พักใหญ่ๆมานี้ ในหมู่คนเมืองมีเทรนด์ของการที่อยากจะใช้ชีวิตให้ช้าลง (Slow Life) รวมถึงอยากจะมีเวลาให้กับตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นภาพที่สะท้อนความต้องการของคนเมืองทั่วโลกไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ในภาคธุรกิจบริษัทในประเทศอเมริกาและยุโรปหลายแห่งรับรู้ถึงความต้องการนี้ของพนักงาน และเริ่มมีนโยบายในการลดเวลาทำงานของพนักงานลง บริษัทอย่าง 37signals และ Treehouse มีนโยบายให้พนักงานทำงานแค่สี่วัน ส่วน Google ก็มีนโยบายที่จะให้พนักงานทำงานน้อยลงด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้น บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นอย่าง Fujitsu ก็สนับสนุนให้มีการให้ทำงานนอกสำนักงาน (Teleworking) อย่างเต็มรูปแบบเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นกระแสที่จะลดความเร่งรีบในเมืองที่สอดคล้องกับแนวคิดสโลว์ซิตี้
สโลว์ซิตี้ (Slow City) เป็นกระแสที่ริเริ่มขึ้นในปี 1999 โดยคาร์โล เพทรีนี นักข่าวและนักเคลื่อนไหวชาวอิตาเลียน ผู้มีประสบการณ์เคลื่อนไหวในกระแสสโลว์ฟู้ด (Slow Food) โดยเพทรีนีได้รับความสนใจมากที่สุดในช่วงที่มีการประท้วงการเปิดสาขาของแมคโดนัลด์ที่บันไดสเปนซึ่งเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ในกรุงโรม เขาอธิบายว่าหากอนุญาตให้ร้านฟาสต์ฟู้ดเปิดตัวในสถานที่สำคัญของอิตาลีเช่นนี่ เท่ากับว่าชาวอิตาลีได้เปิดให้อาหารจานด่วนเข้ามาทำลายอารยธรรมทางอาหารของประเทศไปด้วย ต่อมาการเคลื่อนไหวของกลุ่มสโลว์ฟู้ดได้ขยายผลในวงกว้างขึ้น เช่นการอยู่ให้ช้าลง (Slow Living) และท่องเที่ยวให้ช้าลง (Slow Travel) สำหรับสโลว์ซิตี้ เพทรีนีได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า “เราทุกคนถูกครอบงำด้วยชีวิตที่รีบเร่ง ความรีบเร่งนี้แทรกซึมไปทุกที่และทำให้เราเร่งรีบในทุกอิริยาบถ ในที่สุด นี่เป็นสิ่งที่กดดันให้เรากินอาหารจานด่วน” (Travel and Leisure)
ในปัจจุบันมีเมืองเข้าร่วมจดทะเบียนเป็นสโลว์ซิตี้ถึง 223 เมืองใน 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในการเงื่อนไขสำคัญสำหรับการจดทะเบียนดังกล่าว มีอยู่สองประการ ได้แก่ การลดการเดินทางด้วยยานพาหนะที่มีเครื่องยนต์เพื่อคงความสงบและเนิบนาบในเมืองเอาไว้ และการสนับสนุนอาหารเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์หัตถกรรมต่างๆที่เป็นเอกลักษณ์ของเมือง นอกจากนั้นแล้ว เมืองที่จดทะเบียนเป็นสโลว์ซิตี้จะต้อง
แนวคิดสโลว์ซิตี้นั้นมีความย้อนแย้งกันเองอยู่ในตัว ในขณะที่เมืองเหล่านั้นต้องการที่จะคงความเนิบช้าและเอกลักษณ์ต่างๆของเมืองเอาไว้ การสร้างตัวตนของเมืองขึ้นมาเป็นสโลว์ซิตี้ก็ทำให้ผู้คนและนักเดินทางอยากเข้าไปสัมผัสเมืองนั้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเพิ่มคนและความรวดเร็ว ความคับคั่งให้แก่เมืองไปโดยปริยาย
เมืองใหญ่จะช้าลงได้อย่างไร?
ถึงแม้การจดทะเบียนเป็นสโลว์ซิตี้จะถูกสงวนไว้สำหรับเมืองขนาดเล็ก แต่ก็มีความพยายามที่จะแพร่ขยายแนวคิดสโลว์ไลฟ์สำหรับการใช้ชีวิตของผู้คนในมหานครเช่นกัน วิลเลี่ยม พาวเวอร์ส นักวิชาการอาวุโสของ The World Policy Institute เป็นคนหนึ่งที่ท้าทายตนเองให้ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ในมหานครนิวยอร์กมาหลายปีและเป็นผู้เขียนหนังสือ New Slow City ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารฟอร์บส์ไว้ว่า “ความช้าที่เขาพูดถึงไม่ใช่การกลับไปใช้ชีวิตแบบโบราณ เพราะความช้าแบบร่วมสมัยนี้ใช้ประโยชน์จากความรวดเร็วของเทคโนโลยี เป็นการเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีให้เป็นเครื่องมือของเรา และไม่ตกเป็นทาสเครื่องมือเหล่านี้ หากทำได้เช่นนี้เราจะสามารถมีเวลาเพิ่มขึ้นอีกหลายชั่วโมง เราต้องหัดที่จะให้ค่าตอบแทนตัวเองด้วยเวลาแทนเงิน... ท้ายที่สุดแล้ว เราสามารถแข็งขันกับชาวโลกได้ด้วยการใช้ชีวิตและทำงานอย่างชาญฉลาดขึ้น ไม่ใช่การใช้ชีวิตที่เร็วขึ้น”
วิลเลียมยังได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโลว์ไลฟ์เป็นไปได้ในมหานครนิวยอร์กว่า ระบบขนส่งมวลชนและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีทำให้เขาไม่ต้องเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวมามากกว่า 10 ปี ทำให้เขาสามารถประหยัดเวลาในการเดินทางได้ นอกจากนั้นแล้วสวนสาธารณะต่างๆ ของเมืองอาทิ Central Park ก็เป็นพื้นที่สำคัญที่สามารถสะกดให้ผู้คนในเมืองใหญ่ลืมเวลาและความเร่งรีบของพวกเขาไปได้
หากมองย้อนมาที่กรุงเทพมหานคร การที่เมืองใหญ่แห่งนี้จะเป็นสโลว์ซิตี้หรือสนับสนุนให้ผู้คนดำเนินชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายแต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเราพิจารณาปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตที่ช้าลงจากตัวอย่างของมหานครนิวยอร์กจะพบว่า เรายังขาดทั้งระบบขนส่งมวลชนที่ดี และยังขาดพื้นที่สาธารณะระดับต่างๆ ภายในเมือง จึงไม่แปลกเลยที่คนกรุงเทพฯ จะรู้สึกว่า หากต้องการหลบหนีความวุ่นวายของเมืองหรือหาความสงบให้กับตนเอง พวกเขาจะต้องไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในชนบทที่ห่างไกล
การทางสร้างทางเลือกสำหรับชีวิตที่ช้าลงในเมืองนั้นอาจเริ่มจากการพิจารณาสนับสนุนทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย จากข้อเท็จจริงที่ว่าคนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในรถยนต์ถึง 1 เดือนกับ 3 วันต่อปีโดยเฉลี่ย ทำให้ไม่สามารถสร้างรายได้หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆได้ ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียเงินถึง 11,000 ล้านบาทต่อปี หรือ 60 ล้านบาทต่อวัน ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จึงได้ดำเนินโครงการ GoodWalk (www.goodwalk.org) เพื่อเสนอแนวทางสำหรับการส่งเสริมการเดินเท้าในกรุงเทพมหานคร โดยเน้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เมืองเดินได้เมืองเดินดีให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้สามารถเป็นทางเลือกใหม่ๆ ในการสัญจรได้ ซึ่งการเดินนั้นเป็นประเด็นที่ต้องร่วมพิจารณาไปพร้อมๆ กับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเอื้อให้เกิดความเป็นไปได้ของการใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ดังที่กล่าวมา
ชีวิตในเมือง (Slow Life) ควรมีทางเลือกที่หลากหลาย เพราะที่จริงแล้วเมืองควรเป็นศูนย์รวมของทางเลือก ทางเลือกในการใช้ชีวิตเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตที่ดีของคนที่อยู่อาศัยในเมืองได้ประการหนึ่ง เมืองที่ถูกออกแบบมาอย่างดีและมีนโยบายสนับสนุนความหลากหลายในการใช้ชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ หากแต่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอย่างมียุทธศาสตร์เท่านั้น
เขียนโดย: แซมสุดา เข้มงวด
Urban Journalist รุ่นใหม่ ผู้สนใจความเกี่ยวเนื่องระหว่าง คน เมือง ชนบท และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักวิจัยและสร้างสรรค์ความรู้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง [UddC] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“Urban Knowledge by UddC”
สามารถดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่นี่
ขอบคุณภาพประกอบจาก: yesmagayesmagazine.org, villaoliviero.it, lowkee.com, gotravelaz.com, nycgo.com, goodwalk.org, npr.org
บทความที่เกี่ยวข้อง: