ยุคนี้มลพิษปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบกายไปแทบจะทุกอณูเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองในอากาศ น้ำ ข้าวของเครื่องใช้ และอื่นๆ อีกมากมาย การจะกินอะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก โดยเฉพาะอาหารต้องคัดเลือกให้ดีเป็นพิเศษ จะดีกว่าไหม? ถ้าหากคุณสามารถปลูกผักสวนครัวไว้กินเองได้เพิ่มความมั่นใจ ปลอดภัยทุกคำที่กัด แต่ก่อนจะปลูกพืชผักไว้กินเองนั้นต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
ใครก็ตามที่มีความมุ่งมั่นที่คิดจะปลูกพืชสวนครัวไว้กินเองแล้ว อันดับแรกคุณควรจะหาสถานที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชสวนครัวก่อน โดยสถานที่นั้นควรจะเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำใกล้ ๆ และไม่ไกลจากตัวบ้าน เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บผลผลิต และการดูแลรักษา ซึ่งสถานที่ที่เราอยากจะแนะนำ เช่น แปลงหลังบ้าน บริเวณหน้าบ้าน หรือบริเวณริมรั้ว เป็นต้น
หลังจากที่จัดหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกผักได้แล้ว ขั้นตอนถัดมา คือการเลือกชนิดของพืชที่ต้องการจะปลูก โดยชนิดของพืชที่จะเลือกปลูกนั้นควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับฤดูกาล สภาพแวดล้อม และสภาพอากาศด้วย เช่น ถ้าหากคุณต้องการปลูกพืชในฤดูหนาวก็ควรที่จะปลูกผักกาดหอม มะเขือเทศ คะน้า ถ้าต้องการปลูกพืชในฤดูร้อนก็ควรที่จะปลูกฟักทอง บวบ ฟัก หรือถ้าหากคุณต้องการปลูกพืชที่สามารถปลูกได้ในทุก ๆ ฤดูกาลก็ควรเลือกปลูกพริก ข่า โหระพา เป็นต้น
เมื่อมีสถานที่แล้ว ได้ชนิดของพืชที่ต้องการปลูกแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือควรที่จะศึกษาบรรดาศัตรูของพืชต่าง ๆ เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายจากศัตรูพืชเหล่านั้น ดั่งสำนวนสุภาษิตที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ซึ่งศัตรูของพืชก็จะถูกแบ่งแยกออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้
3.1 โรคพืช
พืชเองก็เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับคน ดังนั้นพืชเองก็สามารถมีโรคร้ายมาขัดขวางการเจริญเติบโตหรือทำให้พืชมีลักษณะที่ผิดแปลกไปจากเดิมได้ เช่น โรคใบหงิก โรคใบจุด โรคใบด่าง โรครากเน่า ซึ่งโรคเหล่านี้มักจะพบบ่อยถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ดี ซึ่งวิธีการแก้ไขก็ง่ายมาก เพียงคุณตัดส่วนที่เป็นโรคทิ้ง และหมั่นดูแลความสะอาดแปลงอย่างสม่ำเสมอเท่านั้นเอง
3.2 วัชพืช
ถ้าหากพูดให้เห็นภาพชัด ๆ ว่าวัชพืชในที่นี้หมายถึงอะไร ให้นึกถึงกาฝาก เพราะวัชพืชคือพืชชนิดอื่นที่คอยแย่งน้ำ แย่งอาหารภายในแปลงผักของเราที่ปลูกไว้ ส่งผลให้ผักที่เราปลูกนั้นไม่เจริญเติบโต ซึ่งวิธีป้องกันที่นิยมอย่างแพร่หลายคือ การใช้สารเคมีฉีดบริเวณโคนต้นวัชพืช แต่หากจะใช้วิธีนี้ก็ควรศึกษาวิธีใช้ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันการสะสมของสารพิษในตัวพืชสวนครัวที่เราต้องการปลูก
3.3 สัตว์ศัตรูพืช
สัตว์พวกนี้มักจะชอบสร้างความเสียหายให้กับพืชผักสวนครัวที่จะปลูก โดยการกัดกินผลผลิต หรือทำลายส่วนต่าง ๆ ของพืช โดยเฉพาะ นก ปูนา หอยทาก ค้างคาว หนู วิธีแก้ไขที่เป็นมิตรต่อพืชคือ การใช้กับดัก หรือหุ่นไล่กา
3.4 แมลงศัตรูพืช
แมลงตัวเล็ก ๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งในสัตว์ศัตรูพืชเช่นเดียวกัน เนื่องจากสร้างความเสียหายให้กับผัก และบางครั้งอาจมากกว่าสัตว์เสียด้วยซ้ำ แต่วิธีการกำจัดนั้นต่างจากสัตว์ศัตรูพืชเลย ซึ่งวิธีแก้ไขที่เป็นมิตรกับผักก็คือ การใช้สารสกัดจากสมุนไพรมาฉีดพ่น เช่น กระเทียม สะเดา ตะไคร้หอม เป็นต้น
การปลูกผักสวนครัวนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่คุณต้องศึกษาขั้นตอนการปลูกให้ดีเสียก่อน และในยุค New Normal เช่นนี้ การปลูกพืชไว้สำหรับรับประทานในครัวเรือน นอกจากจะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าแล้ว ยังสามารถเพิ่มความมั่นใจในทุกมื้ออาหาร แข็งแรง ปลอดภัย ห่างไกลโรค