงกันให้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่แยกออกไปนั้นยังคงมีสิทธิเก็บกินต่อไปได้
5. เลิกสิทธิเก็บกิน หมายถึง การที่ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์หนึ่ง ๆ ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ซึ่งต่อมาคู่กรณีที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกประสงค์จะเลิกสิทธิเก็บกินต่อกัน หรือผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย  และเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์มาขอจดทะเบียนเลิกสิทธิเก็บกินตามผลของกฎหมาย

สิทธิเก็บกิน หากจำแนกตามลักษณะการจ่ายค่าธรรมเนียม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. แบบไม่มีค่าตอบแทน  เป็นการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินประเภทไม่มีทุนทรัพย์  ตามกฎกระทรวง ฉบับที่  47 (พ.ศ. 2541) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497  ข้อ 2 (7) (ฑ)  โดยจะมีค่าธรรมเนียมที่ดินแปลงละ 50 บาท 
2. แบบมีค่าตอบแทน เป็นการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินประเภทมีทุนทรัพย์ โดยให้ถือเอาค่าตอบแทนที่คู่กรณีตกลงชำระให้แก่กันเป็นราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บเป็นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในอัตราร้อยละ 1 ตามข้อตกลงของคณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์  ตามนัยกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2541) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 2 (7)  (ฏ)

ทั้งนี้ การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินโดยมีค่าตอบแทน  พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์จากจำนวนค่าตอบแทน  ตามประมวลรัษฎากร  ตามลักษณะตราสาร  28.(ข)  ใบรับแห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (ตามหนังสือกรมสรรพากร  ด่วนมาก  ที่  กค 0811/09884 ลงวันที่ 29  มิถุนายน  2541 ซึ่งกรมที่ดินได้แจ้งให้ทราบและถือปฏิบัติตามหนังสือกรมที่ดิน  ที่ มท 0710/ว 24417 ลงวันที่ 11  กันยายน  2541)

จำแนกประเภท

4. เอกสารประกอบการจดทะเบียน

การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินมีเอกสารประกอบการจดทะเบียนที่ต้องใช้ ดังนี้
1. โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
2. บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนาที่ลงนามเรียบร้อยแล้ว
3. ใบเปลี่ยนชื่อตัว-นามสกุล (ถ้ามี)
4. สำเนาทะเบียนบ้านพร้อมสำเนาที่ลงนามเรียบร้อยแล้ว
5. ทะเบียนสมรสหรือทะเบียนหย่า (ถ้ามี)
6. กรณีมีคู่สมรสจะต้องมีหนังสือยินยอมทำนิติกรรมของคู่สมรส โดยแนบมาพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่ลงนามเรียบร้อยแล้ว

เอกสารประกอบ

5. ขั้นตอนการจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน

การจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน มีขั้นตอนการจดทะเบียนที่ไม่ยุ่งยาก ดังนี้
1. ยื่นเอกสารจดทะเบียนทั้งหมด ณ สำนักงานที่ดินในเขตรับผิดชอบที่ที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่
2. กรอกรายละเอียดในเอกสารคำขอที่ช่องบริการพร้อมลงลายมือชื่อให้เรียบร้อย
3. ในกรณีที่จดทะเบียนสิทธิเก็บกินแบบมีค่าตอบแทน จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม จำนวน 100 บาทต่อคำขอ พร้อมรับใบเสร็จ หรือในกรณีที่จดทะเบียนสิทธิเก็บกินแบบไม่มีค่าตอบแทนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม จำนวน50 บาทต่อคำขอ พร้อมรับใบเสร็จ
4. นำใบเสร็จรับเงินยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ช่องบริการ จากนั้นรอกระบวนการดำเนินการที่จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
5. รับเอกสารทั้งหมดคืน พร้อมตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร โดยพลิกด้านหลังเอกสารดูว่าได้ระบุชื่อผู้ได้รับสิทธิเก็บกิน หรือ “ผู้ทรงสิทธิ” เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ และตรวจสอบวันที่ที่ระบุการเริ่มต้นได้รับสิทธิเก็บกิน ตลอดจนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน และขนาดของที่ดิน
ขั้นตอนการจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน เป็นอีกหนึ่งการมอบสิทธิ การให้อำนาจถือครองและการใช้ประโยชน์จากที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยที่สิทธิอำนาจในการขาย การเปลี่ยนแปลงใด ๆ  หรือการยกเป็นมรดกในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นจะยังคงเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยชอบธรรม  ซึ่งผู้ได้สิทธิเก็บกิน จะมีอำนาจเพียงเพื่อการเข้าอยู่อาศัย  การใช้ประโยชน์ หรือเก็บดอกผลที่เกิดจากการลงทุนหรือดำเนินกิจการในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้สิทธิเก็บกินเพียงเท่านั้น นอกจากนี้ชาวต่างชาติที่ได้รับสิทธิเก็บกินก็ไม่สามารถที่จะประกอบกิจการหรือทำธุรกิจใด ๆ ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ตนเองได้รับสิทธิเก็บกินได้

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร