Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ค่าธรรมเนียมกู้ธนาคารสร้างบ้านรู้ไว้ ก่อนตัดสินใจกู้

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การกู้ธนาคารสร้างบ้านนั้น นอกจากวงเงินสินเชื่อและดอกเบี้ยที่เราจะต้องนำมาคำนวณแล้ว ค่าใช้จ่ายหนึ่งที่หลายคนชอบหลงลืมไปว่าย่อมจะมาพร้อมกับการยื่นกู้สินเชื่อสร้างบ้านเสมอ นั้นก็คือเหล่าค่าธรรมเนียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าประเมินหลักราคาหลักประกัน ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่าจดจำนอง ค่าอากรสแตมป์ หรือแม้กระทั้งค่าปรับต่างๆ เป็นต้น มาดูกันครับว่าค่าธรรมเนียมกู้ธนาคารสร้างบ้านนั้นมีอะไรบ้าง ที่เราจะต้องจ่ายให้กับธนาคาร

1. ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้

ค่าธรรมเนียมแรกที่เราจะต้องจ่ายในการกู้ธนาคารสร้างบ้านก็คือค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ซึ่งจะเป็นค่าธรรมเนียมที่ทางธนาคารหรือทางสถาบันทางการเงินเรียกเก็บ เพื่อเป็นค่าดำเนินการขอสินเชื่อให้กับผู้ขอกู้ครับ ซึ่งค่าใช้จ่ายนั้นแต่ละธนาคารจะเก็บไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับวงเงินและแต่ละธนาคาร รวมถึงบางธนาคารก็มีการยกเว้นให้ด้วยนะครับ

2. ค่าประเมินราคาหลักประกัน

ค่าการประเมินราคาหลักประกันนี้ เป็นค่าใช้จ่ายในการกู้ธนาคารสร้างบ้านที่ธนาคารจะคิดเป็นการสำรวจและประเมินราคาบ้านหรือที่ดิน เพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อที่เราขอครับ ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้จะขึ้นอยู่กับประเภทของที่อยู่อาศัย พื้นที่ของที่อยู่อาศัย รวมถึงอาจมีค่าพาหนะด้วยหากที่อยู่อาศัยหรือที่ดินอยู่นอกพื้นที่ที่กำหนดครับ  เช่นตัวอย่างค่าประเมินราคาหลักประกันของธนาคารอาคารสงเคราะห์ จะมีดังนี้

  • วงเงินขอกู้ไม่เกิน 500,000.- ค่าธรรมเนียม 1,900.- / แห่ง
  • วงเงินขอกู้ 500,001-3,000,000.- ค่าธรรมเนียม 2,800.- / แห่ง
  • วงเงินขอกู้เกิน 3,000,000.- ค่าธรรมเนียม 3,100.- / แห่ง

ทั้งนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือเงื่อนไขตามที่ธนาคารกำหนดด้วยนะครับ

3. ค่าตรวจงวดงานก่อสร้าง

สำหรับสินเชื่อสร้างบ้านนั้น อีกค่าใช้จ่ายหนึ่งที่จะต้องจ่ายด้วยก็คือค่าตรวจงวดงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่เรายื่นกู้ธนาคารสร้างบ้าน ซึ่งแต่ละธนาคารมักจะคิดเป็นครั้งๆ ไป ในการตรวจงวดงานก่อสร้างครับ เช่น 1,100 บาทต่อครั้ง (ไม่รวม VAT) เป็นต้น

4. ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นค่าใช้จ่ายที่กำหนดขึ้นมาตามกฎหมาย โดยกำหนดให้เรียกเก็บ 2% ของราคาซื้อขายที่คู่สัญญาแจ้ง เว้นแต่ราคาซื้อขายที่แจ้งต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน ก็จะเรียกเก็บตามราคาประเมินของกรมที่ดินเป็นหลัก วึ่งโดยปกติธนาคารจะคิดเป็นแบบเหมาจ่าย โดยเป็นค่าธรรมเนียม 1,000 บาท / ราย ทั้งนี้ทั้งนั้นแนะนำว่าให้สอบถามกับธนาคารอีกครั้งนะครับว่าต้องเสียเท่าไรบ้าง เพราะในบางครั้ง บางปีอาจมีมาตรการรัฐช่วยลดค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วย

5. ค่าจดจำนอง

ค่าจดจำนอง เป็นอีกค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียเมื่อกู้ธนาคารสร้างบ้าน โดยเป็นค่าธรรมเนียมที่จะจ่ายที่สำนักงานที่ดินหรือกรมที่ดิน โดยปกติแล้วกฎหมายกำหนดว่า ค่าธรรมเนียมจดจำนองร้อยละ 1 ของวงเงินกู้หรือมูลค่าการจดจำนอง เเต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ทั้งนั้นแนะนำว่าให้สอบถามกับธนาคารอีกครั้งนะครับว่าต้องเสียเท่าไรบ้าง เพราะในบางครั้ง บางปีอาจมีมาตรการรัฐช่วยลดค่าจดจำนองด้วย

6. ค่าโอนกรรมสิทธิ์

ค่าโอนกรรมสิทธิ์ เป็นอีกค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียเมื่อกู้ธนาคารสร้างบ้าน โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนี่ยมร้อยละ 2.5 ของราคาประเมิน หรือราคาซื้อขาย โดยใช้ราคาที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์ ทั้งนี้ทั้งนั้นแนะนำว่าให้สอบถามกับธนาคารอีกครั้งนะครับว่าต้องเสียเท่าไรบ้าง เพราะในบางครั้ง บางปีอาจมีมาตรการรัฐช่วยลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ด้วย 

7. ค่าอากรแสตมป์

ค่าอากรสแตมป์ เป็นอีกค่าใช้จ่ายเมื่อต้องมียื่นกู้ซื้อขายบ้านหรือกู้ธนาคารสร้างบ้าน โดยเป็นเงินส่วนที่จ่ายให้แก่รัฐบาลตามกฎหมายเมื่อมีการกู้เงิน อย่างธนาคารไทยพาณิชย์กำหนดไว้ว่าผู้ที่กู้ธนาคารสร้างบ้านจะต้องจ่ายค่าอาการสแตมป์ในอัตรา 0.05% ของวงเงินสินเชื่อ แต่ไม่เกิน 10,000 บาทครับ

8. ค่าประกันอัคคีภัย

สำหรับค่าประกันอัคคีภัยนั้น เป็นค่าใช้จ่ายที่มักผูกมากับตัวสินเชื่อนั้นๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีเกิดไฟไหม้ ซึ่งธนาคารจะเป็นคนกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องจ่ายเท่าไรบ้าง และในบางครั้งงอาจมีค่าทำประกันชีวิตเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มด้วย เพื่อให้ผู้ที่ทำประกันจะได้รับความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพในช่วงเวลาที่เอาประกัน โดยบริษัทผู้ประกันจะจ่ายคืนเงินกู้ในส่วนที่เหลือให้กับธนาคารเเทนผู้กู้ ทำให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้กู้หรือทายาทต่อไป ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มักขึ้นอยู่กับตัวสินเชื่อที่เราสมัครไปครับว่าธนาคารมีข้อกำหนดเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

9. ค่าเบี้ยปรับกรณีปิดภาระหนี้ก่อนกำหนด

นอกจากนี้ใครที่กู้ธนาคารสร้างบ้าน เมื่อกู้ไปครบ 3 ปี แล้วต้องการที่รีไฟแนนซ์หรือรีเทนชั่น จะต้องมีค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนด หรือ Prepayment Penalty ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินจัดเก็บกับผู้กู้ในกรณีที่มีการไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนด โดยเฉพาะหากมีการชำระหนี้ทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีเเละไถ่ถอนจำนองหลักทรัพย์ออกไปภายในระยะเวลา 3 ปีเเรกของการกู้เงิน ซึ่งแต่ละธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมแตกต่างกันไป เช่น อาจคิดเป็น 3% ของจำนวนเงินต้นที่ชำระเกินกว่าเงื่อนไข เป็นต้นครับ

10. ค่าธรรมเนียมการชำระล่าช้า และค่าติดตามถามทวงหนี้

หากใครที่จ่ายเงินค่างวดไม่ตรงเวลา โดยจ่ายช้ากว่ากำหนด นอกจากเงินค่างวดและดอกเบี้ยแล้ว เราจะต้องจ่าย ค่าธรรมเนียมการชำระล่าช้าด้วยนะครับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วธนาคารหรือสถาบันการเงินจะคิดค่าธรรมเนียมในการชำระล่าช้าเป็นเปอเซ็นต์จากยอดเงินกู้ที่คงเหลืออยู่ครับ แต่หากใครที่ไม่มี ไม่หนี และไม่จ่าย ไม่เพียงแต่จ่ายช้า แต่มีเจตนาไม่จ่าย จนธนาคารจะต้องติดตามถามทวงหนี้นั้น จะต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วยนะครับ ฉะนั้นการจ่ายตรงเวลาจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดครับ

นี่คือ 10 ค่าธรรมเนียมกู้ธนาคารสร้างบ้าน ที่ผู้กู้ควรจะเตรียมตัวเตรียมใจว่าอาจจะต้องรับภาระเหล่านี้ ฉะนั้นก่อนจะยื่นกู้ธนาคารสร้างบ้านควรสอบถามกับทางธนาคารให้แน่ชัดว่ามีค่าใช้จ่ายในส่วนไหนบ้าง และเท่าไรบ้าง เพราะธนาคารแต่ละแห่ง แต่ละสินเชื่อมีค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมที่ต่างกันครับ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร